นักการศึกษาห่วง “เด็กและวัยรุ่น” หมดไฟในการเรียนรู้ แนะ เยียวยาใจก่อนถึงมือหมอ

‘จิตแพทย์ศิริราช’ เผย ‘เด็ก ครู ผู้ปกครอง’ ซึมเศร้ามากขึ้นจากผลกระทบโควิด-19 ผนึกพลัง ‘เครือข่ายนักการศึกษา’ แนะเครื่องมือเยียวยาใจในวิกฤต

เมื่อวันที่ 29 ส.ค. 2564 ผศ. นพ.พนม เกตุมาน อาจารย์ประจำภาควิชาจิตเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงพฤติกรรมในการขอรับคำแนะนำของเด็กและวัยรุ่น ผู้ปกครอง ครูและบุคลากรทางการศึกษาที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ในงานเสวนาออนไลน์ “เครื่องมือเยียวยาใจ” จากโครงการก่อการครูสู้เพื่อเด็ก ส่งต่อการเรียนรู้เเละการดูเเลให้แก่กัน โดยเครือข่ายก่อการครู

ผศ. นพ.พนม ระบุว่า 1 ปีที่ผ่านมา วงการจิตแพทย์เด็กและวัยรุ่น ได้รับเสียงสะท้อนความรู้สึกด้านลบ ได้แก่ ความเครียดและวิตกกังวลของเด็ก ๆ ในการปรับตัวเรียนออนไลน์ ครูต้องออกแบบการเรียนรู้ใหม่ให้เข้ากับสถานการณ์และภาระงานอื่น ๆ ที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งทำให้หลายคนแสดงอาการซึมเศร้า ขณะที่ผู้ปกครองมีการปะทะอารมณ์กับบุตรหลานในการเรียนรู้ที่บ้าน ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์มากขึ้น

“ตอนนี้ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ ล้วนอยู่ในวิกฤตที่มีผลกระทบต่อจิตใจและพฤติกรรม คาดว่าจะเครียดหนักถึงปลายปีเป็นอย่างน้อย หลังสถานการณ์โรคคลี่คลายก็ยังมีผลกระทบ After Effect ในรูปแบบต่าง ๆ เชื่อว่าลึก ๆ ครูยังมีพลังอยู่ แต่เจอปัญหาหนัก ๆ ก็สั่นไหวไปบ้างเป็นธรรมดา ระหว่างนี้ถ้ามีเครื่องมือช่วยให้พวกเขาทำจิตใจให้นิ่งขึ้นได้จะเกิดผลดีกับตัวเอง และนำไปใช้ทำงานกับเด็ก ๆ ได้”

ผศ. นพ.พนม กล่าวต่อไปว่า มีวิธีการรับมือกับผลกระทบ 2 รูปแบบ คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อม กับการเปลี่ยนแปลงตนเอง ช่วงเวลานี้การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมภายนอกเป็นไปได้ค่อนข้างยาก การปรับความรู้สึกภายในตนเองจึงเป็นเรื่องสำคัญ

สอดคล้องกับข้อมูลของ ผศ.อดิศร จันทรสุข รองคณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่มีประสบการณ์ด้านเยียวยาจิตใจผู้ได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ทางสังคม กล่าวว่า โดยธรรมชาติของการเผชิญปัญหาในภาวะวิกฤต มักมีความคาดหวังว่าสถานการณ์จะดีขึ้นและกลับมาใช้ชีวิตได้ตามปกติ แต่ปรากฏการณ์หลังจากการเรียนออนไลน์กว่า 1 เทอม ยังไม่มีแนวโน้มสถานการณ์ดีขึ้น ทำให้สภาวะภายในจิตใจรู้สึกเหนื่อยล้ามากขึ้น หากสะสมต่อเนื่องจะเกิดภาวะ Burnout หรือหมดไฟ หมดแรงในการเรียนรู้ เพราะรู้สึกเหมือนโดนกระชากออกจากความหวัง

