“นายกฯ” เผยข่าวดีแอสตร้าฯ ยืนยันส่งวัคชีนให้ครบ 61 ล้านโดสสิ้นปี 64 ด้าน “คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ” เห็นชอบ 4 ประเด็น เปิดประเทศปลอดภัย
สถานการณ์โควิด- 19 ของไทยในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา จำนวนผู้ติดเชื้อคงตัว เป็นผลมาจากหลายปัจจัย รวมถึงมาตรการต่างๆ เช่น การล็อคดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้ม การตรวจค้นหาเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK และนำเข้าระบบการรักษาที่บ้าน ชุมชน และการเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงให้ครอบคลุม
ปฏิบัติการบุกกรุงของแพทย์ชนบททั้ง 3 ครั้งที่ผ่านมา ก็ถูกตั้งข้อสังเกตว่าสร้างแรงสั่นสะเทือน ต่อนโยบายการควบคุมโควิด-19 ในเมืองหลวงไม่น้อย แม้จะคาดหวังให้ กทม.ซึ่งเป็นหน่วยงานในพื้นที่ทำงานเชิงรุก แต่ก็ต้องยอมรับว่าทรัพยากรอาจมีไม่เพียงพอต่อจำนวนประชากรและพื้นที่กว้างขวางซับซ้อน
ขณะที่โรงพยาบาลมหาวิทยาลัย และกลุ่มหมออาสาสมัครบางส่วน กำลังทำหน้าที่เป็นแกนหลักในการควบคุมโรคระบาด เพื่อรับช่วงต่อจากแพทย์ชนบทโดยทำงานร่วมกับชุมชนอย่างไร้รอยต่อ
นี่อาจเป็นครั้งแรกที่ระบบสาธารณสุขในกรุงเทพฯ เกิดการเชื่อมต่อกัน ระหว่างโรงพยาบาลขนาดใหญ่ กับชุมชนและกลุ่มเปราะบางต่างๆ ในรูปแบบเฉพาะกิจซึ่งคาดหวังว่าหลังโรคระบาดจบลง กระบวนการในการควบคุมโรคและรักษาระหว่างสถานพยาบาลกับชุมชนในลักษณะปฐมภูมิจะยังคงอยู่ในเมืองต่อไป
อบรมผู้นำชุมชน-ประชาสังคม ใช้ชุดตรวจ ATK หาผู้ติดเชื้อเข้าระบบรักษา
หลังได้รับการฝึกอบรมกับเจ้าหน้าที่โรงพยาบาลรามาธิบดี ชาญชัย นพรัตน์ ประธานชุมชนซอยแดงบุหงา แขวงทุ่งพญาไท เขตราชเวี ก็สามารถใช้ชุดตรวจ ATK ตรวจหาเชื้อคนในชุมชนได้อย่างคล่องแคล่ว
ปฏิบัติการตรวจเชื้อเชิงรุก ที่ทำโดยคนในชุมชนเป็นหนึ่งในโมเดล ที่โรงพยาบาลรามาธิบดี เชื่อว่าจะสามารถควบคุมการระบาดได้ดี และไม่ต้องเสียบุคลากรไปเป็นจำนวนมาก หน้าที่หลักของโรงพยาบาล จึงเน้นตั้งรับรักษาผู้ติดเชื้อ
หากคนในชุมชนพบผลบวกจากการตรวจด้วยชุดตรวจ ATK จะถูกนำมา Swab เพื่อยืนยันผลอีกครั้ง ก่อนเข้าสู่ศูนย์พักคอยกึ่งโรงพยาบาลสนามวิทยาลัยพณิชยการเจ้าพระยา
เป็นเวลา 1 เดือนแล้วที่วิทยาลัยแห่งนี้ ถูกปรับเป็นที่สถานที่แยกกักและรักษาผู้ติดเชื้อโควิด 19 ทั้งสีเขียว และสีเหลือง แพทย์จากโรงพยาบาลรามาธิบดีสับเปลี่ยนหมุนเวียนมาวินิฉัยผู้ป่วย พยาบาลจากแผนกต่างๆในโรงพยาบาลรามาธิบดี อาสาเข้ามาช่วยอยู่เวรที่นี่
แม้ระบบสาธารณสุขของกรุงเทพมหานครจะมีความซับซ้อนหลายสังกัด แต่ในฐานะโรงพยาบาลมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในชุมชนเขตราชเทวี รู้ดีว่าต้องมีส่วนงานในระดับปฐมภูมิ ปฏิบัติการครั้งนี้จึงเป็นหน้าที่หนึ่งของโรงพยาบาลขนาดใหญ่
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในกรุงเทพมหานครบางพื้นที่มีเจ้าภาพในการรับผิดชอบดูแลรักษาผู้ติดเชื้อ แต่บางพื้นที่ก็เป็นช่องโหว่ที่ไร้เจ้าภาพ
