ที่ปรึกษาแพทย์ชนบทแจ้งความ ผอ.องค์การเภสัชฯ แอบอัด-ปล่อยคลิปเสียง ปม ATK ด้าน “อภ.” ถาม สปสช.-รพ.ราชวิถี ทำไมไม่ระบุบริษัท-ยี่ห้อที่ต้องการแต่แรก จะได้เจาะจง ไม่ต้องประกวดราคา
17 ส.ค. 2564 – แถลงการณ์ชมรมแพทย์ชนบท ฉบับที่ 3 “ชมรมแพทย์ชนบทและภาคประชาชนระดม 60 ทีม พร้อมตรวจสอบ ATK เจ้าปัญหา”โดย นพ.สุภัทร ฮาสุวรรณกิจ
การประมูล ATK 8.5 ล้านชิ้น ที่มีการยกทีมทั้ง กระทรวงสาธารณสุข อย. องค์การเภสัชกรรม สปสช. คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มาแถลงข่าวยืนยันการจัดซื้อตามผลการประมูลที่ได้บริษัทออสท์แลนด์ แคปปิตอล จำกัด เสนอ ATK ยี่ห้อ LEPU โดยที่มีข้อกังขาถึงคุณภาพและความแม่นยำ สะท้อนชัดว่า การประมูลครั้งนี้ไม่ธรรมดา
หากทางกระทรวงสาธารณสุขจะอาศัยโอกาสที่มีการร้องเรียนถึงข้อกังขาในคุณภาพของ ATK ที่ผ่านการประมูล ก็สามารถทดสอบชุดตรวจ ATK LEPU และยี่ห้ออื่นใดในสนามจริงได้ ใช้เวลาเพียง 3-4 วันก็ทราบผล ว่าชุดตรวจ ATK ดังกล่าว มีประสิทธิภาพจริงดังที่ระบุไว้หรือไม่ แต่กลับไม่ทำ คงเพราะไม่มั่นใจในผลการทดสอบในสนามจริงเช่นกัน (ข้อมูลจากการวิจัยที่ปากีสถานในวารสาร Virology Journal ที่ศึกษาในกลุ่มตัวอย่าง 33,000 คน สรุปชัดเจนให้ยกเลิกการใช้ ATK ยี่ห้อ LEPU เพราะมีผลการตรวจที่ไม่แม่นยำ)
กระทรวงสาธารณสุขได้ยกทุกองคาพยพมาแถลงข่าวเพื่อยืนยันการจัดซื้อต่อไปว่าถูกต้องตามขั้นตอนแล้ว การทำถูกต้องตามขั้นตอนไม่ได้แปลว่าจะได้ของดีมีคุณภาพที่ราคาเหมาะสมเสมอไป อาจมีผลประโยชน์แอบแฝงหรือได้สินค้าที่คุณภาพไม่ดีพอกับสถานการณ์วิกฤตมาใช้ก็เป็นได้ ดังนั้นชมรมแพทย์ชนบทจึงเห็นว่า กระทรวงสาธารณสุขยังไม่พยายามปกป้องภาษีประชาชนอย่างเต็มกำลัง
- อ่านต่อ สธ.ยกทีมแถลงปมชุดตรวจ LEPU หากได้มาตรฐานพร้อมแจกทันที (รอพี่เอ้ตรวจ)
อำนาจการจัดซื้ออยู่ที่องค์กรรัฐ แต่อำนาจการตรวจสอบหลังการจัดซื้ออยู่ที่พวกเราภาคประชาชนเช่นกัน ดังนั้น ชมรมแพทย์ชนบทร่วมกับเครือข่ายภาคประชาชนที่ได้ปฏิบัติการบุกกรุงทั้ง 3 ครั้ง ได้ออกแบบปฏิบัติการครั้งที่ 4 จะระดมทีมปฏิบัติการ 60 ทีมในทุกภาค เพื่อเข้าตรวจสอบชุดตรวจ ATK ที่ได้รับการประมูลว่ามีคุณภาพทั้ง sensitivity และ specificity ดังที่กล่าวอ้างหรือไม่ มีผลบวกปลอมและผลลบปลอมในสัดส่วนที่เกินกว่าจะรับได้หรือไม่ ทั้งนี้ เราจะเริ่มปฏิบัติการทันทีที่ชุดตรวจได้กระจายลงสู่พื้นที่ และหากผลการตรวจสอบพบว่าชุดตรวจมีคุณภาพต่ำเกินกว่าที่จะรับได้ เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ
ปฏิบัติการครั้งนี้ เป็นปฏิบัติการเพื่อปกป้องประชาชน ให้คนไทยได้รับชุดตรวจที่มีมาตรฐานสูง ทำไมคนไทยจะได้รับชุดตรวจ ATK หรือ วัคซีนที่มีประสิทธิภาพไม่ได้ ทำไมรถประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต้องเป็นเบนซ์ เครื่องบินรบต้องเป็นF16 แต่วัคซีนและชุดตรวจATK ต้องเป็นยี่ห้อที่มีข้อกังขา
ทราบว่า ทางกระทรวงสาธารณสุขจะใช้งบอีก 180 ล้านจัดซื้อ ATK อีกล็อต เพื่อแจกจ่ายให้บุคลากรสุขภาพ จริงเท็จประการใด ใช้งบก้อนใด จัดซื้ออย่างไรLEPU อีกหรือไม่ ชมรมแพทย์ชนบทยืนยันว่า “เรื่อง ATK นี้ไม่ธรรมดา” ฝากประชาชนคนไทยทุกคนติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป
“นพ.อารักษ์” แจ้งความ ผอ.องค์การเภสัช
เมื่อวันที่ 16 ส.ค.2564 นพ.อารักษ์ วงศ์วรชาติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสิชล ในฐานะที่ปรึกษาชมรมแพทย์ชนบท แจ้งความดำเนินคดีกับ นพ.วิฑูรย์ ด่านวิบูลย์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) ในข้อหาหมิ่นประมาท พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ และ พ.ร.บ.โทรคมนาคม กรณี นพ.วิฑูรย์แอบอัดคลิปเสียงสนทนาระหว่างนพ.อารักษ์ กับ นพ.วิฑูรย์
โดย นพ.อารักษ์ ชี้แจงว่าเสียงในคลิป คือวันที่ 3 ส.ค.2564 ซึ่งเป็นวันเตรียมการและปฐมนิเทศทีมแพทย์ชนบทและโรงพยาบาลต่างๆ กว่า 40 ทีมที่มาร่วมบุกกรุง ที่ประชุมมีความกังวลถึงความเพียงพอของชุดตรวจ ATK ที่จะใช้ในปฏิบัติการ ดังนั้น นพ.อารักษ์ ในฐานะแกนหลักในปฏิบัติการแพทย์ชนบทบุกกรุงที่มาด้วยตนเองทั้ง 3 ครั้ง และเป็นคณะกรรมการต่อรองราคาของ สปสช.ที่มีหน้าที่ต่อรองราคาเพื่อให้ได้ ATK คุณภาพสูงราคาเหมาะสมมาใช้ จึงได้โทรศัพท์ไปหา นพ.วิฑูรย์ ผอ. อภ. เพื่อทวงถามความคืบหน้าที่มีการดำเนินการจัดซื้อที่ล่าช้า และแจ้งให้ทราบถึงข้อห่วงกังวลของผู้ใช้ ATK ที่ต้องการ ATK มาตรฐานสูงในระดับองค์การอนามัยโลก WHO ที่มีอยู่ 2 บริษัท และไม่อยากให้มีการลดสเปคเพื่อเปิดทางให้ ATK คุณภาพต่ำเข้ามาขาย นี่คือวัตถุประสงค์ของการพูดคุยทางโทรศัพท์ในฐานะวิชาชีพแพทย์ด้วยกัน แต่ นพ.วิฑูรย์ได้แอบอัดคลิปเสียงโดยไม่ได้แจ้งให้ทราบ และส่งต่อให้กับสื่อ เช่น TOPNEWS เพื่อเผยแพร่ในลักษณะที่นำมาบิดเบือนสร้างความเสียหายต่อตนและชมรมแพทย์ชนบท
