“ผู้ชุมนุม – เจ้าหน้าที่ – รัฐบาล” ให้โอกาสสังคมไทย สร้างความเป็นไปได้ใหม่ ที่ปลอดภัย และไม่ใช้ความรุนแรง มองหาจุดร่วม มากกว่าความแตกต่าง
16 ส.ค. 2564 – เนื่องในวันสันติภาพไทย ท่ามกลางสถานการณ์การเมืองไทย ที่เดินหน้าไปพร้อมกับความขัดแย้งและทวีความรุนแรงมากขึ้น จนหลายฝ่ายกังวลว่าอาจนำไปสู่ความสูญเสีย เราจะเรียนรู้อดีต และทำความเข้าใจกับปัจจุบันได้อย่างไร
The Active ชวนเปิดมุมมองและวิเคราะห์เรื่องนี้กับ ศาสตราจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ ประธานคณะทำงานยุทธศาสตร์สันติวิธี
“วันสันติภาพไทย มันไม่ใช่แค่คำประกาศ แต่เป็นการหาวิธีที่จะบอกเราว่าจะแก้ไขอดีตอย่างไร เราจะสัมพันธ์กับอนาคตอย่างไร”
ศ.ชัยวัฒน์ มองความสำคัญของวันสันติภาพไทย ในแง่ของการเรียนรู้เชิงประวัติศาสตร์ เพื่อให้สังคมในปัจจุบันได้หาทางออกว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งรุนแรง จนนำไปสู่การบาดเจ็บล้มตายอย่างในอดีต
เขาชวนผู้คน 3 ฝ่ายตั้งคำถามสำคัญ ทั้ง ฝ่ายผู้ชุมนุม ที่รวมตัวประท้วงกันมาอย่างต่อเนื่อง ฝ่ายที่สอง คือ เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติหน้าที่ ดูแลความสงบเรียบร้อยในปัจจุบัน และฝ่ายที่สาม คือ ฝ่ายรัฐบาล ที่ถือครองอำนาจในขณะนี้ โดยตั้งคำถามดังกล่าวบนสมมติฐานว่า ทุกฝ่ายมีเจตนาที่จะคิดถึงและสร้างสรรค์สังคมไทยให้ดีขึ้น ในแบบที่ตนเองเข้าใจ โดยไม่คำนึงเบื้องหลังทางการเมืองที่ผลักดันให้แต่ละฝ่ายต้องทำเช่นนั้น เพราะตนเชื่อว่าเบื้องหลังทั้งหลาย หากขาดเงื่อนไขเชิงโครงสร้างทางสังคม ย่อมไม่สามารถผลักดันให้เกิดขึ้นจริงได้
ผู้ชุมนุม: เลือกพื้นที่แสดงออกที่เหมาะสม สื่อสารให้สังคมยอมรับ
คำถามของกลุ่มผู้ชุมนุมนั้น มี 2 คำถามสำคัญ ข้อแรก คือ พื้นที่การต่อสู้ใดที่เหมาะสมที่สุด ? หมายความว่า รูปแบบของการสื่อสารความคิดทางการเมือง หรือข้อเรียกร้องที่ยึดถือไว้นั้น พื้นที่ใดสามารถสื่อสารออกไปได้ดีที่สุด และเป็นสิ่งที่ผู้ชุมนุมถนัดมากที่สุด ทั้งในเชิงกายภาพ และในสังคมเสมือน หรือโลกออนไลน์ เพราะพื้นที่ที่มีประสิทธิภาพจะช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไปในสิ่งที่ตนต้องการได้ง่ายขึ้น และไม่สร้างเงื่อนไขให้เกิดความสูญเสีย