อย่างเช่นที่ชุมชนคลองเตย แม้มีหลายหน่วยงานระดมเข้าให้ความช่วยเหลือ แต่ปัญหาสำคัญคือความต่อเนื่อง เพราะโรคระบาดไม่ได้หายไปจากการตรวจเพียงครั้งเดียว
กลุ่มอาสาสมัคร Cocare ที่รวบรวมแพทย์อาสาถึง 400 คนมาดูแลคนไข้ทางไกลผ่านระบบ Line ตั้งแต่เริ่มต้นการระบาดระลอกแรก ยังคงทำงานต่อเนื่องมาถึงการระบาดรอบนี้พวกเขาปรับตัวด้วยการทำงานภาคสนาม ร่วมกับกลุ่มภาคประชาสังคม
เช้านี้เป็นอีกเช้า ของกลุ่มคลองเตยดีจัง ซึ่งทำงานในพื้นที่มาโดยตลอด ยังคงตรวจเชื้อเชิงรุกให้กับคนในชุมชน โดยไม่เลือกว่าเป็นคนไทย หรือเป็นแรงงานข้ามชาติ
หลังตรวจด้วยชุดตรวจ ATK แล้วพบคนในชุมชนผลเป็นบวก ก็จะถูกนำมา Swab เพื่อยืนยันผลอีกครั้ง และเข้าสู่ระบบ home isolation ทันที ในระหว่างที่สอบถามประเมินอาการก่อนจ่ายยา เจ้าหน้าที่อาสาสมัครจะขอเบอร์โทรศัพท์เพื่อบันทึกเข้าสู่ระบบ Cocare และจะมีแพทย์โทรศัพท์ไปสอบถามอาการทุกวัน
ชุมชนคลองเตยที่มีคนอาศัยอยู่บนพื้นที่แคบๆ กว่า 1 แสนคน ยากลำบาก ต่อการควบคุมโรค แต่การตรวจเชื้อ 1-2 ครั้งที่ผ่านมา จากหลายหน่วยงาน ศิริพร พรมวงศ์ จากกลุ่มคลองเตยดีจัง บอกว่าอัตราการติดเชื้อเริ่มลดลง
ทั้งนี้ ความพยายามในการควบคุมโรคระบาด จากทั้ง 2 โมเดล ไม่ว่าจะกลุ่มแพทย์โรงพยาบาลรามาธิบดี หรือกลุ่มแพทย์อาสาสมัคร Cocare มีจุดร่วมเดียวกันคือตรวจเชื้อเร็ว รักษาเร็ว ซึ่งต้องเร่งทำในช่วงที่มีการล็อกดาวน์ให้ได้มากที่สุด ก่อนจะเริ่มคลายล็อกดาวน์
ชุดตรวจ ATK กำลังกลายเป็นส่วนหนึ่งของวิถีปกติ
การนำเข้าชุดตรวจ ATK ช่วยให้การตรวจคัดครองรวดเร็วและลดค่าใช้จ่ายได้มากขึ้น เป็นผลดีต่อการควบคุมโรค นายแพทย์ก้องเกียรติ เกษเพ็ชร์ CEO โรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่ม 3 ภาคตะวันออก ผู้ก่อตั้งไลน์ @CoCare บอกว่า การตรวจเชื้อซ้ำ และแยกกักรักษาทันที ในชุมชนเดิมต่อเนื่อง 3 เดือน เป็นรูปแบบการควบคุมโรคที่ประสบความสำเร็จในประเทศอังกฤษ จึงนำมาปรับใช้กับชุมชนคลองเตย ซึ่งจากสถานการณ์หากทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ผู้ติดเชื้อจะลดลงอีกใน 3 เดือน
และเป็นไปได้ว่าหลังคลายล็อกดาวน์แล้ว ควรต้องมีการแสดงหลักฐานฉีดวัคซีนในมือถือ และการให้สถานประกอบการ บริการตรวจโควิด-19 ด้วยชุดตรวจ ATK ที่มีคุณภาพ ไว้ให้ลูกค้าตรวจก่อนเข้าใช้บริการ จะเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่ควบคุมโรค และเดินหน้าเศรษฐกิจได้
หวั่นวัคซีนแอสตราเซเนกาเดือน ก.ย. – ต.ค. ไม่เพียงพอ
ขณะที่อีกแนวทางควบคุมโรค ที่สำคัญคือการเร่งฉีดวัคซีน ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดีมหาวิทยาลัยมหิดล มองว่า เดือน ก.ย. และ ต.ค. ที่จะถึงนี้ ไม่มั่นใจว่าจะมีวัคซีนพอสำหรับประชาชนกลุ่มที่จะต้องได้รับวัคซีนแอสตราเซเนกาเข็มที่ 2 เหมือนที่ไม่มีวัคซีนให้ฉีดเมื่อเดือน มิ.ย และ ก.ค ที่ผ่านมา