“คิดว่านี่เป็นปัญหาที่ค่อนข้างหนักหนา โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ และเยาวชนที่กำลังจะเติบโตขึ้นมาแล้วต้องอยู่ในสภาวะแบบนี้ จริง ๆ แล้วพวกเขาจะต้องมีโอกาสได้ไปสัมผัสกับโลกข้างนอก ได้เรียนรู้ ได้เจอเพื่อน แต่ถูกปิดกั้น ทุกอย่างถูกเรียนรู้ผ่านโลกออนไลน์ แล้วไม่ใช่ทุกคนจะสามารถเข้าได้ มันก็เลยยิ่งทำให้สภาวะที่เขาจะเติบโตขึ้นมาแบบมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมยิ่งลดน้อยถอยลง ครู ผู้ปกครอง และทุกคนที่เกี่ยวข้องก็โดนผลกระทบตรงนี้ไปด้วย”

ด้าน ธนัญธร เปรมใจชื่น ผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบกระบวนการดูแลจิตใจแบบองค์รวม สถาบัน Seven Presents กล่าวว่า ในสถานการณ์ปกติทุกคนมีเรื่องทุกข์ใจ มีภาวะเครียดและวิตกกังวลอยู่แล้ว ทำให้สถานการณ์วิกฤตปัญหาซับซ้อนมากขึ้น

“เมื่อก่อนเวลามีคนทุกข์คนหนึ่ง เราจะมีคนที่ยืนอยู่บนที่มั่นคงช่วยดึงคนทุกข์ขึ้นมา แต่พอมีคำว่าวิกฤต ไม่ว่าสงคราม ภัยพิบัติต่าง ๆ รวมถึงโรคระบาด เหมือนเราอยู่ในแอ่งกะทะเดียวกัน แทบไม่มีพื้นที่มั่นคง คนถูกคาดหวังให้เป็นผู้ช่วยเหลือเกื้อหนุนก็เป็นคนที่อยู่ในสถานการณ์นั้นด้วยเช่นกัน ดังนั้นคิดว่าการที่ใครคนหนึ่งจะลุกขึ้นมาโอบอุ้ม หรือดูแลผู้อื่นได้ดีขึ้น คุณต้องเริ่มกลับมาจัดการกับตัวเอง กลับมาหาความมั่นคงภายในเพื่อให้มีมือแข็งแรงพอที่จะดูแลคนอื่นได้”

ทั้งนี้ เครือข่ายก่อการครู ได้จัดโครงการ “ก่อการครูสู้เพื่อเด็ก : ส่งต่อการเรียนรู้เเละการดูเเลให้แก่กัน” เปิดพื้นที่รับฟังเสียงสะท้อน ให้กำลังใจ แบ่งปันเครื่องมือ ความรู้ และชุดประสบการณ์ แก่ครูและผู้สนใจ ผ่านการเปิดตลาดวิชาออนไลน์เสริมสมรรถนะการเรียนการสอนที่สอดคล้องกับสภาพปัญหาด้านการศึกษาระหว่างเดือน ก.ย.-ต.ค. นี้ เพื่อระดมทุนนำไปช่วยเหลือนักเรียนเเละครูที่กำลังได้รับผลกระทบจากโควิด-19

• อ่านเพิ่ม – ก่อการครู สู้เพื่อเด็ก” เปิด 8 คอร์สออนไลน์ ส่งต่อการเรียนรู้เเละการดูเเลให้แก่กันยุคโควิด-19 ระดมทุน ช่วยนักเรียนที่เดือดร้อน

Author

Alternative Text
AUTHOR

ศศิธร สุขบท

มนุษย์ช่างฝัน ชอบสร้างสรรค์ข่าวเชิงบวก มีพรรคพวกชื่อจินตนาการ แสนสุขกับงานขับเคลื่อนสังคม