เปิดตัว “ศูนย์ช่วยเด็กโควิด” แอปพลิเคชัน ของกรมกิจการเด็กฯ หลังพบ เด็กติดโควิด-19 สะสมกว่า 5 หมื่นราย

แถลงความร่วมมือ 6 หน่วยงาน บูรณาการร่วมแก้ไขปัญหา ให้ความช่วยเหลือเด็กและเยาวชน ติดเชื้อโควิด-19 เสี่ยงป่วยหนัก-เสียชีวิต-ขาดคนดูแล

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ โดยกรมกิจการเด็กและเยาวชน (ดย.) ร่วมกับ กรมการแพทย์ กรมสุขภาพจิต กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา องค์การยูนิเซฟ ประเทศไทย และกลุ่มเส้นด้าย ร่วมแถลงข่าวศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 เพื่อแก้ปัญหา เด็กป่วยเข้าไม่ถึงการรักษา เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา เด็กกำพร้า จากการที่พ่อแม่เสียชีวิตจากโควิด-19 และเด็กที่ขาดผู้ดูแลระหว่างพ่อแม่ผู้ปกครองเข้ารับการรักษาโควิด-19

นางสุภัชชา สุทธิพล อธิบดีกรมกิจการเด็กและเยาวชน กล่าวว่า ที่ผ่านมาพบว่ามีเด็กติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มสูงขึ้น และได้รับผลกระทบต่อเนื่องถึงชีวิตความเป็นอยู่ โดยได้มีการจำแนกเด็กออกเป็น 3 กลุ่ม หนึ่ง เด็กติดเชื้อจากโควิด-19 หรืออยู่ในครอบครัวที่มีคนติดเชื้อ สอง เด็กกลุ่มเสี่ยงติดเชื้อ และ สาม เด็กกำพร้า จากการที่ผู้ปกครองเสียชีวิตจากโควิด-19

กรมกิจการเด็กและเยาวชน ได้เปิดช่องทางความช่วยเหลือแจ้งเหตุได้ 24 ชม. ในหลายรูปแบบ ทั้งการโทรสายด่วน 1300 แจ้งกับบ้านพักเด็กและครอบครัว ทั้ง 77 จังหวัดทั่วประเทศ Mobile APP แอปพลิเคชันคุ้มครองเด็ก และ Line @savekidscovid19 “ศูนย์ช่วยเลือเด็กโควิด-19” โดยบูรณาการความช่วยเหลือทุกช่องทาง

ศูนย์ช่วยเหลือเปิดให้บริการแล้ว ตอนนี้มีเด็กในความดูแลทั้งหมด 174 ราย ซึ่งสิ่งที่กรมฯ กังวลคือเรื่องเด็กกำพร้า ที่ผู้ปกครองเสียชีวิตจากโควิด-19 เราก็ทำงานร่วมกับกรมสุขภาพจิตให้เข้ามาดูแลสุขภาพใจ และเร่งให้เกิดครอบครัวทดแทนเป็นลำดับแรกในการให้การดูแล ไม่ว่าจะเป็นครอบครัวเครือญาติ หรือครอบครัวอุปถัมป์ มีการส่งเจ้าหน้าที่นักสังคมเข้าไปช่วยเหลือ จัดสวัสดิการสนับสนุนงบประมาน และหากในอนาคตครอบครัวทดแทนต้องให้รัฐเข้าช่วยเหลือดูแล รัฐก็จะช่วยเหลือได้ถึงอายุ 18 ปี 

ซึ่งการจัดหาครอบครัวทดแทนเพื่อรับช่วงต่อในการเลี้ยงดูเด็ก จะต้องผ่านการประเมินความพร้อมของตัวเด็ก สภาพแวดล้อม และครอบครัวใหม่ เพื่อให้ช่องว่างที่จะอยู่ร่วมกันลดน้อยลงที่สุด 

นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ รายงานว่า สถานการณ์โควิด-19 ที่ระบาดหนักในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีผู้ติดเชื้อในภาพรวมมากขึ้น และพบผู้ติดเชื้อที่เป็นเด็กจำนวนมากทั้งยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง โดยในสัปดาห์ที่ผ่านมา มีเด็กอายุ 0-18 ปี ติดเชื้อโควิด-19 มากถึง 18,879 คน หรือเฉลี่ยวันละ 2,697 คน จำนวนนี้เสียชีวิต 3 คนด้วยกัน

