“ชาวเลอูรักลาโว้ย” นำอัฐิและรูปถ่าย ชาวเล เสียชีวิตจากโควิด ลงเรือกลับบ้านเกิด หลายฝ่ายระดมความช่วยเหลือ ส่งข้ามทะเล สาธารณสุข เล็ง ปูพรมตรวจเชิงรุกทั่วทั้งเกาะ ค้นหาผู้ป่วย ควบคุมโรคทันเปิดเกาะเดือนหน้า
เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 2564 ที่ วัดชนาธิปเฉลิม อ.เมืองจังหวัดสตูล ตัวแทนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ – เกาะอาดัง ที่พักอาศัยใน อ.เมืองจังหวัดสตูล เป็นตัวแทนญาติชาวเลของ นาวี ทะเลลึก อายุ 51 ปี ที่เสียชีวิตจากโควิด-19 เมื่อวันที่ 19 ส.ค. ที่ผ่านมา ทำพิธีเก็บอัฐิ และเชิญอัฐิกลับเกาะอาดัง
ปิ่นมณี หาญทะเล ตัวแทนชาวเลเกาะหลีเป๊ะ และเกาะอาดัง กล่าวภายหลังได้เป็นตัวแทนร่วมพิธีเผาศพ และเก็บอัฐิครั้งนี้ ถือเป็นความสูญเสียที่ชาวเลและทุกฝ่ายไม่อยากให้เกิดขึ้น และอยากให้การสูญเสียหยุดเพียงเท่านี้ หวังให้สถานการณ์บนเกาะคลี่คลาย เพื่อให้พี่น้องชาวเล และทุกชีวิตบนเกาะหลีเป๊ะปลอดภัย
จากนั้นได้นำอัฐิจากวัดชนาธิปเฉลิม มาที่ท่าเรือปากบารา เพื่อฝากให้ชาวเลที่หายป่วยจากการรักษาโควิด-19 ที่เตรียมเดินทางกลับเกาะหลีเป๊ะวันนี้ นำส่งให้ญาติที่เกาะอาดัง
พร้อมทั้งนำภาพถ่ายของ อูโสบ ยาดำ หมอพื้นบ้านชาวเลเกาะหลีเป๊ะ อายุ 70 ซึ่งติดเชื้อโควิด-19 และเสียชีวิตก่อนหน้านี้ อัดกรอบรูปฝากส่งไปให้ญาติที่เกาะหลีเป๊ะตามคำร้องขอ เพื่อบูชาและเป็นที่ระลึกให้กับลูกหลาน เนื่องจากร่างของอูโสบ ได้รับการประกอบพิธีทางศาสนาและฝังที่กุโบในเมืองสตูล ไม่สามารถนำกลับบ้านเกิดได้
ผู้ติดเชื้อ 4 คน ที่รักษาหายแล้ว และได้เดินทางกลับเกาะหลีเป๊ะในวันเดียวกัน หนึ่งในนั้นบอกว่า แม้จะดีใจที่ตัวเองหายปลอดภัยได้กลับบ้าน แต่รู้สึกเสียใจ ที่พี่น้องชาวเลอีก 2 คน ที่มารักษาด้วยกัน ไม่ได้กลับไปด้วย ถือเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของพี่น้องชาวเลทุกคน
“เรารอดปลอดภัย เราดีใจ แต่ก็เสียใจมากที่พี่น้องชาวเลอีก 2 คน ไม่มีชีวิตกลับบ้านไปพร้อมกัน เข้าใจว่านี่เป็นสถานการณ์ที่ไม่มีใครอยากให้เกิด และขอให้กำลังใจทีมควบคุมโรค แพทย์ พยาบาล เจ้าหน้าที่ รพ.สต. หน่วยงานทุกภาคส่วน ที่ทำหน้าที่เต็มที่ในการดูแลรักษาช่วยเหลือทุกชีวิตบนเกาะหลีเป๊ะ และเกาะอาดัง”
ปูพรม ตรวจเร็ว รู้เร็ว จ่ายยาเร็ว หายเร็ว ลดการตาย คุมระบาดตามเป้า
