สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ วิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัย เริ่มมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจนถึงเดือนตุลาคม ครึ่งหลังเดือน ส.ค. 64 จะมีพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย 44 จังหวัด โดยภาคเหนือมีพื้นที่น้ำท่วมฉับพลันมากที่สุด
2-3 วันนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสถานการณ์อุทกภัยหลายจังหวัด ทางภาคเหนือที่จังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ และภาคใต้ จังหวัดนครศรีธรรมราช ซึ่งเกิดความเสียหายแล้วหลายหมู่บ้าน แต่นี้ถือเป็นช่วงแรก ๆ ที่ปริมาณฝนตกสะสมเพิ่มขึ้น ซึ่งครึ่งปีหลัง ของปี 2564 ความเข้มของฝนจะสูงขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอกาศ
สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ เปิดผลวิเคราะห์การคาดการณ์ฝนเดือนสิงหาคม 2564 พบว่ามีปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติในหลายจังหวัด ประมาณ ร้อยละ 10 -20 ส่วนใหญ่อยู่ทางภาคเหนือ ภาคอีสานตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคใต้บางแห่ง (จากภาพ จะพบพื้นที่สีฟ้าเข้ม คือ ปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติร้อยละ 20 ส่วนสีฟ้าอ่อน คือปริมาณฝนมากว่าค่าปกติร้อยละ 10 )
สำหรับคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมฉับพลันและน้ำท่วมขัง ในเดือนสิงหาคม 2564 พบว่า จะยังคงพบมากทางภาคเหนือ เป็นส่วนใหญ่ เชียงราย แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ลำพูน ตากลำปาง พะเยา น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ พิษณุโลก เพชรบูรณ์ ภาคอีสาน ชัยภูมิ บึงกาฬ ภาคใต้ ชุมพร พังงา กระบี่ และตรัง (จากภาพ จะพบพื้นที่สีฟ้าเข้ม คือ พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน ส่วนสีฟ้าอ่อน คือพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมขัง )
แต่จากตารางพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยเดือนสิงหาคม ปี 2564 -มกราคม 2565 พบว่า แนวโน้มพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยมากขึ้น ในเดือนสิงหาคมเสี่ยง 44 จังหวัด 216 อำเภอ 756 ตำบล ส่วนเดือนกันยายน เสี่ยง 55 จังหวัด 347 อำเภอ 1375 หมู่บ้าน ขณะที่ตุลาคม มีความเสี่ยง 58 จังหวัด 347 อำเภอ 1492 หมู่บ้าน หลังจากสิ้นสุดฤดูฝน พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยจะมีแนวโน้มลดลงเรื่อยๆ
ขณะกรมชลประทาน ยืนยันพร้อมรับมือน้ำท่วมหลาก หลังหลายฝ่ายกังวลปัญหาน้ำหลากและน้ำท่วมหนัก แต่ยืนยันเขื่อนยังรับน้ำได้อีกมาก หากฝนตกมากทางภาคเหนือ
ทวีศักดิ์ ธนเดโชพล รองอธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ขณะนี้อ่างเก็บน้ำขนาดกลางและขนาดใหญ่ทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกัน 38,379 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ ร้อยละ 50 ของความจุอ่างรวมกัน เป็นน้ำใช้การได้ 14,450 ล้านลูกบาศก์เมตร ยังรับน้ำรวมกันได้อีกกว่า 37,689 ล้านลูกบาศก์เมตร เฉพาะ 4 เขื่อนหลักลุ่มเจ้าพระยา (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน เขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกัน 8,229 ล้านลูกบาศก์เมตรหรือร้อยละ 33
ส่วนผลการเพาะปลูกข้าวนาปี ปี2564 ทั้งประเทศทำการเพาะปลูกไปแล้วรวม 13.69 ล้านไร่ เก็บเกี่ยวแล้วรวม กว่า 5 แสน 6 หมื่นไร่ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยาเพาะปลูกแล้ว 6.39 ล้าน ไร่ เก็บเกี่ยวแล้วประมาณ 5 แสน 2 หมื่นไร่ สำหรับในพื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ เพาะปลูกแล้วรวม 265,000 ไร่ เก็บเกี่ยวแล้ว 237,033 ไร่
ปีนี้ได้เตรียมความพร้อมพื้นที่ลุ่มต่ำต่างๆ เพื่อรองรับน้ำหลาก เช่น พื้นที่ลุ่มต่ำบางระกำ (ลุ่มน้ำยม) พื้นที่ลุ่มต่ำ 12 ทุ่ง (ลุ่มน้ำเจ้าพระยา) ประกอบด้วย ทุ่งเชียงราก ทุ่งท่าวุ้ง ทุ่งฝั่งซ้ายคลองชัยนาท-ป่าสัก ทุ่งบางกุ่ม ทุ่งบางกุ้ง ทุ่งบางบาล-บ้านแพน ทุ่งป่าโมก ทุ่งผักไห่ ทุ่งเจ้าเจ็ด โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาโพธิ์พระยา โครงการส่งน้ำและบำรุงรักษาพระยาบรรลือ และโครงการส่งน้ำและบำรุงรักษารังสิตใต้ สำหรับปี 2564 นี้ได้เตรียมความพร้อมพื้นที่ลุ่มต่ำเพิ่มเติมอีก 2 ทุ่ง ได้แก่ ทุ่งนางาม(ลุ่มน้ำยัง) จ.กาฬสินธุ์ และพื้นที่ ลุ่มต่ำลุ่มน้ำบางพลวง จ.ปราจีนบุรี ควบคู่กับการเตรียมพร้อมเครื่องจักร เครื่องมือกว่า 5,000 หน่วย ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆทั่วประเทศ ซึ่งสามารถเข้าไปให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที
แต่ภาพรวมแนวโน้มน้ำจะมากหรือน้อยในปีนี้ ยังต้องดูเรื่องของพายุ และสภาพแวดล้อม หากมีพายุพาดผ่านมาประมาณ 1-2 ลูก บางจุดอาจเสี่ยงท่วม ตามทิศทางของอิทธิพลของพายุที่จะเข้าด้วย ส่วนเดือนกันยายนอาจมีแนวโน้มสถานการณ์เพิ่มขึ้นอีก ดังนั้นปีนี้ต้องเฝ้าระวังเพราะฝนเริ่มมากขึ้นแล้ว