ดึงจุดแข็งการมีส่วนร่วม ท้องถิ่นจับมือภาคประชาสังคม ทลายข้อจำกัดงบฯ ผนึกกำลัง ใช้โอกาสล็อกดาวน์ ตรวจเชิงรุกวันละ 1,000 คน หวังแยกกลุ่มเสี่ยง ลดภาระเตียงโรงพยาบาล ตั้งเป้าพานครปฐมออกจากพื้นที่สีแดงเข้ม
เมื่อวันที่ 25 ก.ค. 2564 ที่ สถาบันอินเตอร์เทคโนโลยีนครปฐม อ.สามพราน จ.นครปฐม หน่วยงานท้องถิ่นและภาคีเครือข่ายภาคประชาชน ลงพื้นที่ดูความเรียบร้อยของอาคาร สถานที่ในการจัดทำเป็น “ศูนย์พักคอยอุ่นใจนครปฐม” Community Isolation Complex & One Stop Service ซึ่งจะเปิดใช้ในวันที่ 30 ก.ค.นี้
ศูนย์แห่งนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่าง จังหวัดนครปฐม, องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.), สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.), มหาวิทยาลัยราชภัฎนครปฐม, สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.), สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ (สช.) และภาคีเครือข่ายภาคประชาสังคม ซึ่งถือเป็นความเข้มแข็งและข้อได้เปรียบของหน่วยงานท้องถิ่น เพื่อลดจำนวนผู้ติดเชื้อใน จ.นครปฐม ซึ่งถูกจัดเป็นพื้นที่สีแดงเข้ม
ศูนย์ฯ แห่งนี้ สามารถรองรับผู้ป่วยในกลุ่มสีเขียว-เหลือง ได้ประมาณ 512 เตียง โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงจะต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน thai.care เพื่อเข้ารับการตรวจโควิด-19 ด้วย Antigen Test Kit ที่สถาบันอินเตอร์เทคโนโลยีนครปฐม หากผลเป็นบวกสามารถเข้าพักรักษาได้ทันทีโดยไม่ต้องตรวจซ้ำ ซึ่งตลอดการรักษาจะได้รับการดูแลโดยบุคคลากรทางการแพทย์ จ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ ยาฟ้าทะลายโจร และอาหาร 3 มื้อ หากอาการรุนแรงจะส่งต่อโรงพยาบาลประจำจังหวัด ไม่ต่างจากการรักษาในโรงพยาบาลสนาม และ Hospitel ครอบคลุมสิทธิตามนโยบาย สปสช.
สุรศักดิ์ เจริญศิริโชติ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครปฐม บอกว่า การหารือเป็นไปในทิศทางเดียวกัน และได้รับความอนุเคราะห์จากสถาบันอินเตอร์เทคโนโลยีนครปฐมให้ใช้สถานที่ ตอนนี้อยู่ในช่วงของการปรับปรุงระบบสาธารณูปโภค สิ่งอำนวยความสะดวก โดยได้งบประมาณ และกำลังอาสาสมัคร จาก อบจ. สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม ทำให้ขณะนี้มีความพร้อมเกือบ 100% แล้ว โดยคาดหวังให้ที่นี่เป็นจุดคัดแยกกลุ่มเสี่ยงสูงออกจากชุมชนให้ได้เร็วที่สุด เพื่อให้ผู้ป่วยหนักได้เข้าถึงเตียงในโรงพยาบาล และตัดวงจรการระบาด ระหว่างการรอคอยวัคซีน
“เราคาดหวังกับช่วงของการล็อกดาวน์ที่จำกัดอะไรหลาย ๆ อย่าง ว่าจะสามารถลดตัวเลขเป็นศูนย์ให้ได้ เริ่มต้นที่ อ.สามพราน ที่พบการแพร่ระบาดสูงก่อน แต่ก็ไม่ทอดทิ้งระดับจังหวัด เราจะค่อย ๆ ทำไปเรื่อย ๆ เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ยากแต่เราโชคดีที่มีหลายภาคส่วนเข้ามาให้ความร่วมมือทันทีที่เอ่ยปาก เพื่อข้ามวิกฤตนี้ไปด้วยกัน
ขณะที่กำลังการตรวจด้วย Antigen Test Kit เบื้องต้นอยู่ที่วันละ 1,000 คน ทาง อบจ. จะรับผิดชอบในส่วนของงบประมาณ รวมถึงค่าใช้จ่ายส่วนอื่น ๆ ด้วยการลดงบประมาณในส่วนของรายการที่ไม่จำเป็น สนับสนุนการทำงานด้านสาธารณสุข รวมถึงการสั่งซื้อวัคซีนทางเลือกให้ครอบคลุมกับประชากร
จิรวัฒน์ สะสมทรัพย์ นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดนครปฐม แสดงความเห็นต่อสถานการณ์ในเวลานี้ ระบุว่า ด้วยระบบการทำงาน ทำให้ตนเองมีความใกล้ชิดกับประชาชน รับรู้ได้ว่าประชาชนส่วนใหญ่ต้องการเข้าถึงการตรวจที่รวดเร็ว คล่องตัว มีสถานที่รองรับ เนื่องจากรูปแบบการกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ยังไม่ตอบโจทย์ด้านที่อยู่อาศัย ซึ่งส่วนใหญ่อยู่รวมกันภายในบ้าน จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ราชการจะต้องเข้าแก้ปัญหาในส่วนนี้ ลดข้อจำกัดในเรื่องของการควบคุมโรคให้ได้มากที่สุด
“ที่ผ่านมาเราอาจจะเห็นภาคประชาชนช่วยเหลือกันเองซึ่งเป็นจุดแข็งของท้องถิ่น แต่ผมมองว่าหน้าที่หลักของราชการคือดูแลประชาชน เราต้องนำภาษีทุกบาทของเขาไปดูแลเขา ไม่ใช่ประกาศขอเงินอีก ผมจึงหารือกับท่านผู้ว่าฯ ว่า ศูนย์แห่งนี่ไม่ต้องกังวลเรื่องเงินเลย ถ้าขาดแคลน อบจ.พร้อมจะสนับสนุนเต็มที่ ซึ่งตั้งแต่ เม.ย. ที่ผ่านมา อบจ. ได้สนับสนุนเงินเพื่อสู้กับโควิด 60 กว่าล้านบาทแล้ว”
สำหรับสถานการณ์ผู้ติดเชื้อรอเตียง ของ จ.นครปฐมเวลานี้ (25ก.ค.64) อยู่ที่ 230 คน ซึ่งทางจังหวัดได้เพิ่มโรงพยาบาลสนามเป็นแห่งที่ 5 ขณะที่การตรวจหาเชื้อเชิงรุกที่ผ่านมา เฉพาะในโรงงานตรวจเพิ่มมากกว่า 20 แห่ง รวม 20,000 คน พบติดเชิ้อ 1,400 คน ใช้รูปแบบเฝ้าระวังแบบ Factory Quarantine และเตรียมปูพรมตรวจในพื้นที่เสี่ยง เช่น ตลาดสด กว่า 30,000 คน เฉพาะ อ.สามพราน พร้อมกระจาย Antigen Test Kit ไปยัง รพ.สต. ซึ่งหากทำควบคู่ไปกับระบบอำเภอ Isolation และ Community Isolation Complex & One Stop Service ก็จะสามาถตัดวงจรระบาดให้กลายเป็นศูนย์ได้ตามเป้าหมาย และกลายเป็นพิมพ์เขียวให้กับจังหวัดอื่นๆ ต่อไป