“การกระทำดังกล่าวของผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ที่แอบอัดเสียงการสนทนา เป็นการกระทำที่สะท้อนความต่ำเตี้ยทางจริยธรรมและไม่เหมาะสมอย่างยิ่งในฐานะผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม ต่อไปใครจะติดต่อใด ๆ กับผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรมคนนี้ก็ขอให้ระวังตัวจะถูกอัดเสียงมาใช้ข่มขู่คุกคาม”
นพ.อารักษ์ กล่าวอีกว่า มั่นใจในพยานหลักฐานที่เตรียมไว้จำนวนมาก ส่วนสื่อมวลชนจะกันไว้เป็นพยานเท่านั้น เพื่อเอาผิด นพ.วิฑูรย์หลายข้อหาหนัก ไม่เฉพาะข้อหาหมิ่นประมาทและผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่ยังจะดำเนินคดีในข้อหาผิดตาม พ.ร.บ.โทรคมนาคม และกฎหมายความมั่นคง กรณีแอบอัดคลิปเสียงสนทนาไปเผยแพร่ ทำให้ตนได้รับความเสียหาย มีโทษหนัก จำคุก 5 ปี และปรับ 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ขอยืนยันไม่ยอมความอย่างแน่นอน ที่สำคัญความผิดกรณีแอบอัดคลิปเสียงสนทนาไปเผยแพร่ยังมีความผิดทางวินัยโทษถึงออกราชการด้วย
ทำไมชุดตรวจ ATK เป็นโครงการของ สปสช. แต่จัดซื้อเองไม่ได้
รศ.อนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิสภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ ซึ่งติดตามความเคลื่อนไหวการประมูลชุดตรวจ ATK มาโดยตลอด อธิบายว่า เดิม สปสช.เจาะจงจะซื้อชุดตรวจ ATK จำนวน 2 ยี่ห้อ ที่องค์การอนามัยโลก หรือ WHO รับรอง ทั้ง 2 ยี่ห้อมีผลคลาดเคลื่อนไม่ถึง 1% เพราะเขาซื้อแจกเขาใช้ทั่วโลกมาแล้ว ไม่ว่าจะเป็นอินเดีย อินโดนีเซีย ฯลฯ
นอกจากนี้ ยังต่อรองราคาได้เหลือเพียง 120 บาท จากที่ WHO ซื้อประมาณ 150 บาท ส่วนอีกยี่ห้อหนึ่ง ขายให้ WHO ประมาณ 160 บาท แต่ลดให้เรา 140 บาททั้งหมดเป็นราคาที่รวมค่าขนส่ง สปสช.จึงผลักดันจนเป็นที่มาของการอนุมัติงบฯกว่า 1 พันล้านบาท เมื่อวันที่ 19 กรกฎาคมที่ผ่านมา
แต่ท้ายที่สุด อภ. ไม่ยึดหลักตามที่ สปสช. ส่งมาให้ แล้วไปจัดซื้อATK จากจีนซึ่งคุณภาพต่ำ แม้ราคาถูก แต่ถ้าใช้ไม่ได้หรือไม่มีคุณภาพ มันก็คือการสูญเปล่าทางงบประมาณแล้วยังไม่ได้ทำให้การแก้ไขวิกฤตโควิดดีขึ้นด้วย หรืออาจแย่ลงไปอีก เพราะตรวจแล้วไม่รู้ว่าติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อแน่ หน่วยงานอาหารและยาของสหรัฐและหลายประเทศก็ไม่รับรองอีกต่างหาก
