พร้อมตรวจเชิงรุกต่อเนื่อง จัดสถานที่รองรับกักตัวหากคนไร้บ้านติดเชื้อ ด้านภาคประชาสังคมยังกังวลขาด “แผนปฏิบัติงาน” ที่ชัดเจน
หลังการขับเคลื่อนของภาคประชาสังคมอย่างต่อเนื่อง เริ่มเห็นการลดข้อจำกัดในการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ของกลุ่มคนเปราะบางอย่างคนไร้บ้าน
31 ก.ค. 2564 – คนไร้บ้าน หรือผู้อาศัยในที่สาธารณะ เข้าฉีดวัคซีนพระราชทาน จากราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ที่มาตั้งหน่วยบริการหรือจุดฉีดวัคซีนในที่สาธารณะให้กับคนไร้บ้านเป็นครั้งแรก ที่บริเวณลานพระแม่ธรณีบีบมวยผม สนามหลวง กทม. ซึ่งวันนี้นอกจากคนไร้บ้านย่านถนนราชดำเนิน คลองหลอด ลาดพร้าว จตุจักร สะพานควาย และท่าน้ำนนท์ และจากศูนย์คนไร้บ้านสุวิทย์วัดหนู เขตบางกอกน้อย ที่เข้ารับการฉีดแล้ว ยังมีกลุ่มอาสาสมัครที่ทำงานกับคนไร้บ้านด้วย เพราะพวกเขาก็มีความเสี่ยงเมื่อต้องทำงานอย่างต่อเนื่องในพื้นที่
คนไร้บ้าน ต่างสะท้อนว่า หน่วยฉีดวัคซีนในที่สาธารณะแบบนี้ ช่วยลดข้อจำกัดของพวกเขา ให้เข้าถึงวัคซีนมากขึ้น
“ การเข้าถึงวัคซีน สำหรับคนไร้บ้านอย่างเรามันเป็นเรื่องยาก กว่าจะไปทำเรื่อง บางคนก็ไม่มีบัตรประชาชนก็ลำบาก ที่ผ่านมาไม่เคยมีหน่วยงานไหนมาแนะนำเราให้ไปฉีดว่าต้องทำยังไง แต่ตอนนี้วัคซีนมาถึงก็ดี อุ่นใจขึ้น ”
“ ก็กลัวนะ กลัวจะติดเชื้อ เพราะเห็นกับตา เข้าแถวรับข้าวอยู่ดีๆก็ล้มลงเสียชีวิต ได้ฉีดแล้วสบายใจ ”
รศ.ธนพร ศรียากูล ที่ปรึกษาคณะทำงานประสานงานโครงการประชาสังคม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า ศูนย์ฉีดวัคซีนในที่สาธารณะให้กับคนไร้บ้านวันนี้ เป็นความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ ที่เห็นถึงความร่วมมือทั้งจากภาคประชาสังคม เช่นมูลนิธิอิสรชน กระจกเงา และมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย ซึ่งทำงานเรื่องนี้มาอย่างต่อเนื่อง รวมถึง กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ และกรุงเทพมหานคร และชัดเจนแล้วว่า กทม.จะจัดสรรวัคซีนในรูปแบบนี้ หรือเรียกว่าวัคซีนเดินได้ อีก 1,000 โดส ฉีดให้คนไร้บ้านในที่สาธารณะ
“ สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้เป็นผลมาจากภาคประชาชนและพลังทางสังคม ทำให้มีการฉีดวัคซีนเชิงรุก เมื่อวานผมได้ประชุมกับทาง กทม. และ พม.รวมถึงเครือข่ายภาคประชาสังคมที่ทำงานกับคนไร้บ้านทั้งหมด ซึ่ง กทม.ยินดีที่จะออกหน่วยเคลื่อนที่ลักษณะแบบนี้ เพื่อฉีดวัคซีนให้คนไร้บ้านอีก 1,000 โดส ใน 3 จุดใหญ่ เช่น ราชดำเนิน อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิและหัวลำโพง ตอนนี้ทุกฝ่ายกำลังวางแผนร่วมกัน ”
ขณะที่ โชคชัย วิเชียรชัยยะ รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ระบุว่า พม.ระบุว่า ภาคประชาสังคมและกรุงเทพมหานคร ยังมีแผนตรวจคัดกรองเชิงรุก หรือ Antigen Test Kit ให้กับคนไร้บ้าน คู่ขนานไปกับการฉีดวัคซีน
ทิพย์นภา สานุศิษย์ หัวหน้ากลุ่มงานจัดสวัสดิการสตรี ครอบครัวและผู้ด้อยโอกาส สำนักพัฒนาสังคม กทม. ก็ยืนยันว่า หากพบคนไร้บ้านติดเชื้อ มีสถานที่รองรับแล้วทั้ง 50 เขต และจะมีทีมศูนย์บริการสาธารณสุข หรือ CCRT ของ กทม.คอยทำงานประสานกับเจ้าหน้าที่ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง และเครือข่ายภาคประชาสังคม เพื่อส่งต่อคนไร้บ้านที่ติดเชื้อ เข้าสู่ระบบกักตัวและรักษา
อัจฉรา สรวารี เลขาธิการมูลนิธิอิสรชน ระบุว่า แม้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะยืนยัน ว่ามีระบบรองรับแล้ว แต่ยังกังวล เพราะยังขาดแผนปฏิบัติงานที่ชัดเจน จึงต้องบูรณาการการทำงานร่วมกันมากกว่านี้
“ ระบบตอนนี้อาจจะมีพร้อม แต่ในเชิงปฏิบัติงานจริง ไม่เป็นแบบนั้น ยกตัวอย่าง พอมีเคสผู้ป่วย เราโทรไปแจ้งเขต เขตบอกไม่รู้ ส่วนเทศกิจก็โทรมาถามเรา ว่ามีคนป่วยจะทำยังไง คือฝ่ายนโยบายพร้อม แต่ฝ่ายปฏิบัติงาน ยังไม่ได้ฝึกอบรมทำความเข้าใจ หรือมีความรู้ว่า จะต้องต้องดำเนินการกันยังไง ”