“ประธานคณะก้าวหน้า” ชี้วัคซีนโควิด-19 เหลือฉีดได้อีก 3-4 วัน คาดปลาย ก.ย.อาจติดเชื้อวันละ 5 หมื่น ด้าน “สธ.” ลุยปรับแผนฉีดผู้สูงอายุ กลุ่มเสี่ยงต่างจังหวัด วันละ 3.5 แสนโดส กองระบาดประเมินหากไม่มีมาตรการใด พีคสุด ก.ย. ติดเชื้อ 4.5 หมื่น
“กระทรวงสาธารณสุข” รายงานจำนวนผู้ได้รับวัคซีนโควิด-19 เป็นรายวันบนกระดานรายงานสรุปข้อมูลการฉีดวัคซีน หรือ Dashboard แต่จำนวนคงเหลือวัคซีนเท่าไหร่? มียี่ห้ออะไรบ้าง? และแผนการนำเข้าวันไหน? เป็นตัวเลขที่ไม่ถูกรายงาน นักวิชาการหลายคนจึงออกมาเรียกร้องให้เปิดเผยข้อมูล หรือ Open Data เพื่อความโปร่งใส และจะช่วยลดกระกระแสข่าวปลอม หรือ Fake News ที่สั่นคลอนความเชื่อมั่นของประชาชนได้ แต่ดูเหมือนภาครัฐยังไม่ตอบรับ
เมื่อคืนวันที่ 5 ส.ค.2564 ประเด็นวัคซีนถูกพูดถึงโดย “ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” ประธานคณะก้าวหน้า อีกครั้ง จากการจัดเฟซบุ๊กไลฟ์ในหัวข้อ “ปัจจุบันและอนาคตประเทศไทยใต้โควิด” สรุปคาดการณ์สถานการณ์โควิดตั้งแต่สิงหาคมเป็นต้นไป และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นต่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจของประเทศ
ช่วงหนึ่งระบุว่า จากข้อมูล ณ วันที่ 2 สิงหาคม มีประชากรไทยที่ฉีดวัคซีนครบสองโดสแล้วเป็นจำนวน 3.9 ล้านคน หรือ 6% ของจำนวนประชากร คนที่ได้รับวัคซีนแล้วอย่างน้อยหนึ่งโดสมีจำนวน 21.5% ของจำนวนประชากร หรือ 14.2 ล้านคน ซึ่งหากเราต้องการไปถึงเป้าหมาย 100 ล้านโดสภายในสิ้นปี 2564 จะต้องฉีดให้ได้ 5.47 แสนโดสต่อวัน ในทุกวันที่เหลือนับตั้งแต่วันนี้
“นายธนาธร” กล่าวว่า ปัญหาก็คือวัคซีนที่ได้รับจัดสรรอยู่ในประเทศไทยมีทั้งหมด 18.9 ล้านโดส ฉีดไปแล้ว 18.1 ล้านโดส หมายความว่าประเทศไทยเหลือวัคซีนอยู่อีกเพียงประมาณ 8 แสนโดส ถ้าฉีดในอัตราปัจจุบัน คือประมาณ 2 แสนกว่าโดสต่อวัน เราจะสามารถฉีดได้อีกเพียง 3-4 วันเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม The Active อ้างอิงข้อมูลจาก มติคณะรัฐมนตรี รับทราบแผนการจัดสรรวัคซีน วันที่ 19 กรกฎาคม -31 สิงหาคม 2564 จำนวนทั้งหมด 13 ล้านโดส โดยแบ่งเป็นแอสตราเซเนกา 8 ล้านโดส และซิโนแวค 5 ล้านโดส ซึ่งจะเน้นฉีดให้กับผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง แบ่งเป็น 4.29 ล้านโดสหรือ 33% ฉีดในพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวด และควบคุมสูงสุดบางจังหวัด รวม 11 จังหวัด และแบ่งแอสตราเซเนกาไว้ฉีดเป็นเข็มที่ 2 จำนวน 1.56 ล้านโดส โดยใช้แนวทางการฉีดวัคซีนแบบผสม ซิโนแวคเข็มแรก ตามด้วยแอสตราเซเนกาเข็ม 2 เมื่อถึงสิ้นเดือนสิงหาคมที่จะฉีดวัคซีนตามแผน 13 ล้านโดส จะรวมเป็น 27.22 ล้านโดส ซึ่งจะต้องฉีดให้ได้เฉลี่ยวันละ 259,000 โดส
- อ่านต่อ เช็กแผนวัคซีนโควิด-19 ก.ค – ส.ค. นี้ 13 ล้านโดส ฉีดวันละ 2.59 แสนโดส
- อ่านต่อ จนกว่า “ไฟเซอร์” 20 ล้านโดสจะมาเดือน ต.ค. 64 ไทยยังต้องพึ่ง “ซิโนแวค”
นั่นหมายความว่า หากนำจำนวนวัคซีนที่รัฐจัดหาตั้งแต่ต้นจนถึงปัจจุบัน ไม่รับรวมที่ได้รับบริจาค ไทยจัดหาวัคซีนได้ทั้งหมด 27.22 ล้าน และฉีดไปแล้วจนถึงวันที่ 6 ส.ค. 64 จำนวน 19.91 ล้านโดส จะเหลือวัคซีนอีกประมาณ 7.31 ล้านโดสนับไปอีก 25 วัน จนถึงวันที่ 31 ส.ค. 64 เฉลี่ยวันละ 292,400 โดส
แต่จนถึงขณะนี้ยังไม่มีข้อมูลวัคซีนคงเหลือที่เป็นทางการ แม้แต่วันส่งมอบวัคซีนแอสตราเซเนกาที่ผลิตจากโรงงานสยามไบโอไซเอนซ์ ประเทศไทย ในเดือน ส.ค. และ ก.ย. ก็ยังไม่มีความแน่นอน เพียงแต่ยืนยันว่าส่งมอบประมาณเดือนละ 5 ล้านโดส
ล่าสุด (5 ส.ค.2564) “นพ. เกียรติภูมิ วงศ์จริต” ปลัดกระทรวงสาธารณสุข บอกว่าได้ปรับแผนการเร่งรัดฉีดวัคซีนไปต่างจังหวัดมากขึ้น โดยตั้งเป้า ไม่น้อยกว่า 350,000 โดสต่อวัน เน้นในผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป กลุ่มโรคเรื้อรังและหญิงตั้งครรภ์ โดยจังหวัดควบคุมสูงสุดและเข้มงวด ตั้งเป้าให้ครอบคลุม 70% ส่วนจังหวัดควบคุมสูงสุด ตั้งเป้าฉีดให้ได้ 50% ของเป้าหมาย เพื่อให้ลดอัตราการป่วยและเสียชีวิตให้ได้มากที่สุด
คำถามก็คือ ไม่มีใครรู้จำนวนวัคซีนคงเหลือที่แท้จริง ท้ายที่สุด “ธนาธร” มองว่าสถานการณ์วันนี้ขึ้นอยู่กับวัคซีนว่าจะฉีดให้ครบจำนวนที่เพียงพอได้เมื่อไหร่ ถ้าไม่มีวัคซีนล็อตใหม่เข้ามา ก็จะไม่สามารถเพิ่มศักยภาพการฉีดวัคซีนอย่างเต็มที่ การฉีดวัคซีนได้ช้าก็จะส่งผลให้ประเทศต้องอยู่กับความเสี่ยงที่จะเกิดคลัสเตอร์ใหม่ๆ และการแพร่ระบาดรอบใหม่อยู่ตลอดเวลา ถึงแม้ว่าเราจะควบคุมการแพร่ระบาดรอบนี้ไปได้
“ธนาธร” ชี้ปลาย ก.ย. ติดเชื้อแตะ 5 หมื่นคน
“ประธานคณะก้าวหน้า” ระบุจากข้อมูลของแบบจำลองอนาคตนี้ หากเราสามารถลดการติดเชื้อได้เพียงแค่ 20% จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอาจจะขึ้นไปถึง 50,000 คนในปลายเดือนกันยายน หากลดการแพร่ระบาดได้ 25% จำนวนผู้ติดเชื้ออาจเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ประมาณ 35,000 คนต่อวันในปลายเดือนกันยายน แต่ในอัตรานี้จำนวนผู้ติดเชื้อจะค่อย ๆ ลดลงในปลายเดือนสิงหาคม และอาจเพิ่มขึ้นอีกครั้งหลังจากการหยุดล็อกดาวน์ในเดือนกันยายน แต่หากสามารถลดการแพร่เชื้อได้ 45-50% ขึ้นไป จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่รายวันอาจจะเหลือเพียงแค่ 4,000-5,000 คน และจะอยู่ในระดับคงที่หลังจากการล็อกดาวน์สิ้นสุดลง
ขณะที่ เอกสาร “กองระบาดวิทยา” กรมควบคุมโรค คาดการณ์จำนวนผู้ป่วยรายวัน หากล็อกดาวน์อย่างมีประสิทธิภาพ 25% นาน 2 เดือน จำนวนผู้ติดเชื้อที่พีคสุด ตามเส้นสีม่วงจะอยู่ช่วงกลางเดือนพฤศจิกายน จำนวน 25,000 คน แต่หากล็อคดาวมีประสิทธิภาพ 20% นาน 1 เดือน ผู้ติดเชื้อจะสูงสุด ที่ 37,000 คน ตามเส้นสีส้มในช่วงต้นเดือนตุลาคม แต่หากไม่มีมาตรการใดๆ ในเชิงทฤษฎี ผู้ติดเชื้อ จะพุ่งถึง 45,000 คน ตามเส้นสีน้ำเงินในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้ นี่ยังไม่นับรวมแนวโน้มผู้เสียชีวิต ที่อย่างต่ำ อาจถึง 200 คนต่อวันในช่วงเดือนพฤศจิกายน หรือมากถึงเกือบ 600 คนในช่วงเดือน กันยายนตามการคาดการณ์