การเปิดประเทศภายใน 120 วันที่จะมาถึงปลายเดือน ต.ค.นี้ ตามที่นายกรัฐมนตรีประกาศไว้ จะไม่สำเร็จได้หากประชาชน ไม่ได้รับการคุ้มครองจากการฉีดวัคซีนในช่วงเดือน ก.ย. และ ต.ค. อย่างรวดเร็วและพอเพียง
นายกรัฐมนตรี เผย แอสตร้าฯ ยืนยันส่งวัคชีนให้ครบ 61 ล้านโดสสิ้นปี 64
ขณะที่นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ระบุวันที่ 23 ส.ค.2564 ว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ประชุมทางไกลร่วมกับนายปาสคาล โซริออต (Mr.Pascal Claude Roland Soriot) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร(CEO) บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า จำกัด หารือกรอบความร่วมมือด้านสาธารณสุขในการป้องกันโควิด-19 ในภาวะที่มีการแพร่ระบาดจากไวรัสกลายพันธุ์อย่างรวดเร็ว ยืนยันจะเร่งส่งมอบวัคซีน ที่เหลือให้ครบ 61 ล้านโดส ภายในเดือน ธ.ค. 64 นี้อย่างแน่นอน และจะช่วยให้จำนวนยอดการจัดหาวัคซีนทุกประเภทในสิ้นปีนี้รวมกันเกินกว่า 120 ล้านโดส ครอบคลุมประชากรกว่า 60 ล้านคน ซึ่งเร็วกว่าแผนเดิมที่ตั้งเป้าจะจัดหาวัคซีน 100 ล้านโดส สำหรับประชากร 50 ล้านคน ถือเป็นข่าวดีต่อการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ที่เร็วขึ้น ลดภาระระบบสาธารณสุขไทย ช่วยให้ประชาชนกลับมาใช้ชีวิตปกติและฟื้นฟูเศรษฐกิจได้เร็วขึ้นอีก
บริษัท แอสตร้าเซนเนก้า ยังอยู่ระหว่างการพัฒนาวัคชีนโควิด-19 สูตรใหม่เพิ่มประสิทธิภาพป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ใหม่ โดยไทยยังมีสิทธิ์เลือกวัคชีนสูตรใหม่นี้เพื่อรับมือการกลายพันธุ์ของไวรัส
ทั้งนี้รัฐบาลไทยยังมีแผนสั่งซื้อวัคซีนแอสตราเซเนกาเพิ่มอีก 60 ล้านโดสสำหรับปี 65 ซึ่งคาดว่าข้อตกลงดังกล่าวจะสรุปได้ภายในเดือน กันยายนนี้
คกก.โรคติดต่อแห่งชาติเห็นชอบ 4 ประเด็นควบคุมโควิด- 19 เปิดประเทศปลอดภัย
วันเดียวกัน ที่กระทรวงสาธารณสุข จ.นนทบุรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ครั้งที่ 8/2564โดยมี นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค ผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กลาโหม มหาดไทย แรงงาน ศึกษาธิการ การต่างประเทศ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ UHOSNET โรงพยาบาลเอกชน ผู้ทรงคุณวุฒิด้านการแพทย์และสาธารณสุข ผู้แทนสภาวิชาชีพและองค์กรอิสระ ร่วมการประชุมและประชุมผ่านระบบออนไลน์
นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า สถานการณ์โรคโควิด 19 ของไทยในช่วง 4 สัปดาห์ที่ผ่านมา แนวโน้มดีขึ้น จำนวนผู้ติดเชื้อคงตัว เป็นผลจากมาตรการต่างๆ เช่น การล็อคดาวน์ในพื้นที่สีแดงเข้ม การตรวจค้นหาเชิงรุกด้วยชุดตรวจ ATK และนำเข้าระบบการรักษาที่บ้าน/ ชุมชนการเร่งฉีดวัคซีนในกลุ่มเสี่ยงให้ครอบคลุม
ตั้งแต่เดือนนี้มีวัคซีนเข้ามาเพิ่ม ทั้งไฟเซอร์ แอสตราเซเนกา และซิโนแวค ส่งไปทั่วประเทศ ขณะนี้ ฉีดวัคซีนไปแล้ว 27 ล้านโดส ผู้ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็มคิดเป็นร้อยละ 28
โดยวันนี้ (23 ส.ค.64) คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ได้หารือ 4 ประเด็นสำคัญในการควบคุมโรคโควิด 19 คือ
1.การเปิดประเทศอย่างปลอดภัยภายใต้มาตรการควบคุมโรคแนวใหม่ (Smart Control and Living with Covid-19) เตรียมเข้าสู่ระยะเปลี่ยนผ่านภาวะวิกฤต มีเป้าหมายเพื่อควบคุมการระบาดของโรค ให้จำนวนผู้ป่วยหนักไม่เกินศักยภาพระบบสาธารณสุขรองรับได้ ใช้กลยุทธ์
- ฉีดวัคซีนให้ครอบคลุมผู้สูงอายุ และกลุ่มเสี่ยงเจ็บป่วยรุนแรง รวมถึงการพัฒนาวัคซีนใหม่อย่างครบวงจร
- มาตรการDMHTT และ Universal Prevention
- เพิ่มการทำงานเชิงรุกด้วยหน่วยเยี่ยมบ้านเคลื่อนที่ (CCRT) ใน กทม. ปริมณฑล และพื้นที่ระบาด
- ให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจโควิดด้วยตัวเอง และคัดกรองด้วย Antigen Test Kit
2. เห็นชอบหลักการมาตรการป้องกันและควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and seal) สำหรับสถานประกอบกิจการ ในพื้นที่ที่พบการระบาดเป็นกลุ่มก้อน ใช้แนวคิดกลุ่มคนที่แข็งแรงและอยู่เป็นกลุ่มในพื้นที่จำกัด ไม่ปะปน กับบุคคลภายนอก ใช้การสุ่มตรวจเพื่อประเมินสถานการณ์ ถ้าพบการติดเชื้อเกิน ร้อยละ 10 แยกไปรักษาที่ รพ.สนาม และเฝ้าระวังคนที่เหลือให้สามารถทำงานต่อไปได้เมื่อครบ 28 วัน ตรวจภูมิคุ้มกัน ผู้ที่ตรวจพบภูมิคุ้มกันจะสามารถทำงานต่อไป ผลดีคือ ไม่ต้องปิดโรงงาน แรงงานได้ค่าจ้าง เศรษฐกิจไปต่อได้โดยมีกลไกด้านการสื่อสาร ทำความเข้าใจ ให้คำแนะนำและระบบพี่เลี้ยง ด้านกำกับประเมินผล ซึ่งเป็นการบูรณาการระหว่างหลายหน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงแรงงาน กระทรวงมหาดไทยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน และสมาคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
3.เห็นชอบร่างกฎกระทรวง เรื่อง การแจ้งกำหนดวัน เวลา และสถานที่ที่พาหนะจะเข้ามาถึงด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ พ.ศ. …. และร่างกฎกระทรวงเรื่อง การยื่นเอกสารต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อประจำด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ พ.ศ. ….เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติสำหรับพาหนะจากต่างประเทศที่จะเข้ามาประเทศไทยทั้งทางบก เรือ และอากาศ
และ 4.สนับสนุนให้มีผู้แทนของสมัชชาสุขภาพจังหวัดร่วมประชุมในคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ตามมติคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ครั้งที่3/2564 เพื่อให้มีตัวแทนประชาชนในพื้นที่ร่วมรับรู้และร่วมดำเนินมาตรการควบคุมโรคภายในจังหวัดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น นอกจากนี้ คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ยังได้รับทราบมติคณะกรรมการด้านวิชาการ ตาม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ.2558 ที่เห็นชอบให้ผู้เดินทางที่ได้รับวัคซีน Sputnik V เข้าร่วมโครงการภูเก็ตแซนด์บ็อกซ์ได้