โดย ผลการวิเคราะห์ข้อมูลจากสถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติ ที่ให้การรักษาผู้ป่วยเด็ก 480 คน พบว่า เด็กที่มีอาการรุนแรงคือ เด็กที่มีโรคประจำตัวหรือมีความเสี่ยงอยู่แล้ว เช่น ป่วยติดเตียง โรคหัวใจ หรือพิการแต่กำเนิด ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาในสถานพยาบาล ดังนั้นจะเห็นว่า แม้เด็กส่วนใหญ่จะป่วยไม่หนัก เพราะไม่ใช่กลุ่มเสี่ยงเชิงอายุ แต่หากว่ามีโรคประจำตัวจะเสี่ยงอาการรุนแรงไม่ต่างกับผู้ใหญ่

เป็นห่วง ตัวสุขภาพของเด็กเอง ถ้าเด็กโตไม่มีโรคประจำตัวไม่น่าเป็นห่วง แต่หากเด็กเล็กแล้วมีโรคประจำตัวอันนี้น่าเป็นห่วง เบื้องต้นให้ขยายจำนวนเตียงรับผู้ป่วยเด็ก แล้วให้ผู้ปกครองมาช่วยดูแล เพราะส่วนใหญ่เด็กที่ติดเชื้อ พ่อและแม่ก็มักจะติดด้วย เรามีการจัดการรักษาที่บ้าน Home Isolation ส่งอุปกรณ์ตรวจเช็คร่างกาย หากพบว่ามีอาการรุนแรงก็จะส่งเข้าสถานพยาบาล… แต่สำหรับเด็กที่ป่วยระยะสุดท้าย คือ “ทีมเยือนเย็น” ที่จะเข้าไปช่วยเหลือเยี่ยมเยือนเด็กกลุ่มนี้ด้วย

ซึ่งขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการจัดตั้ง Community Isolation สำหรับเด็กที่กักตัวที่บ้านไม่สะดวก หรือหากต้องกักตัวในสถานที่นอกบ้านแล้วต้องการให้ผู้ปกครองอยู่ด้วย โดยกำลังหารือกับหลายฝ่าย คาดว่าจะได้คำตอบในช่วงสัปดาห์นี้ พร้อมทั้งจัดเตรียมแนวทางการฉีดวัคซีนไฟเซอร์ให้เด็กอายุมากกว่า 12 ปี เพื่อฉีดให้เด็กที่มีโรคประจำตัว ลดความเสี่ยงป่วย-ตายในเด็ก

พญ.พรรณพิมล วิปุลากร อธิบดีกรมสุขภาพจิต ระบุว่า เมื่อเกิดการสูญเสียคนดูแลเด็ก จะมีผลกระทบต่อจิตใจของเด็กอย่างแน่นอน ดังนั้นเด็กจึงต้องการกระบวนการที่ทำให้พวกเขาผ่านความรู้สึกโศกเศร้าเหล่านี้ไป จากการศึกษาของต่างประเทศพบว่าความสูญเสียจากโควิด-19 เป็นความโศกเศร้าใจ เพราะญาติไม่มีโอกาสร่ำลา หรือหากติดเชื้อในครอบครัว ก็อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกผิดสำหรับคนที่เป็นผู้แพร่เชื้อ

หากสูญเสียพ่อแม่ทั้งคู่ ทำให้กลายเป็นเด็กกำพร้า ต้องดำเนินชีวิตแบบใหม่ที่ไม่มีพ่อแม่ดูแล หรือหากโดยปกติใช้ชีวิตลำบากอยู่แล้ว และหากคนดูแลเสียชีวิตอีกก็จะแย่ลงไปอีก เด็กจะต้องเปลี่ยนแปลงชีวิตไปจากเดิม เปลี่ยนที่อยู่ เปลี่ยนสิ่งแวดล้อม เราไม่อยากให้เด็กอยู่กับความทุกข์ใจ และขาดความกะตือรือร้นที่จะเห็นอนาคต ต้องช่วยให้เขาก้าวข้ามไปข้างหน้า เราอยากให้เขายังมีความรู้สึกที่มั่นคงและรู้ว่าระบบกำลังเข้าไปโอบอุ้มดูแล

