สธ.แจงให้วัคซีนไฟเซอร์แก่บุคลากรทางการแพทย์ด่านหน้า 7 แสนโดส แบ่งฉีดเป็นบูสเตอร์โดส ฉีดเป็นเข็มที่สอง และผู้ที่ไม่เคยฉีดวัคซีนมาก่อน ส่วนผู้ไม่เข้าข่ายให้ขึ้นทะเบียนไว้ รอจัดสรรต่อไป
2 ส.ค.2564 “นพ.สุระ วิเศษศักดิ์” รองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และประธานคณะทำงานด้านบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด 19 (Pfizer) กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับบริจาควัคซีนไฟเซอร์จากสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ 30 กรกฎาคม 2564 จำนวน 1,503,450 โดส
คณะกรรมการบริหารจัดการการให้วัคซีนโควิด 19 (Pfizer) ได้พิจารณาจัดสรรวัคซีนดังนี้
- บุคลากรการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้า ครอบคลุมทั้งผู้ปฏิบัติงานดูแลผู้ป่วยโควิด 19 โดยตรง และผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขที่มีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด 19 ทั่วประเทศ 700,000 โดส
- ประชาชนกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วย 7 กลุ่มโรคเรื้อรังตั้งแต่ 12 ปีขึ้นไป และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไป ที่อยู่ในจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 13 จังหวัด 645,000 โดส
- ชาวต่างชาติ ที่เป็นผู้สูงอายุ 7 กลุ่มโรคเรื้อรัง และหญิงตั้งครรภ์ 12 สัปดาห์ขึ้นไปที่อาศัยอยู่ในประเทศไทย รวมถึงคนไทยที่มีความจำเป็นต้องเดินทางไปต่างประเทศ เช่น นักเรียน นักศึกษา 150,000 โดส
- ศึกษาวิจัย 5,000 โดส
- ควบคุมการระบาดจากสายพันธุ์เบต้า 3,450 โดส
“กระทรวงสาธารณสุข ได้จัดลำดับการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้กลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในระยะนี้ หากมีวัคซีนเพิ่มเติมหรือส่วนต่างจากการจัดสรรจะมีการจัดสรรอีกครั้ง ทั้งนี้ หากมีรายชื่อตกหล่นหรือยังไม่ได้รับวัคซีนขอให้แจ้งมายังสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด ใน กทม.แจ้งยังสำนักอนามัย เพื่อกระจายวัคซีนไปยังหน่วยฉีดต่อไป”
“นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์” อธิบดีกรมควบคุมโรค ในฐานะประธานคณะกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กล่าวว่า สำหรับการจัดสรรวัคซีนนั้นที่ประชุมคณะอนุกรรมการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคครั้งที่ 4/2564 เมื่อวันที่ 1 ส.ค.2564 มีมติ เรื่องคำแนะนำการให้วัคซีนโควิด 19 ไฟเซอร์ในบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 7 แสนโดส โดยกำหนดกลุ่มเป้าหมาย คือ บุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขด่านหน้าจากทั่วประเทศทุกคน รวมทั้งนักศึกษา และเจ้าหน้าที่ที่ต้องสัมผัสผู้ป่วยโควิด 19 จากการปฏิบัติงาน เช่น แผนกผู้ป่วยนอก แผนกผู้ป่วยใน คลินิกทางเดินหายใจ ห้องฉุกเฉิน แผนกผู้ป่วยวิกฤต รพ.สนาม เจ้าหน้าที่ห้องปฏิบัติการ เจ้าหน้าที่สอบสวนโรค เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานในสถานที่กักกันกลุ่มอาสาสมัครกู้ภัย พนักงานเก็บศพ หรือปฏิบัติงานที่เกี่ยวข้องกับภารกิจการดูแลผู้ป่วยโควิด 19 อื่นๆ ตามการพิจารณาของสถานพยาบาลหรือหน่วยงานต้นสังกัด โดยมีหลักการให้วัคซีนดังนี้
- บุคลากรที่ได้รับวัคซีนซิโนแวคหรือซิโนฟาร์ม ครบ 2 เข็ม พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์กระตุ้น 1 เข็ม
- บุคลากรที่ได้รับวัคซีนมาแล้ว 1 เข็ม พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มที่ 2 โดยกำหนดระยะห่างระหว่างโดสตามชนิดของวัคซีนเข็มที่ 1 เป็นหลัก
- ผู้ที่ไม่เคยได้รับการฉีดวัคซีน พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ 2 เข็ม ห่างกัน 3 สัปดาห์
- ผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด 19 และไม่เคยได้วัคซีนมาก่อน พิจารณาให้วัคซีนไฟเซอร์ 1 เข็ม โดยมีระยะห่างจากวันที่พบการติดเชื้ออย่างน้อย 1 เดือน
กรณีบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข ที่ไม่เข้าเกณฑ์รับวัคซีนไฟเซอร์
- รับวัคซีนซิโนแวคเข็มแรกและแอสตราเซเนกาเข็มที่ 2 หรือ สูตรสลับไขว้
- รับวัคซีนแอสตราเซเนกา 2 เข็ม
- รับวัคซีนซิโนแวค 2 เข็มและได้รับเข็มกระตุ้นด้วยแอสตราเซเนกา 1 เข็ม
คณะอนุกรรมการฯ ยังไม่แนะนำให้วัคซีนไฟเซอร์เป็นเข็มกระตุ้น เนื่องจากการฉีดทั้ง 3 แบบ ยังมีภูมิคุ้มกันอยู่ในระดับที่สูงเพียงพอ โดยให้ขึ้นทะเบียนรายชื่อไว้ เมื่อมีข้อมูลวิชาการสนับสนุน และมีวัคซีนที่เข้ามาเพิ่มขึ้นคณะกรรมการฯ จะพิจารณาฉีดให้ต่อไป เพื่อให้บุคลากรด่านหน้ามีภูมิคุ้มกันเพียงพอ ปฏิบัติหน้าที่อย่างมั่นใจ ให้ประชาชนปลอดภัย ระบบดูแลรักษาผู้ป่วยไม่หย่อนลง
ด้าน “พล.อ.ต.นพ.อิทธพร คณะเจริญ” เลขาธิการแพทยสภา กล่าวว่าบุคลากรที่เพิ่งได้รับการฉีดบูสเตอร์โดสนั้น กระทรวงสาธารณสุขมีความห่วงใยและได้ติดตามหากมีข้อมูลทางวิชาการยืนยัน มั่นใจได้ว่าจะได้รับการฉีดไฟเซอร์ในอนาคตแน่นอน ซึ่งจะทำให้เกิดความปลอดภัย สำหรับสมาชิกแพทยสภาที่ลงทะเบียนรับวัคซีนแอสตราเซเนกาในเข็ม 3 หากจะปรับเปลี่ยนสามารถแจ้งความประสงค์ได้ในเฟซบุ๊กของแพทยสภา