พงษ์ธร แก้วผนึก ผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล กล่าวว่าสถานการณ์ COVID 19 เกาะหลีเป๊ะและเกาะอาดัง เมื่อวันที่ 22 ส.ค. 64 ตรวจพบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่ม 2 คน ผู้ป่วยสะสม 203 คน รักษาหายสะสม 61 คน ทีมสาธารณสุข และทุกภาคส่วนในพื้นที่ ต่างร่วมมือให้ความช่วยเหลือดูแลเพื่อควบคุมโรคกันอย่างเต็มที่ กรณีของผู้เสียชีวิต 2 ราย เป็นผู้มีโรคประจำตัว ทั้งความดัน เบาหวาน และกว่าจะตรวจพบว่าติดเชื้อ ก็แสดงอาการแล้ว ซึ่งตรงนี้เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าการเร่งตรวจหาเชื้อ รีบจ่ายยา รักษาให้ไว คือหัวใจสำคัญของการคุมระบาดและลดการเสียชีวิต
“หากมีชุดตรวจที่เพียงพอ การตรวจแบบปูพรมในพื้นที่ทั้งหมด ซึ่งมีประชากรอยู่ราว ๆ 1,500 คน นั้นเป็นหัวใจสำคัญ เพราะตรวจเร็ว รู้เร็ว พบผู้ติดเชื้อ จ่ายยารักษาเร็ว ก็จะลดอัตราการเสียชีวิตได้มากขึ้น จริง ๆ มีแผน และความตั้งใจอยู่แล้ว ว่าจะรอทิ้งช่วงระยะฟักตัว ถัดจากนี้อีก 9 วัน หากได้ปูพรมตรวจ จะทำให้เห็นสถานการณ์ สามารถจัดการควบคุมโรคได้ตรงเป้าและครอบคลุม”
สอดคล้องกับความเห็น แสงโสม หาญทะเล ตัวแทนชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ ที่อยากให้ทุกภาคส่วนช่วยกันทำให้คุมระบาดเกาะหลีเป๊ะ ให้ได้ภายใน 1 เดือน ที่มีคำสั่งปิดเกาะ จริง ๆ การตรวจแค่ตามบ้านเสี่ยงสูง และเฉพาะคนที่มีอาการ อาจไม่เพียงพอ หากต้องการให้จบจริง ๆ ต้องปูพรมระดมกำลังตรวจทั้งหมด เพื่อที่จะคัดกรองว่าใคร มีเชื้อ ไม่มีเชื้อ ที่สำคัญไม่ใช่แค่ตรวจอย่างเดียว แต่ต้องเตรียมพร้อม จัดสถานที่รองรับให้เหมาะสมเพียงพอด้วย
ด้าน นพ.สมบัติ ผดุงวิทย์วัฒนา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสตูล เห็นว่า เรื่องการตรวจเชิงรุกแบบปูพรมในพื้นที่เกาะหลีเป๊ะ ขณะนี้อยู่ระหว่างพูดคุยกับผู้ประกอบการ ว่า ก่อนจะเปิดเกาะจะตรวจทุกคนหรือไม่ เพื่อสร้างความมั่นใจ แต่ผลตรวจที่อาจมีโอกาสคลาดเคลื่อน อาจจะส่งผลให้ผู้ที่ผลเป็นลบ คิดว่าตัวเองปลอดภัยแล้ว วางใจและลดความระมัดระวังในการป้องกันตัวเอง เพราะบางครั้งอาจตรวจในช่วงที่ยังไม่มีเชื้อ การใช้เครื่องมือนี้จึงต้องใช้ในห้วงเวลาเหมาะสม การแปลผลก็ต้องมีการซักประวัติเข้ามาประกอบด้วย ไม่ใช่ผลลบและไม่มีการดูแลสุขอนามัยจะเสียเปล่า จึงต้องประเมินกันอีกครั้งว่าจะใช้รูปแบบไหน หรือ อาจจะใช้วัคซีน 100%
ระดมความช่วยเหลือ สร้างคลังอาหาร ติดตามอาการต่อเนื่อง สร้างความมั่นใจชาวเล คุมระบาดในพื้นที่
ขณะที่ บดินทร ไชยพงศ์ ปลัดส่วนหน้าเกาะหลีเป๊ะ พร้อมด้วย ตัวแทนตำรวจ อบต.ในพื้นที่ ได้นำถุงยังชีพจากสภากาชาดไทย ที่เหล่ากาชาดจังหวัดสตูลส่งมอบช่วยเหลือ รวมทั้งอาหารสด ทั้งเนื้อหมู เนื้อไก่ ผัก ที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้ประกอบการ ภาคประชาชนในพื้นที่ มอบให้ชาวอาดัง เพื่อช่วยเหลือและสนับสนุนให้ชาวบ้านที่นี่ ได้เข้าถึงอาหารอย่างเพียงพอในช่วงกักตัว
สัญญา สิริฮั่น ผู้ใหญ่บ้านหมู่ 8 ต.เกาะสาหร่าย ซึ่งได้รับมอบหมายให้ดูแลพื้นที่เกาะอาดัง บอกว่า ความร่วมมือให้การช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ของทุกภาคส่วน ทำให้ชาวบ้านในพื้นที่คลายความวิตกและให้ความร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการคุมโรคมากขึ้น
“จากวันแรก ๆ ที่พบการติดเชื้อ ชาวบ้านกังวลว่าจะไม่มีอาหาร กลัวว่าจะต้องไปกักตัวที่ LQ หรือสถานกักกันในชุมชนที่ไกลบ้าน บางส่วนอยากออกไปซื้ออาหารที่เกาะหลีเป๊ะ แต่พอทุกฝ่ายเห็นตรงกัน ให้ปิดเกาะอาดัง และใช้แนวทางในการให้กักตัวที่บ้าน โดยมีความช่วยเหลือส่งมาให้ ทั้งอาหาร และการติดตามอาการต่อเนื่อง ทำให้ชาวบ้านเข้าใจ และกักตัวเองอยู่ในบริเวณที่กำหนด”
ขณะที่ทีมเจ้าหน้าที่สาธารณสุขในพื้นที่ เข้าไปติดตามอาการ หลังจ่ายยาฟาวิพิราเวียร์ และฟ้าทะลายโจรให้ผู้ติดเชื้อทั้ง 51 คน และมีทางทีมอาสาสมัครโรงเรียนบ้านเกาะหลีเป๊ะ ครูและนักเรียน นำสมุนไพร 7 นางฟ้า จากมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ และน้ำโฮมีโอพาธีร์ มอบให้ผู้ติดเชื้อและกลุ่มสัมผัสเสี่ยงสูงรับประทาน เพื่อเป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้ร่างกายแข็งแรงด้วย
ส่วนกรณีการนำเสนอผ่านสื่อถึงสาเหตุการแพร่เชื้อที่เกาะอาดัง ว่ามาจากชาวเลเกาะหลีเป๊ะนั้น แสงโสม หาญทะเล ตัวแทนชาวเลอูรักลาโว้ย เกาะหลีเป๊ะ จ.สตูล ยืนยันว่า เป็นข้อมูลที่คลาดเคลื่อน และอาจสร้างความเข้าใจผิดต่อชาวเลหลีเป๊ะ เพราะทุกคนให้ความร่วมมืออย่างดีกับมาตรการล็อกดาวน์พื้นที่ งดการเดินทางข้ามไปยังเกาะอาดัง ส่วนการที่พบชาวอาดังติดเชื้อ เชื่อว่าอาจติดกันมาตั้งแต่ที่ยังไม่ประกาศล็อกดาวน์