โจทย์สำคัญคือการจัดหาครอบครัวอุปถัมภ์ให้กับเด็กโดยเร็วที่สุด ซึ่งกระบวนการมาจากประชาชนที่แสดงความจำนงขอรับอุปการะเด็กแบบครอบครัวอุปถัมภ์ ผ่านสำนักงานพัฒนาสังคมในแต่ละจังหวัด สถานรองรับเด็กที่พื้นที่ต่างๆ

ศ.สมพงษ์ จิตระดับ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ ภาคประชาสังคม กองทุนเพื่อความเสมอภาคการศึกษา กล่าวว่า ศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิด-19 จะเป็นศูนย์รวบรวมข้อมูลปัญหาเกี่ยวกับเด็ก และมีการจำแนกสถานการณ์การป่วย เพื่อให้จัดการแก้ปัญหาอย่างถูกวิธี เร่งดูแล จัดสรรทรัพยากรเข้าช่วยเหลือ เช่น ถุงยา ถุงยังชีพ ถุงการเรียนรู้ โดยการทำงานของอาสาสมัครช่วยเหลือเด็กจากในชุมชนต่างๆ

เด็กเยาวชน ที่ถูกระบุว่าอยู่ในกลุ่มอาการสีแดง หากมาอยู่ในศูนย์ช่วยเหลือเด็กโควิดนี้ ก็จะได้รับการเข้าสู่ระบบสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน และมีโรงพยาบาลรองรับว่าจะได้รับการรักษาอย่างดี ส่วนเด็กที่ป่วยอาการไม่รุนแรงอยู่ที่บ้าน หรือในชุมชนก็จะมีอาสาชุมชนที่เข้าไปช่วยสร้างกิจกรรมนันทนาการช่วยสุขภาพจิตของเด็กด้วย เป็นการปกป้อง ดูแล รักษา เยียวยา

นายคริส โปตระนันทน์ กลุ่มเส้นด้าย เล่าว่า ก่อนหน้านี้เวลาพบเด็กติดเชื้อโควิด-19 เป็นเรื่องที่จัดการลำบาก เพราะโรงพยาบาลสนาม และฮอสพิเทล ส่วนใหญ่จะไม่รับเด็ก เพราะบุคลากรทางการแพทย์ที่ประจำอยู่ในสถานบริการเหล่านั้นเป็นทีมที่ดูแลผู้ใหญ่แต่เด็กต้องการหมอเด็กและเครื่องมือที่ใช้เฉพาะกับเด็ก จึงยินดีที่มีศูนย์ช่วยเหลือเด็กเกิดขึ้นโดยเฉพาะ พร้อมเสนอแนวทางการจัดการให้ผู้ปกครองและเด็กได้อยู่ด้วยกันระหว่างการรักษา

ทุกครั้งที่เกิดเคสเด็ก กลุ่มเส้นด้ายจะต้องไปติดต่อกับโรงพยาบาลเอง บางครั้งก็ได้รับความช่วยเหลือบางครั้งก็ไม่สามารถรับได้ การมีตรงนี้จึงดีใจมากๆ แต่อีกปัญหาคือเวลาเด็กป่วยจะต้องมีผู้ปกครองอยู่ด้วย และที่ผ่านมาจัดการยาก จึงเสนอให้แก้ไขปัญหาอย่างครบวงจร… แม่ติดลูกติด แม่ได้ที่รักษาก่อน ถ้าจัดการได้ควรเอาแม่ลูกไปพร้อมกัน ลูกติดแม่ไม่ติด แต่แม่ก็พร้อมจะเข้าไปดูแลลูก ตรงนี้ราชการต้องอนุญาติให้แม่เข้าไปดูแลลูกในสถานพยาบาล และสามารถเบิกงบประมานให้กับแม่ด้วย หากแม่ติดเชื้อต่อ กรณีแม่ติดลูกไม่ติด ถ้ายอมให้ลูกเข้าไปด้วย ควรมีสิ่งอำนวยความสะดวกให้ลูก และกรณีคนต่างด้าว พ่อแม่ หรือเด็กต่างด้าว ถ้าราชการตกลงว่าจะให้ความช่วยเหลือ โดยแก้ไขกฎระเบียบอย่างไร 

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้