แพทย์ – นักเศรษฐศาสตร์ จี้รัฐลดส่งออก “แอสตราเซเนกา” เดือน ก.ย.-ต.ค. 64 เหลือ 35%

แนะนายกฯ รีบตัดสินใจก่อนผู้ติดเชื้อรายวันแตะ 30,000-40,000 คน เสียชีวิตมากกว่า 500 คนต่อวัน ห่วงแอสตราเซเนกา ไม่พอฉีดเข็ม 2 เดือน ก.ย.นี้ และรองรับสูตรสลับชนิด ชี้ไทยมีเหตุผลหนักแน่นพอตามรัฐธรรมนูญ 

“ผศ.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์” ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน  คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุ เดือน ก.ย. – ต.ค 64 นี้ ถือเป็นเดือนที่วิกฤตของการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของประเทศไทย  เพราะเป็นเดือนผู้ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกเป็นแอสตราเซเนกาหลายล้านคน มีกำหนดจะได้รับวัคซีนเข็มที่สอง รวมถึงมาตรการฉีดวัคซีนแบบสลับชนิดที่รัฐบาลประกาศใช้คือซิโนแวคเข็มที่  1 และ อีกสามสัปดาห์ให้มาฉีดแอสตราเซเนกาเข็มที่สอง ถือว่าร่นระยะเวลาในการรอคอยเข็มที่สองลงได้กว่า 5 – 9 สัปดาห์ ซึ่งต้องใช้วัคซีนสำหรับ 2 กลุ่มนี้ ราว 7-8 ล้านโดส ทำให้การจัดหาวัคซีนให้พอเพียงเป็นระเบิดเวลาลูกใหญ่ ที่อาจจะทำให้ประชาชนต้องผิดหวัง ถ้าไม่สามารถจัดหาวัคซีนแอสตราเซเนกามาฉีดให้เพียงพอได้  

จากข้อมูลการผลิตวัคซีนแอสตราเซเนกาที่โรงงาน สยามไบโอไซเอนซ์ ของไทยดำเนินการผลิตเต็มศักยภาพได้ถึง 15 ล้านโดสต่อเดือน ในเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา กลับเจียดมาให้คนไทยเพียงเดือนละ 5 ล้านโดส ทำให้วัคซีนที่ประเทศไทยมีไม่เพียงพอจนเกิดเหตุการณ์ที่สถานที่ฉีดวัคซีนต่างๆ ในต่างจังหวัดเงียบเหงาไม่มีวัคซีนฉีดให้ประชาชน กลุ่มต่างๆ โดยเฉพาะประชากรสูงวัย  กลุ่มเสี่ยงสูง 7 กลุ่ม และ หญิงตั้งครรภ์ (กลุ่ม 608) นำมาซึ่งการเสียชีวิตของประชาชนไทยกว่าวันละ 200 คนในหลายวัน 

ขณะที่ สัดส่วนของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั้งหมด พบว่า กว่าร้อยละ 70 เป็นผู้ป่วยกลุ่ม 608 นี้  ซึ่งพบว่าเสียชีวิตกว่า 140 คนต่อวัน 

จากข้อมูลถึง 14 ส.ค. พบว่าประชากรกล่มนี้ 16 ล้านคนได้รับวัคซีน 1 เข็มประมาณแค่หนึ่งในสาม และ ครบ 2 เข็มยังต่ำกว่า 10%  และถ้าต้องการจะให้ยอดผู้เสียชีวิตในกลุ่มนี้ลดลงไปมากกว่าครึ่ง หรือกว่า 70 คนต่อวัน หรือถ้าผู้ป่วยกลุ่ม 608 นี้ได้ฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นกว่า 5 ล้านคนในช่วงเดือน ก.ย. – ต.ค. 64 จะสามารถรักษาชีวิตคนไทยได้ถึง 2,000 คนต่อเดือน และจะมากถึงนับหมื่นรายถ้ารวมการช่วยรักษาชีวิตผู้ป่วยในเดือนต่อๆ มาของการได้รับวัคซีนเพิ่ม 

“ดังนั้น การที่จะมีนโยบายที่จะทำให้มีวัคซีนเพียงพอฉีดคนกลุ่ม 608 ได้รับวัคซีน AstraZeneca ให้เพียงพอในช่วงเดือนกันยายน และ ตุลาคม นี้ จึงเป็นเรื่องความเป็นความตายของประชาชนไทยนับพันนับหมื่นคน มันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ  ที่ผู้นำของชาติต้องให้ความสำคัญอย่างจริงจัง”