รศ.อนุสรณ์ ระบุอีกว่า เหตุผลที่ สปสช.ไม่สามารถทำเรื่องตรงไปที่ อภ. ได้ เนื่องจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) ในยุค คสช.ระบุว่า สปสช.ไม่มีสิทธิซื้อเอง ต้องตั้งเรื่องผ่านโรงพยาบาลราชวิถีที่เป็นตัวแทนเครือข่ายผู้ให้บริการ ไปให้ อภ. เป็นผู้จัดซื้อแทน นี่ก็เป็น คำสั่งของ คสช. ที่ไม่เข้าท่าและไม่สอดคล้องกับสถานการณ์วิกฤตที่สุด
“ควรพิจารณายกเลิก เรื่องจัดซื้อ ATK นี้ ถามว่า ใครต้องรับผิดชอบ ทำให้การแก้ปัญหาโควิดล่าช้า คนติดเชื้อเพิ่มขึ้นทุกวัน คนตายเพิ่มขึ้นทุกวัน ต้องมีคนต้องรับผิดชอบต่อความเสียหาย หากสุจริตก็ไม่เป็นไร แต่ หากกระทำโดยเจตนาไม่สุจริต ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม นิรโทษกรรมไม่ได้”
อภ. ยันซื้อ ATK 8.5 ล้านชุด ตาม TOR ที่ สปสช. กำหนด
ต่อมา ศิรินุช ชีวันพิศาลนุกูล รองผู้อำนวยการ อภ. ได้ส่งเอกสารข่าวต่อสื่อมวลชน ระบุว่า การจัดซื้อชุดตรวจ ATK จำนวน 8.5 ล้านชุดตามโครงการพิเศษของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือ สปสช. อย่างเร่งด่วน นั้น อภ. ได้ดำเนินการจัดซื้อตามเนื้อหาหลักของ TOR ที่ สปสช.กำหนดมา ซึ่ง TOR ล่าสุดไม่ได้มีการระบุว่าต้องเป็นมาตรฐาน WHO ทั้งนี้เป็นไปตามหนังสือของโรงพยาบาลราชวิถีส่งมาให้ อภ. ลงวันที่ 2 สิงหาคม 2564 พร้อมได้แนบหนังสือของ สปสช. ลงวันที่ 1 สิงหาคม 2564 ซึ่งแนบ TOR ที่ลงนามโดยประธานคณะทำงานกำหนดอัตราค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ มาด้วย
หลังจากนั้น อภ. ได้มีการประสานงานกับ สปสช.และโรงพยาบาลราชวิถีเพื่อปรับในรายละเอียดบางส่วนของ TOR บางประการเช่นการกำหนดเวลาส่งมอบที่กระชั้นชิด จากเดิมวันส่งมอบซึ่งระบุเป็นวันที่ 10 สิงหาคม ได้ปรับเป็นส่งมอบภายใน 14 วันหลังจากวันลงนามในสัญญา รวมถึงประเด็นที่ได้รับการทักท้วงจากผู้ขายและได้ดำเนินการตามความเห็นของ สปสช อาทิ จากเดิมให้ใช้ตัวอย่างตรวจเป็น “Nasal /Nasopharyngeal swab” ได้ปรับเป็น “Nasal swab หรือตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง ชุดตรวจและน้ำยาที่เกี่ยวข้องกับการวินิจฉัยการติดเชื้อ SARS-CoV2 (เชื้อก่อโควิด-19) ฯ พ.