ข้อที่สอง คือ จะขยายความเข้าใจของสังคมออกไปได้อย่างไร ? เมื่อมองความสำเร็จของการต่อสู้ของผู้ชุมนุมตลอดมา ศ.ชัยวัฒน์ มองว่าสร้างการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญในหลายเรื่อง แต่จะทำอย่างไรให้สิ่งที่ต้องการเป็นที่ยอมรับมากขึ้น นั่นหมายความว่าเมื่อเลือกทางที่ดีที่สุดสำหรับตนเองได้แล้ว จะสื่อสารที่ตนประสงค์ให้เข้าถึงผู้คนให้มากที่สุด
โจทย์ใหญ่คือ จะทำอย่างไรให้คนที่คิดไม่เหมือนเรา เข้าใจความคิดของเรา ด้วยวิธีการที่อีกฝ่ายหนึ่งรับได้ และต้องไม่เลือกว่าจะสื่อสารแต่เพียงเฉพาะกลุ่มที่เห็นด้วยกับเราเท่านั้น เพราะหากเมื่อใดที่เราเลือกจะสื่อสารแต่เฉพาะกลุ่ม ย่อมไม่สามารถลดความขัดแย้งได้จริงนั่นเอง
เจ้าหน้าที่ : มองผู้ชุมนุมเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ ไม่ใช่ศัตรู
ศ.ชัยวัฒน์ ตั้งคำถามถึงผู้ปฏิบัติหน้าที่เผชิญหน้ากับผู้ชุมนุมว่า เมื่อเห็นกลุ่มผู้ชุมนุม เรามองเห็นอะไร และมองเขาเป็นอะไร ? เป็นคำถามสำคัญที่จะลดภาพความรุนแรงในพื้นที่การชุมนุมได้ ถึงแม้ว่าเจ้าหน้าที่จะมีระเบียบกฎเกณฑ์ในการปฏิบัติหน้าที่วางไว้อย่างชัดเจน แต่ความเห็นอกเห็นใจกันในฐานะเพื่อนร่วมทุกข์ อาจเป็นสิ่งที่ทำให้การปฏิบัติหน้าที่ด้วยความรุนแรงบรรเทาเบาบางลงได้
คุณได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19 เหมือนกันหรือไม่ ? ครอบครัวต้องขาดรายได้จากการทำมาหากินหรือไม่ ? ครอบครัวได้รับวัคซีนครบทุกคนแล้วหรือยัง ? หรืออีกหลากหลายคำถามที่จะช่วยให้กลุ่ม “เจ้าหน้าที่” และ “ผู้ชุมนุม” มีจุดร่วมที่ตรงกันได้ มากกว่าความแตกต่างของบทบาทที่รับผิดชอบ
ศ.ชัยวัฒน์ วิเคราะห์ว่าสาเหตุสำคัญของการชุมนุมนั้นมาจาก “อารมณ์โกรธ และสิ้นหวัง” เมื่อเรามองย้อนกลับไปว่าทำไมคนเหล่านั้นถึงมีอารมณ์เช่นนี้ จะเห็นที่มาซึ่งเชื่อมโยงกับตัวเราในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง เมื่อเสียงที่ส่งออกไปไม่ดังมากพอให้เขาได้รับความช่วยเหลือ การลงถนนจึงเป็นทางเลือกสุดท้ายที่ตัดสินใจ และเมื่อมีผู้คนที่มีความรู้สึกเดียวกันมากขึ้น จึงเป็นพายุแห่งความโกรธและคับข้องใจ ที่ไม่สามารถหยุดลงได้ด้วยการต่อสู้กันไปมาอย่างที่เป็นอยู่
เมื่อถามว่า จะลดความโกรธของผู้ชุมนุมและความโกรธของเจ้าหน้าที่ ที่เผชิญหน้ากันได้อย่างไร ศ.ชัยวัฒน์ มองว่าสาเหตุหนึ่งในอารมณ์ของเจ้าหน้าที่ อาจมาจากการถูกกระทำโดยผู้ชุมนุม เมื่อเห็นคนที่ทำงานด้วยกันบาดเจ็บจากการชุมนุม ก็ทำให้มีอารมณ์ขึ้นมา สิ่งที่จะป้องกันได้ และทั่วโลกทำเหมือนกัน คือให้เครื่องมือป้องกันตัวที่มีคุณภาพแก่เจ้าหน้าที่ เพื่อลดการบาดเจ็บในการปฏิบัติหน้าที่ให้มากที่สุด “เพิ่มระดับของการป้องกันตัว แต่ลดระดับของการโจมตีด้วยอาวุธ”
รัฐบาล : ให้โอกาสประเทศไทย สร้างความเป็นไปได้ใหม่เสมอ
คำถามที่ใหญ่ที่สุด อยู่ที่ฝ่ายผู้มีอำนาจ หรือ “รัฐบาล” ที่ต้องตอบคำถามให้ได้ว่า มีอะไรอีกหรือไม่ ที่ยังไม่ทำ เพื่อลดความขัดแย้งและความรุนแรงในสถานการณ์ปัจจุบัน ? ศ.ชัยวัฒน์กล่าวว่า ตนยินดีที่จะเชื่อว่าฝ่ายรัฐบาล โดยนายกรัฐมนตรีได้พยายามอย่างเต็มที่แล้ว เพื่อควบคุมสถานการณ์ดังกล่าว แต่ผู้มีอำนาจต้องตอบคำถามนี้อยู่เสมอเพื่อสร้างทางเลือกใหม่ ๆ ในการแก้ปัญหาในสังคมอยู่ตลอดเวลา
ถึงแม้ว่าจะพยายามอย่างเต็มที่แล้วก็ตาม แต่ในกลุ่ม “ชนชั้นนำ” ต้องตั้งคำถามว่ามีอะไรอีกหรือไม่ ที่ควรทำ แต่ยังไม่ได้ทำ แล้วถ้าทำจะสามารถสร้างพื้นที่ทางการเมืองใหม่ และอาจเปลี่ยนพลวัตของความขัดแย้งไปได้ด้วยในทางเดียวกัน ทำให้มีทางออกอื่น ที่สามารถผ่อนเบาความรู้สึกของผู้คนลงไปได้
“การให้โอกาสสังคมไทยหมายถึงอะไรบ้างสำหรับฝ่ายการเมือง การหาวิธีเปิดความเป็นไปได้ใหม่ ๆ เปิดพื้นที่ให้ความเป็นไปได้ปรากฏตัวขึ้น ถือเป็นหน้าที่ประการหนึ่งของผู้นำ ผู้นำต้องไม่ใช่แค่ยึดอยู่กับเก้าอี้”
ถ้าทุกฝ่ายตอบคำถามตัวเองได้ จะลดความขัดแย้งได้หรือไม่ ?
ศ.ชัยวัฒน์ กล่าวว่าในการเมืองมีปัจจัยอื่น ๆ อีกเยอะที่เราไม่สามารถควบคุมได้ แต่ในฐานะที่ทำงานด้านสันติวิธี พยายามคิดหาทางออกว่าจะมีหนทางใดบ้าง ที่จะสามารถลดความรุนแรง ความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคต ถึงแม้ตอบคำถามได้แต่ความขัดแย้งก็อาจจะดำเนินอยู่ต่อไป แต่อยู่ในกระบวนการซึ่งยังเห็นอีกฝ่ายเป็นเพื่อนร่วมทุกข์ได้ คือ ขัดแย้งกันได้ แต่ไม่จำเป็นต้องฆ่าฟันกัน เพราะกุญแจของการจัดการอย่างสันติภาพ จะไขออกได้ในความขัดแย้งนั้น ๆ เอง
“หากเรายังขืนสู้รบกันแบบนี้ ถึงวันหนึ่งก็จะมีคนบาดเจ็บล้มตายมากกว่านี้ และถ้าเป็นไปแล้วก็จะหวนคืนไม่ได้ พลวัตความขัดแย้งก็ไปอีกที่หนึ่ง การจัดการก็จะยิ่งยากขึ้น”
ไม่ว่าทั้ง 3 ฝ่ายจะตอบคำถามของตนเองได้หรือไม่ แต่สิ่งสำคัญคือสังคมไทยต้องไม่ชินชากับความรุนแรง และการต่อสู้ที่ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งสูญเสีย ในวาระแห่ง “วันสันติภาพไทย” ทุกฝ่ายจึงต้องร่วม “ให้โอกาสแก่สังคม” หาทางออกภายใต้ความสันติ และมองทุกคนเป็นเพื่อนร่วมชาติ ที่หวังดีต่อประเทศนี้อย่างเท่าเทียมกัน