รัฐสภาแก้ไข รธน. วาระสอง “ระบบการเลือกตั้ง” แบ่งเขต 400 บัญชีรายชื่อ 100 กมธ. เห็นแย้ง แก้มาตราอื่นได้หรือไม่ ยื่นญัตติเรื่องด่วนวินิจฉัยข้อบังคับฯ วันนี้ (24 ส.ค.) ร่วมจับตา แก้ รธน. สำเร็จเป็นครั้งแรก?
วันนี้ (24 ส.ค. 2564) การประชุมร่วมของรัฐสภา ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่ 1) ได้มีวาระพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ (ฉบับที่…) พ.ศ. … ซึ่งเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 83 และมาตรา 91 ว่าด้วยระบบเลือกตั้ง โดยหากย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2564 ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาได้มีมติเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญเพียงฉบับเดียว ที่ผ่านในวาระแรก คือ ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับระบบเลือกตั้งของพรรคประชาธิปัตย์ ได้รับเสียงสนับสนุน 552 เสียง
การพิจารณาในวาระที่สองนี้ เป็นการพิจารณารายมาตรา หรือชั้นตั้งคณะกรรมาธิการ ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 กำหนดไว้ว่า วาระที่สอง เป็นขั้นพิจารณาเรียงลำดับมาตรา ให้ถือเสียงข้างมากเป็นประมาณ หรือ 376 เสียง แต่หากเป็นการแก้ไขที่ประชาชนเป็นผู้เสนอ ต้องเปิดโอกาสให้ผู้แทนประชาชนเสนอความคิดเห็นด้วย จากนั้นรอ 15 วัน จึงเข้าวาระ 3
เพราะฉะนั้นหากการลงมติในครั้งนี้ผ่านการพิจารณาจากรัฐสภา จะถือเป็น “ความสำเร็จครั้งแรก” หลังจากประกาศใช้รัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 ที่มีความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญมาโดยตลอด ทั้งการแก้ไขรายมาตรา และการร่างใหม่ทั้งฉบับ รวมถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนในการเข้าชื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญก็ไม่สามารถเป็นจริงได้ จึงถือเป็นวาระที่น่าจับตามอง
อย่างไรก็ตาม ยังคงมีประเด็นถกเถียงเรื่องการแก้ไขมาตราที่เกี่ยวข้องกับระบบการเลือกตั้งว่า สามารถทำได้หรือไม่? เนื่องจากว่าร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรคประชาธิปัตย์ที่เสนอแก้ไขนั้นมีเพียงสองมาตรา คือ มาตรา 83 ว่าด้วยจำนวนสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) กำหนดแบ่งสัดส่วนที่มาจากการแบ่งเขตเลือกตั้ง 400 คน และมาจากระบบบัญชีรายชื่อ 100 คน และ มาตรา 91 ที่ระบุวิธีการคำนวน ส.ส. บัญชีรายชื่อ โดยให้ไปกำหนดรายละเอียดในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.
แต่ปรากฏว่าในชั้นกรรมาธิการฯ ได้มีมติแก้ไขมาตรา 85, 86, 92, 93, 94 และมาตรา 105 วรรคท้าย รวมถึงมีมติให้เพิ่มบทบัญญัติใหม่ด้วย โดย กรรมาธิการฯ มีความเห็นที่แตกต่างกัน เกี่ยวกับข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 โดยฝ่ายที่เห็นว่าสามารถแก้ไขได้ อ้างข้อบังคับฯ ข้อที่ 124 วรรคสาม ความว่า “การแปรญัตติเพิ่มมาตราขึ้นใหม่ หรือตัดทอน หรือแก้ไขมาตราเดิม ต้องไม่ขัดต่อหลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม เว้นแต่การแก้ไขเพิ่มเติมมาตราที่เกี่ยวเนื่องกับหลักการเท่านั้น”
ขณะที่กรรมาธิการฯ ฝ่ายที่เห็นว่าไม่สามารถแก้ไขได้นั้น อ้างข้อบังคับฯ ข้อที่ 114 วรรคสอง ความว่า “หลักการแห่งร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมนั้น ให้กำหนดโดยชัดแจ้ง” เพื่อคัดค้านว่าในเมื่อร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญฯ ที่ผ่านความเห็นชอบในวาระที่หนึ่ง ได้กำหนดหลักการไว้อย่างชัดแจ้งแล้วว่าให้แก้ไขเพิ่มเติมบทบัญญัติเพียงสองมาตราเท่านั้น จึงไม่อาจแก้ไขบทบัญญัติมาตราอื่นที่เกินเลยไปกว่านั้นได้
เพราะฉะนั้นในวันนี้จึงมีเรื่องด่วน ญัตติ เรื่องขอให้รัฐสภาวินิจฉัยตีความข้อบังคับการประชุมรัฐสภา พ.ศ. 2563 ซึ่งเสนอโดย ธีรัจชัย พันธุมาศ ส.ส.จากพรรคก้าวไกล จึงต้องติดตามว่าในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาวันนี้ จะมีแนวทางที่ชัดเจนในเรื่องดังกล่าวอย่างไร หรือความฝันของการแก้ไขรัฐธรรมนูญนี้ อาจมีอุปสรรคเข้ามาขัดขวางอีกครั้งหรือไม่
- อ่านเพิ่ม กมธ.แก้ รธน.เตรียมเสนอถอดแก้ 4 มาตรา
- อ่านเพิ่ม “ก้าวไกล” แถลงจุดยืนหนุนบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