ศ. 2564 ข้อ 10 ปรับค่าจากเดิม “ความจำเพาะ(Specificity) ไม่น้อยกว่าร้อยละ 97” ได้ปรับเป็น “ไม่น้อยกว่า ร้อยละ 98” เพื่อให้ได้ ATK ที่มีคุณภาพตามมาตรฐานของ อย. ไม่เอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทใดบริษัทหนึ่ง เปิดกว้างในการแข่งขันมากขึ้น และเป็นไปตามความต้องการตาม TOR ของ สปสช. และโรงพยาบาลราชวิถี พร้อมทั้งดำเนินการจัดซื้อโดยวิธีคัดเลือก เนื่องจากมีผู้ขายมากกว่า 1 ราย ซึ่งสามารถดำเนินการเร่งด่วนได้เช่นกัน พร้อมกันนั้นได้เร่งส่ง TOR ให้บริษัททั้ง 24 บริษัทซึ่งเป็นบริษัทตามประกาศของ อย.ในขณะนั้น กำหนดยื่นเสนอเอกสารและเปิดซองราคาในวันที่ 10 สิงหาคม ใช้เกณฑ์ราคาต่ำสุด
โดยในวันเสนอราคามีบริษัทเข้าร่วมเสนอราคา 19 บริษัท ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติ 16 บริษัท และได้ผลิตภัณฑ์ ATK ยี่ห้อ “SARS-CoV-2 Antigen Rapid Test Kit” ของ บริษัทออสแลนด์ แคปปิตอล จำกัด โดยผู้แทนจำหน่ายคือบริษัทเวิลด์ เมดิคอล อัลไลแอนซ์ (ประเทศไทย) เป็นผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด ราคาประมาณชุดละ 70 บาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยเสนอราคาต่ำกว่าวงเงินงบประมาณที่ สปสช.ตั้งไว้ ทำให้ประหยัดงบประมาณภาครัฐได้กว่า 400 ล้านบาท
รองผู้อำนวยการ อภ. ระบุต่อไปว่า การจัดซื้อATKครั้งนี้ ถ้าหากสปสช.และโรงพยาบาลราชวิถี พิจารณาเห็นว่ามีผู้ขายเพียงรายเดียวที่มีคุณสมบัติถูกต้องตามที่ต้องการ ทั้ง 2 หน่วยงานสามารถระบุ ยี่ห้อและ/หรือบริษัท พร้อมเหตุผลความจำเป็นที่ชัดเจนในการต้องระบุยี่ห้อ มาให้แก่ อภ. เพื่อจัดซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจงได้ แต่การจัดซื้อครั้งนี้ทั้ง 2 หน่วยงานไม่ได้มีการระบุมาให้ อภ. จึงดำเนินการจัดซื้อตามข้อบังคับองค์การเภสัชกรรมว่าด้วยการพัสดุเพื่อการผลิตและจำหน่าย พ.ศ. 2561 โดยวิธีคัดเลือกเนื่องจากมีผู้ขายหลายราย ซึ่งสามารถดำเนินการภายในระยะเวลาเร่งด่วนได้เช่นกัน
ทั้งนี้ ข้อบังคับขององค์การเภสัชกรรมว่าด้วยการพัสดุเพื่อการผลิตและจำหน่าย พ.ศ.2561 ที่ประกาศในราชกิจจานุเบกษา วันที่ 1 กรกฎาคม 2561 เป็นหลักเกณฑ์การจัดซื้อจัดจ้างของรัฐวิสาหกิจที่เกี่ยวกับการพาญิชย์โดยตรง ที่ออกตาม พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ พ.ศ. 2560 และประกาศคณะกรรมการนโยบายการจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ ข้อบังคับฯจะกำหนดเงื่อนไขหลักเกณฑ์ของการซื้อโดยวิธีคัดเลือกไว้ในข้อ 11 และวิธีเฉพาะเจาะจงในข้อ 13 โดยสามารถซื้อโดยวิธีเฉพาะเจาะจงกรณีเป็นพัสดุเพื่อการผลิตและจำหน่ายที่จำเป็นต้องซื้อตามความต้องการของลูกค้าตามข้อ 13 (4)