ไทยมีเหตุผลหนักแน่นพอที่จะงดส่งออกแอสตราเซเนกา 

“ผศ.นพ.วิชช์” ระบุอีกว่า มีแพทย์และนักวิชาการหลายท่านได้เรียกร้องให้รัฐบาลแสดงเจตจำนงที่แน่วแน่รักษาชีวิตประชาชนนับพัน นับหมื่นคน โดยให้ออกประกาศให้ลดสัดส่วนการส่งออกของวัคซีนแอสตราเซเนกา ที่ผลิตโดยบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ลดลงเหลือเพียง 35% ของที่ผลิตได้ เป็นเวลา 2 เดือนคือ ก.ย. และ  ต.ค.​ จากเดิมในเดือนมิ.ย. และ ก.ค. ส่งออกกว่า 65% ของการผลิตในทุกเดือน ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีวัคซีนแอสตราเซเนกาใช้กว่าเดือนละ10 ล้านโดส ตามที่รัฐบาลเคยสัญญาไว้กับประชาชนไทยทั้งประเทศ 

แม้จะมีเสียงคัดค้านเรื่องจริยธรรมว่าจะไปเบียดบังวัคซีนของประเทศอื่นๆ และเห็นว่าอาจจะเป็น การขัดกับรัฐธรรมนูญของไทยเองบางประเด็น แต่รัฐบาลไทยก็สามารถมีข้อตอบโต้ที่มีน้ำหนักมากกว่า คือ คาดการณ์ว่าความต้องการของแอสตราเซเนกาในประเทศกลุ่มยุโรป และ ญี่ปุ่น จะลดลง เนื่องจากความเกินพอของวัคซีนที่มีอยู่ในประเทศพัฒนาทั้งหลาย และเหตุผลข้างเคียงบางประการ จนทำให้วัคซีนที่เหลือจะหมดอายุ จึงเห็นปรากฎการณ์นำวัคซีนมาบริจาคหรือแลกเปลี่ยนกัน 

“การเบียดบังจะไม่มีทางเกิดขึ้น ถ้าบริษัทแอสตร้าเซนเนก้า บริหารจัดการนำวัคซีนส่วนเกินในประเทศพัฒนาเหล่านี้ส่งให้ประเทศต่างๆ ก่อนมาใช้จากส่วนของสยามไบโอไซเอนซ์ ที่ผลิตในไทย”

ไม่เพียงเท่านั้น  การรักษาชีวิตประชาชนไทยนับพัน นับหมื่นคน จากการลดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนแอสตราเซเนกา ก็เป็นเหตุผลที่หนักแน่นที่จะทำให้รัฐบาลได้ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญไทย เพื่อรักษาชีวิตประชาชนคนไทยจากมหาโรคระบาดร้ายแรงของโลกในรอบศตวรรษ จึงมีน้ำหนักกว่าเรื่องการค้าและสัญญา ที่อ้างถึงอย่างแน่นอน 

อีกทั้ง สัญญาที่ถูกเปิดเผยออกมา ไม่มีข้อตกลงใดที่ผูกมัดห้ามประเทศไทยอย่างเด็ดขาด หากแต่มีเพียงแค่ Letter of Intent ที่แสดงความจำนงสัญญาจะไม่ขัดขวางการส่งออก โดยมีแต่ประโยคต่อท้ายกำกับเพียงว่า การดำเนินการต่างๆ “โดยต้องมีการหารืออย่างสร้างสรรค์” ซึ่งเปิดช่องให้หน่วยงานของประเทศไทยที่เป็นคู่สัญญาสามารถแสดงความจำเป็นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้เพื่อรักษาประโยชน์สาธารณะของชาติ เพื่อที่จะคุ้มครองสิทธิในชีวิตของประชาชนทุกเชื้อชาติที่อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรไทยให้อยู่รอดต่อไปนั่นเองและนี่คือการหารือขอให้เข้าใจอย่างสร้างสรรค์

ทั้งนี้ องคาพยพของรัฐอื่นๆ ต้องช่วยทำหน้าที่ชี้แจงทำความเข้าใจ โดยเฉพาะกระทรวงการต่างประเทศ กระทรวงกลาโหม ที่ต้องทำงานในเชิงเจรจากับประเทศเพื่อนบ้านที่เป็นผู้สั่งซื้อวัคซีนที่อาจมีความต้องการวัคซีนตามความจำเป็นในระดับที่แตกต่างกัน ให้มากกว่านี้ เพื่อให้เข้าใจสถานการณ์ปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศของไทย และผลกระทบที่อาจจะได้รับวัคซีนที่จะได้น้อยลงไปบ้างใน 2 เดือนนี้ ซึ่งเชื่อว่า ฝีมือการเจรจาของทีมไทยแลนด์น่าจะทำความเข้าใจกับฝ่ายต่างๆ ได้ เพราะข้อมูลที่ปรากฏแสดงให้เห็นว่า สถานการณ์ของประเทศอื่นๆ ที่สั่งวัคซีน แอสตราเซเนการอบนี้ ไม่ได้สั่งวัคซีนหลักแค่ 1-2 ตัวแบบบ้านเรา แม้สถานการณ์เขาจะไม่แย่และขาดแคลนเท่าไทย ถ้าได้แอสตราเซเนกาน้อยลงในช่วง ก.ย.และ ต.ค. ก็ไม่น่าจะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงเมื่อเปรียบเทียบกับสถานการณ์วิกฤตในประเทศไทยที่ยากแก่การเยียวยา

กลุ่มประชาชนและนักวิชาการจึงอยากจะเรียกร้องให้ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายอนุทิน ชาญวีรกุล ได้มีจิตใจที่แน่วแน่และเด็ดเดี่ยวที่จะใช้อำนาจตามกฎหมาย ลงนามในประกาศกระทรวงสาธารณสุข ตาม. พ.ร.บ.ความมั่นคงด้านวัคซีนแห่งชาติ พ.ศ. 2561 มาตรา 18 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกโดยชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และเป็นการใช้อำนาจรัฐตามหลักนิติธรรมที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ เพื่อแก้ไขปัญหาของชาติให้ตรงจุดอย่างมีเหตุมีผลตามความจำเป็นในการลดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนแอสตราเซเนกาในเดือน ก.ย. และ ต.ค. โดยให้ลดลงต่ำกว่า 35%  จะทำให้มีวัคซีนอีกกว่า 10 ล้านโดสให้คนไทยได้อย่างทันกับสถานการณ์การระบาดและการตายจากโรคโควิด-19  จะเป็นเครื่องนำทางประเทศไทยให้หลุดพ้นจากวิกฤตโควิต-19  โดยลดความสูญเสียชีวิตคนไทยนับพันนับหมื่นคนลง บนเส้นทางสู่ชัยชนะเหนือมหาวิกฤติโรคระบาดร้ายแรงครั้งนี้ไปให้ได้อย่างแท้จริง

นายกฯ มีอำนาจเคาะลดส่งออกเพียงผู้เดียว

รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาวิจัยแห่งชาติสาขาเศรษฐศาสตร์ กล่าวว่า รัฐบาลต้องใช้ กฎหมายความมั่นคงทางวัคซีนเพื่อจำกัดจำนวนการส่งออกแอสตราเซเนกา ก่อนที่ตัวเลขติดเชื้อรายวันจะพุ่งแตะ 30,000-40,000 คนและผู้เสียชีวิตมากกว่า 500 คนต่อวัน 

“รัฐไทยมีอำนาจอธิปไตยสมบูรณ์ในการบังคับใช้กฎหมาย บริษัทต้องส่งมอบวัคซีนตามความต้องการของรัฐไทยเพื่อป้องกันการสูญเสียชีวิตของคนไทยรัฐบาลต้องรีบเจรจากับบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ หากบริษัทเห็นว่า การปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายวัคซีนสำคัญกว่าชีวิตคนไทย” 

“รศ.อนุสรณ์” เสนอให้กำหนดสัดส่วนการส่งออกได้เฉพาะที่เกิน 6 ล้านโดสเป็นเวลา 5 เดือน เพื่อประเทศไทยจะได้มีวัคซีนใช้อย่างน้อย 6 ล้านโดสต่อเดือน แต่การตัดสินใจนี้จะอยู่ที่ นายกรัฐมนตรีผู้เดียว เดิมเป็นอำนาจของรัฐมนตรีสาธารณสุข เนื่องจากมีการออกพระราชกฤษฎีกาโอนอำนาจให้นายกรัฐมนตรี และหวังว่า นายกรัฐมนตรีจะใช้อำนาจนี้ในการดูแลประชาชนชาวไทยและต้องดำเนินการระงับการส่งออกเกินสัดส่วนเพื่อให้วัคซีนเพียงพอใช้ภายในประเทศภายในเดือนนี้เป็นอย่างช้า รีบตัดสินใจก่อนทุกอย่างจะสายเกินเยียวยา ก่อนที่จะช้าเกินไปและระบบสาธารณสุขและระบบเศรษฐกิจต้องล่มสลายลง 

การกำหนดสัดส่วนการส่งออกวัคซีนไปนอกราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว ไม่ได้ทำให้ “ไทย” เสียความน่าเชื่อถือแต่อย่างใด เพื่อให้เราจะได้มีวัคซีนเพียงพอใช้ในประเทศเพื่อปกป้องชีวิตคนไทย สุขภาพและระบบเศรษฐกิจ นอกจากนี้ควรเปิดให้ เอกชน และ โรงพยาบาลเอกชน สามารถนำเข้าวัคซีนได้ภายใต้การประกันของรัฐเพื่อให้เกิดความมั่นใจต่อบริษัทวัคซีน เป็นอีกช่องทางหนึ่งเพื่อให้มีวัคซีนเพียงพอต่อการฉีด เพราะค่อนข้างชัดว่า ประสิทธิภาพหรือความสามารถในการฉีดวัคซีนของไทยนั้นดี แต่ปัญหาคือ ไม่มีวัคซีนให้ฉีด

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS