สธ.ไฟเขียวผลตรวจ ATK เป็นบวก เข้าระบบแยกกักที่บ้านได้ทันที

ผู้ป่วยสีเขียวทำ Home Isolation แล้วประมาณ 37,000 คน สปสช.หนุนค่ารักษา 3,000 บาทต่อสัปดาห์ ด้าน “กรมการแพทย์” รับถึงจุดพีคติดเชื้อเกินกว่าระบบรับได้ถึง 3 เท่า 

เมื่อวันที่ 27 ก.ค.​2564 “นายแพทย์สมศักดิ์ อรรฆศิลป์” อธิบดีกรมการแพทย์ พร้อมด้วย “ทันตแพทย์อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ” รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แถลงประเด็น การตรวจโควิด 19 ด้วย ATK เข้าสู่ระบบการรักษา โดย “นายแพทย์สมศักดิ์” กล่าวว่า ชุดตรวจเร็ว (Antigen Test Kit : ATK) ที่วางขายอยู่ในท้องตลาดขณะนี้มีหลายชนิด คุณภาพแตกต่างกัน บางชนิดความไวความจำเพาะอาจไม่ถึง 90% แนะนำให้ใช้ชุดตรวจที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รับรอง ซึ่งกระทรวงสาธารณสุข และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ใช้ซึ่ง ให้ผล 95% ขึ้นไป อย่างไรก็ตามอาจพบผลบวกลวงได้ประมาณ 3-5% แปลว่าผู้ป่วยจำนวนหนึ่งผลบวกแล้วอาจจะไม่ได้ติดเชื้อจริงเรียกผลบวกนี้ว่า “ผู้ที่น่าจะติดเชื้อ” หากนำไปรวมกับผู้ติดเชื้ออาจทำให้เกิดการติดเชื้อจริงๆ ได้ ส่วนผลลบแต่สงสัยติดเชื้อต้องตรวจซ้ำใน 3-5 วัน 

“นายแพทย์สมศักดิ์” กล่าวต่อว่า หากตรวจด้วยชุดตรวจ ATK ให้ผลบวกและเข้าเกณฑ์เงื่อนไข สามารถเข้าระบบแยกกักที่บ้าน (Home Isolation : HI) ได้ทันที ไม่ต้องตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซ้ำ โดยจะต้องอยู่คนเดียว ใช้ห้องนอนคนเดียว ไม่มีปฏิสัมพันธ์กับคนในบ้าน แยกกิน แยกอยู่ แยกใช้ห้องน้ำ แยกทิ้งขยะจากผู้อื่น โดย สปสช. จะสนับสนุนให้เงินกับโรงพยาบาลที่ดูแล ในการจัดส่งอาหาร 3 มื้อถึงบ้าน เครื่องวัดอุณหภูมิ เครื่องวัดออกซิเจนในเลือด และยาที่จำเป็น หากเริ่มมีอาการหรือมีโรคประจำตัวทางการแพทย์แนะนำให้เริ่มฟาวิพิราเวียร์ให้เร็วที่สุด ซึ่งจะมีการส่งยาให้ที่บ้าน หรือหากอยู่บ้านไม่ได้ ต้องเข้าการแยกกักในชุมชน (Community Isolation : CI) จะให้ลงชื่อในใบยินยอมรับการรักษา และนำตัวไปที่ CI ศูนย์พักคอย ฮอสปิเทล หรือโรงพยาบาล มีความจำเป็นจะต้องตรวจด้วยวิธี RT-PCR ซ้ำ ระหว่างรอผล จะมีการแยกผู้ติดเชื้อที่ตรวจด้วย ATK ออกมา เพื่อความปลอดภัยและความรวดเร็วในการรักษา 

จำนวนผู้ป่วยสีเขียวทำ Home Isolation แล้วประมาณ 37,000 คน

“ทันตแพทย์อรรถพร” กล่าวว่า กรณีผลตรวจแบบเร็ว ATK เป็นบวกสามารถเข้าระบบกักตัวที่บ้านได้ทันทีโดยไม่ต้องไปตรวจซ้ำด้วยวิธี RT-PCR ขณะนี้ สปสช. ได้ให้บริการตรวจคัดกรองด้วย ATK ที่ลานจอดรถ ชั้น 1 อาคาร B ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ วันละประมาณ 2,500 คน หากผลตรวจเป็นบวกจะบันทึกเข้าไปอยู่ในฐานข้อมูล Home Isolation Database ข้อมูลล่าสุดมีผู้ป่วยสะสมประมาณ 37,000 ราย เป็นรายใหม่วันนี้ 2,843 คน จากนั้นจะมีการจับคู่ผู้ติดเชื้อกับคลินิกหรือศูนย์บริการสาธารณสุขใกล้บ้านในการรับดูแล 

ขณะนี้ได้จับคู่ไปแล้ว 35,511 ราย สำหรับรายที่ไม่สามารถกักตัวที่บ้านได้ จะแยกกักในชุมชนหรือโรงพยาบาลซึ่งต้องมีการตรวจยืนยันซ้ำด้วยวิธี RT-PCR ขณะที่แยกกักตัว การแยกกักตัวที่บ้าน/ชุมชนมีเงื่อนไขคือ ต้องเป็นผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียว ไม่มีอาการหรืออาการน้อย มีอายุไม่เกิน 60 ปี ไม่มีโรคประจำตัว 7 กลุ่มโรค หรือมีภาวะอ้วน หรือผู้ป่วยนอนที่โรงพยาบาลเกิน 10 วัน และอาการดีขึ้นแล้วสามารถกักตัวที่บ้านได้  

แจงหากพบผลบวก รีบแจ้ง 1330 หนุนค่ารักษา 3,000 บาทต่อสัปดาห์

“ทันตแพทย์อรรถพร” กล่าวต่อว่า คนไทยที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสามารถเข้าสู่ระบบการตรวจคัดกรองด้วย ATK หากผลเป็นบวกเข้า HI ได้ทันที โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ลงทะเบียนได้ทางสายด่วน 1330 กด 14 หรือบันทึกข้อมูลเองด้วยการแสกน QR code กรอกข้อมูลทางเว็บไซต์ของ สปสช. จะมีเจ้าหน้าที่ติดต่อกลับเพื่อสอบทวนข้อมูล และนำเข้าสู่ระบบ HI มีคลินิกหรือศูนย์บริการสาธารณสุขในพื้นที่ไปดูแล มีการเยี่ยมติดตามอาการผ่านระบบ VDO Call วันละ 2 ครั้ง สปสช.จะสนับสนุนงบประมาณให้กับคลินิก/ ศูนย์บริการสาธารณสุขไว้ล่วงหน้าตามรายชื่อคนละ 3,000 บาทต่อสัปดาห์ เพื่อซื้ออุปกรณ์ที่มีความจำเป็น ได้แก่ เครื่องวัดอุณหภูมิดิจิตอล และเครื่องออกซิมิเตอร์สำหรับวัดค่าออกซิเจนในกระแสเลือดยาที่จำเป็น จัดส่งอาหารให้ที่บ้าน 3 มื้อ ค่ารถพยาบาลสำหรับส่งต่อ และค่าใช้จ่ายในการเอกซเรย์ 

ขณะเดียวกัน บอร์ด สปสช. มีมติอนุมัติชุดตรวจ ATK ฟรีสำหรับประชาชนแล้วคาดว่าภายในต้นเดือนสิงหาคม จะมีชุด ATK แจกไปยังโรงพยาบาล เน้นในพื้นที่สีแดงเพื่อให้โรงพยาบาลส่งชุดตรวจไปยังประชาชนกลุ่มเสี่ยงสำหรับตรวจเองที่บ้าน

สต็อกยาฟาวิพิราเวียร์ 10 ล้านเม็ด 

นายแพทย์สมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับยาฟาวิพิราเวียร์ ขณะนี้มีสต๊อกเกือบ 10 ล้านเม็ด และจะทยอยเข้ามาในเดือนสิงหาคม และกันยายน เดือนละ 40 ล้านเม็ดและกรมการแพทย์ได้ทำระบบโรงพยาบาลเสมือนจริง (Virtual Hospital) นำผู้ป่วยจากระบบ 1668 มาขึ้นทะเบียนดูแลที่บ้าน หากมีอาการจะส่งยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้ ถ้าสบายดีไม่มีโรคร่วม อาจกินยาฟ้าทะลายโจร และเมื่อเริ่มมีอาการจะให้ยาฟาวิพิราเวียร์ทันที หากผู้ป่วยมีโรคประจำตัวแต่ไม่มีอาการให้อยู่ในดุลยพินิจแพทย์ เพื่อป้องกันอาการสีเขียวเป็นสีเหลือง 

“กทม. และปริมณฑล ขณะนี้มีผู้ติดเชื้อจำนวนมากเกินกว่าระบบรับได้ประมาณ 3 เท่าแล้ว แพทย์ พยาบาล สหวิชาชีพคนหน้างาน ยังตั้งใจทำงานเต็มที่ในการดูแลประชาชน และจะให้ดีที่สุดเพื่อทุกชีวิต ขอย้ำว่าการฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด 19 จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้กลุ่มเสี่ยงลดความสูญเสียได้”

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS