สปสช. ชงคลินิกชุมชน เบิก “ยาฟาวิพิราเวียร์” ดูแลผู้ติดเชื้อที่บ้าน – ชุมชนได้

เปรียบเทียบกับภาวะสงคราม อะไรเป็นข้อจำกัดต่อการรักษาผู้ป่วย ต้องเร่งปลดล็อก แพทย์เฉพาะทางโรคระบบทางเดินหายใจ ชี้ “ยาฟาวิพิราเวียร์” ต้องให้ตั้งแต่เริ่มมีอาการ หากช้าไปไม่ได้ผล

“อยากให้ สปสช. ดำเนินเรื่องให้กับผู้ป่วยที่เขามาขอความความช่วยเหลือว่าจะต้องรักษายังไง คนที่อาการหนักกว่าผม เขาอาจจะต้องการความช่วยเหลือที่มากกว่าผม”

เสียงสะท้อนจากผู้ที่เข้ารับการรักษา โควิด-19 แบบดูแลตัวเองที่บ้าน (Home isolation) ถึง ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ระหว่างตรวจเยี่ยม “รามอินทราเฮลท์สหคลินิก” 1 ในคลินิกชุมชนอบอุ่น ที่เข้าร่วมระบบ Home Isolation เขตคันนายาว กทม.

จากศักยภาพของคลินิก ที่นี่มีแพทย์ 3 คน สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 100 คน คอยวิดีโอคอล หรือโทรสอบถามอาการ ส่งอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็น เช่น หน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ล้างมือ ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว อาหาร 3 มื้อ ยาฟาวิพิราเวียร์กรณีที่เริ่มมีอาการ และหากอาการทรุดลง โรงพยาบาลนพรัตน์ราชธานี ที่เป็นแม่ข่าย จะรับตัวไปดูแลทันที แต่ด้วยข้อจำกัด ทำให้คลินิกแห่งนี้ดูแลได้เพียง 13 คน เท่านั้น

ทนพ. นันทศักดิ์ สุขแก้ว ที่ปรึกษารามอินทราเฮลท์คลินิก

ทนพ.นันทศักดิ์ สุขแก้ว ที่ปรึกษารามอินทราเฮลท์คลินิก ระบุว่าตัวเองเป็นคลินิกชุมชนอบอุ่นตามนโยบายของ สปสช. อยู่แล้ว เมื่อมีโครงการจับคู่กับชุมชน จึงตัดสินใจเข้าร่วมทันทีตั้งแต่ 12 ก.ค.ที่ผ่านมา เนื่องจากเคยทำงานเชิงรุกในชุมชน และพบว่าผู้ป่วยที่อยู่ในกลุ่มสีเขียว สามารถรักษาตัวเองอยู่ที่บ้านได้ หากได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม

ปัจจุบัน กรุงเทพฯ มีคลินิกชุมชนอบอุ่นกระจายอยู่ 210 แห่ง แต่มี 159 แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการ เนื่องจากต้องมีศักยภาพในการดูผู้ป่วย และได้รับการยินยอมจากชุมชน แต่สิ่งที่สำคัญและหลายคลินิกกังวลอยู่ในเวลานี้ ทนพ..นันทศักดิ์ ยอมรับว่า เกิดจากความไม่ชัดเจนในการเบิกจ่ายกับ สปสช. เนื่องจากอุปกรณ์ทางการแพทย์หลายรายการขึ้นราคา มากกว่างบรายหัวที่ สปสช. กำหนดไว้ ขณะที่เคสผู้ป่วยมีเข้ามาทุกวัน

แต่สิ่งที่เป็นห่วงมากที่สุด และอาจทำให้ระบบ Home isolation ล่มสลาย คือ การจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ที่ล่าช้า จนผู้ป่วยเปลี่ยนจากสีเขียว เป็นสีเหลือง-แดง เสียชีวิตอยู่ที่บ้าน

“เรามีการคุยกันในกลุ่ม ทราบว่าเวลานี้หลายคลินิกพูดคุยถึงการที่จะถอนตัวจากระบบนี้ เพราะยาที่จำเป็นอย่าง ฟาวิพิราเวียร์ เราต้องเบิกจาก รพ.แม่ข่าย ซึ่งต้องใช้ดูแลผู้ป่วยหนัก กว่าจะถึงเราก็ 1-2 สัปดาห์ เราไม่อยากเห็นคนไข้ของเราป่วยสีแดงอยู่กับบ้านทั้งที่เขาเข้าถึงบริการได้แล้ว แต่ถ้าเรามีสำรองไว้เองอย่างน้อย 20% ก็จะช่วยคนได้อีกมาก”

ก่อนหน้านี้ พล.อ.ต. นพ.อิทธพร คณะเจริญ เลขาธิการแพทยสภา ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว ระบุถึง การจะให้ผู้ติดเชื้อกักตัวอยู้ที่บ้าน ถ้ามีอาการเข้าข่ายข้อบ่งชี้ จะต้องส่งยาให้ทัน เพราะการได้ยาช้าจะทำให้ผู้ป่วยอาการหนักเข้าโรงพยาบาล และเสียชีวิตมากขึ้น เพราะข้อเท็จจริงอันหนึ่งก็คือได้ยาช้า กว่าจะเข้า รพ.ได้ ต้องใช้เวลาหลายวัน

ขณะที่ นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ แพทย์เฉพาะทางด้านโรคระบบการหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ก็ออกมาเผยผลข้างเคียงข้าง “ยาฟาวิพิราเวียร์” ด้วยเช่นกัน ระบุว่า จะไม่ช่วยลดการเสียชีวิต ต้องให้ตั้งแต่เริ่มมีอาการในคนป่วยที่มีความรุนแรงน้อยหรือปานกลาง ให้ช้าไปไม่ได้ผล

แต่ความรุนแรงของสายพันธุ์เดลตา ทำให้กรมการแพทย์ ปรับแนวการดูแลที่บ้านเมื่อ 21 ก.ค. 2564 โดยหัวใจสำคัญคือ กรณีผู้ป่วยมีอาการแต่ไม่รุนแรง ไม่มีปอดอักเสบ หรือกรณีมีปัจจัยเสี่ยงร่วม พิจารณาให้ฟาวิพิราเวียร์ เร็วที่สุด เพื่อช่วยรักษาผู้ป่วยที่เริ่มมีอาการ ไม่ให้ไต่ระดับไปสู่สีเหลือง หรือแดงได้

ตามแผนส่งมอบยาฟาวิพิราเวียร์ ของกระทรวงสาธารณสุข เฉพาะเดือนกรกฎาคม ที่สั่งซื้อ 16 ล้านเม็ด รองเลขาธิการ สปสช. บอกว่า เตรียมจัด 1 ล้านเม็ด ให้กับกลุ่มผู้ที่ดูแลตัวเองที่บ้าน และเตรียมจะปลดล็อคเงื่อนไขให้คลินิกชุมชนอบอุ่นสามารถเบิกจ่ายยาได้เอง โดยคาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมและออกมาเป็นแนวทางปฏิบัติภายใน 1 สัปดาห์ หรือเร็วกว่านั้น

ขณะที่อุปกรณ์ทางการแพทย์ เช่น ปรอทวัดไข้ เครื่องวัดออกซิเจนปลายนิ้ว ถังออกซิเจน ชุด PPE หน้ากากอนามัย และถุงมือ ที่พบว่ามีการขึ้นราคา เกินกว่างบฯ เบิกจ่ายของ สปสช. จนบางคลินิกเจอปัญหาแบกรับไม่ไหวนั้น ได้เร่งสื่อสารทำความเข้าใจกับผู้ประกอบการ อย่าฉกฉวยโอกาสในช่วงที่ประเทศกำลังลำบาก

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช.

“ตอนนี้ถือเป็นภาวะสงคราม รัฐบาล กระทรวงสาธารณสุข บุคลากรทางการแพทย์ กำลังช่วยกันให้ทุกคนได้รับบริการ เราจำเป็นต้องมีอาวุธ ขออย่าขึ้นราคาเลยครับ ให้พวกเราได้มีอาวุธสู้กับเชื้อโรค เราจะได้รอดไปด้วยกัน”

ขณะที่ข้อกังวล ว่าการตรวจหาเชื้อด้วย Antigen Test Kit จะสามารถเข้าถึงระบบ Home isolation ได้หรือไม่ ล่าสุด สปสช. ได้ปรับแนวปฏิบัติ ให้ผู้ป่วยสามารถลงทะเบียน และเบิกจ่ายได้เหมือนกับผู้ที่รักษาใน Hospitel หรือโรงพยาบาลสนาม โดยไม่ต้องไปตรวจซ้ำด้วย RT-PCR และในเคสที่เปลี่ยนเป็นสีเหลือง สามารถส่งต่อไปยังโรงพยาบาลแม่ข่าย ตามการประเมินของคลินิกชุมชนอบอุ่น เพื่อที่จะทำให้การทำงานมีความคล่องตัวมากขึ้น

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน