ภาคประชาชนชี้ถูกกีดกันลงความเห็น “โควตานำเข้าเศษพลาสติก” ไม่อนุญาตเข้าประชุมซูมร่วมคณะอนุกรรมการฯ

“เครือข่ายภาคประชาสังคม 108 องค์กร” ไลฟ์สดแจง “ข้องใจ” เหตุไม่ได้รับอนุญาตแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่ ยืนยันหลักการ “ค้านนำเข้าเศษพลาสติก” หวั่นกระทบสิ่งแวดล้อมและผู้ประกอบอาชีพซาเล้งนับล้าน

ตัวแทน “เครือข่ายภาคประชาสังคม 108 องค์กร” ไลฟ์สด ผ่านเพจ มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) โดยระบุถึงกรณีที่ ไม่ได้รับอนุญาตให้เข้าร่วมการประชุมคณะอนุกรรมการบริหารจัดการขยะพลาสติกและขยะอิเล็กทรอนิกส์ ครั้งที่ 2/2564 เพื่อพิจารณาประเด็น “การขยายเวลาการนำเข้าเศษพลาสติก”

แม้ว่าก่อนหน้านี้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้มีการเชิญตัวแทน “เครือข่ายองค์กรภาคประชาสังคม 108 องค์กร” ให้เข้าร่วมการประชุมฯ และร่วมเสนอความคิดเห็น ตามที่ได้แสดงจุดยืนคัดค้านการนำเข้าเศษพลาสติก และมีการส่งหนังสือยื่นข้อเสนอถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 23 สิงหาคมที่ผ่านมา

แต่เมื่อถึงเวลาประชุมตัวแทนเครือข่ายฯ หลายคน รวมทั้งนักวิชาการ กลับถูกห้ามไม่ให้เข้าร่วมการประชุม ส่วนผู้ที่เข้าร่วมได้หลังจากที่อภิปรายสั้นๆ ก็ถูกลบชื่อออกจากห้องประชุมทุกคนในเวลาเพียงไม่นาน ทำให้ไม่สามารถรับฟังเนื้อหาการประชุมหรือแสดงความเห็นต่อได้แต่ขณะเดียวกัน ที่ประชุมดังกล่าวกลับอนุญาตให้ตัวแทนภาคอุตสาหกรรมอยู่เข้าร่วมได้จนจบการประชุม โดยให้เหตุผลว่ายังไม่ถึงวาระที่จะให้ประชาชนเข้าประชุม 

ธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการ กรีนพีซ ประเทศไทย 

มูลนิธิบูรณะนิเวศ (EARTH) และเครือข่ายฯ จึงแถลงข่าวเกี่ยวกับกรณีนี้ ทั้งในประเด็นนโยบายการนำเข้าเศษพลาสติก รวมถึงนำเสนอข้อมูลและข้อเรียกร้องที่ไม่ได้มีโอกาสได้พูดในที่ประชุม โดยมองว่าเป็นการกีดกัน ปิดกั้นความคิดเห็นของภาคประชาสังคม โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอย่างไม่เป็นธรรม

รุ่งทิวา ฝัดศิริ ตัวแทนผู้ประกอบการซาเล้ง สมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า กล่าวว่า เสียใจและรู้สึกด้อยค่าต่อสายตาของหน่วยงานภาครัฐ จากการกระทำที่กีดกันการมีส่วนร่วมแสดงความคิดเห็นทั้งที่เป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง

” รู้สึกได้เลยว่าตัวเองมีคุณค่าแค่ไหนในประเทศไทย ภาครัฐไม่เคยเห็นคุณค่าของคนกลุ่มนี้เลย เราเหมือนอยู่ในมุมมืด อยู่ในจุดที่ใครก็มองว่าเป็นขยะ ไม่มีคุณค่าอะไรเลย และวันนี้ยิ่งตอกย้ำว่าพวกเราไม่มีคุณค่า แม้ว่าเราจะรวมกันเป็นสมาคม และมีการได้รับเชิญเข้าประชุมแล้ว ในฐานะที่มีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียโดยตรง แต่ถูกปิดกั้น ไม่ได้รับโอกาสให้ไปพูดว่าทำไมถึงไม่ควรนำเข้าพลาสติก ไม่ให้เราเห็นได้ฟังอะไรเลย ทำให้เรารู้ว่าชะตากรรมของเราจะเป็นอย่างไรต่อไป “

รุ่งทิวา ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น คือการทำให้ขยะพลาสติกราคาตกต่ำลงจากกลไกการตลาด เมื่อของมีมากยิ่งราคาถูก แม้ว่าก่อนหน้านี้กระทรวงอุตสาหกรรมจะอ้างว่าต้องนำเข้าเพราะพลาสติกไม่เพียงพอต่อการผลิต แต่เธอยืนยันไม่ใช่เหตุผลที่เหมาะสม

“ถ้ามีการอนุญาตให้นำเข้ามาเราก็คงเก็บไม่ได้อยู่แล้ว เพราะราคามันจะตกต่ำ อย่าอ้างว่าซาเล้งไม่เก็บขยะไม่มีพลาสติกเข้ามาป้อนโรงงาน เพราะมันเป็นสิ่งที่รัฐตัดสินใจในวันนี้ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าเสียใจอย่างยิ่ง… คุณอาจจะได้เศษเงินจากนักลงทุนเพื่ออนุญาตนำเข้าพลาสติกในวันนี้ แต่คุณจำเอาไว้นะว่าคุณได้ทำลายคนจนๆ อีกเป็นล้านคนที่เขามีอาชีพเก็บขยะ คุณไม่คิดถึงตรงนี้เลย เราเสียใจมาก พอเราเข้าไปประชุมเรารู้เลยว่าคุณตัดสินด้วยเงินไม่ได้ตัดสินด้วยคุณค่าสภาพแวดล้อมของประเทศไทยที่จะถูกทำเลย” 

ด้าน ชัยยุทธิ์ พลเสน นายกสมาคมซาเล้งและร้านรับซื้อของเก่า ระบุว่า มติของสมาคมฯ ยืนยันที่จะคัดค้านการนำเข้าขยะพลาสติกในทุกเงื่อนไข และอยากให้หน่วยงานรัฐพิจารณาข้อกฎหมายที่อาจเป็นช่องโหว่ในการเปิดทางให้มีการนำเข้าขยะพลาสติกเข้ามาได้

” มติของสมาคมเราชัดเจนว่า 1.คัดค้านการอนุมัติการเปิดโควตานำเข้าเศษพลาสติกที่กำลังพิจารณาอยู่ในขณะนี้ และพวกเราไม่ยอม 2.ขอคัดค้านการอนุมัตินำเข้าเศษพลาสติกในเขตฟรีโซน ซึ่งตอนนี้มีการนำเข้าและระบุว่าเป็นกฎหมายพิเศษ 3.คัดค้านการนำเข้าตามพิกัดของกรมศุลากร 39.15 ซึ่งพิกัดนี้จะเป็นการรวมพลาสติกทุกชนิด ซึ่งเป็นการเปิดช่องให้สารพัดพลาสติกสามารถเข้ามาได้ ” 

ชัยยุทธิ์ ยังให้เหตุผลของการคัดค้าน ว่า 3 ปีที่ผ่านมามีการนำเข้ามาล้านกว่าตัน รีไซเคิลและส่งออกไปต่างประเทศจำนวน 4 แสนตัน แต่ยังพบว่ามีพลาสติกคงค้างอยู่ในเมืองไทยอีกกว่า 6 แสนตัน ที่ยังเอามารีไซเคิล หรือนำมาใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ จึงมองว่าควรชะลอการอนุมัติการอนุญาตออกไปก่อน พร้อมเสนอแนวทางการยกระดับอุตสาหกรรมการผลิต เพื่อลดผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมของไทย

” เมื่อยังมีค้างอยู่น่าจะเอามารีไซเคิล มาใช้ให้หมด ให้เรียบร้อย แล้วค่อยมาดูว่าจะนำเข้าเมื่อไหร่ค่อยไปว่ากันในอนาคต อีกสิ่งหนึ่งที่อยากนำเสนอคือ โรงงานพลาสติกที่มาตั้งในเมืองไทยทั้งที่รู้ว่าวัตถุดิบของไทยไม่เพียงพอ แต่ก็ยังเอามาตั้ง แล้วก็ใช้วิธีนำเข้าแทน จากเศษพลาสติกมาทำเป็นเม็ดพลาสติก ทำไมไม่พัฒนาศักยภาพโรงงานให้นำเข้าเม็ดพลาสติกแล้วก็เอาเศษพลาสติกในไทยมาผสม ฉีดเป็นชิ้นงาน ขายทั้งในและต่างประเทศ กลับกันเป็นการเพิ่มมูลค่าส่งออกสูงขึ้น “

ส่วน เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง ผู้อำนวยการมูลนิธิบูรณะนิเวศ อธิบายว่า งานวันนี้เกิดขึ้นเป็นผลสืบเนื่องมาจากที่ ภาคประชาชน 7 องค์กร ภาคีเครือข่าย และอีกกว่า 30,000 รายชื่อที่ลงชื่อผ่านเว็บไซต์ change.org ได้ไปยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม ที่ผ่านมา จากนั้นได้ให้ข้อมูลกับตัวแทนจากกระทรวงฯ ที่มารับหนังสือ และสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มาร่วมรับฟังข้อเสนอ จึงได้รับเชิญให้เข้าไปให้ข้อมูลต่อที่ประชุมคณะอนุกรรมการฯ ซึ่งรัฐมนตรีเดินทางมาเป็นประธานการประชุม และน่าจะเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายก่อนที่จะมีการสรุปเป็นข้อเสนอ

ก่อนถึงวันประชุมมาถึง ตนได้ประสานงานติดต่อกับทีมงานต่อเนื่อง ทั้งส่งเอกสารประกอบการประชุม ซักซ้อมการเข้าที่ประชุม ซึ่งคิดว่ารัฐมนตรีฯ ไม่ได้ติดขัดอะไรกับการที่ภาคประชาสังคมเข้าร่วมประชุมและร่วมรับฟังด้วย แต่อาจเป็นเพราะบุคคลบางคนที่แสดงความกังวลต่อการเข้าร่วมของภาคประชาสังคม จึงมองว่าเป็นการไม่ให้เกียรติ และเป็นสิ่งที่ไม่ควรเกิดขึ้น

” ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตั้งคำถามว่า วันนี้ทราบว่ามีรายชื่อผู้ที่เข้าร่วมประชุมด้วยและไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย จากนั้นก็เกิดบรรยากาศเงียบและภาคประชาชนถูกดีดออกทีละคน ทั้งๆ ที่เราเป็นผู้ได้รับคำเชิญ… ในระหว่างการประชุมเรายังเห็นอิทธิพลของภาคอุตสาหกรรมว่ามีอิทธิพลเหนือประธานในที่ประชุม อนุกรรมการฯ และหน่วยงานด้านสิ่งแวดล้อม สิ่งที่เกิดขึ้นวันนี้จึงบอกชัดเจนว่าใครเป็นคนกุมทิศทางการตัดสินใจ “

เพ็ญโฉม ยังได้ตั้งข้อสังเกตว่า มีข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องหลายประการที่อาจเป็นช่องโหว่ให้เกิดการนำเข้าเศษพลาสติกผิดเงื่อนไข ซึ่งเรื่องนี้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอาจจะยังไม่ทราบดีด้วยซ้ำ

” ปัญหาข้อกฎหมายที่มีช่องโหว่ ออกโดยกระทรวงอุตสาหกรรม เช่น ระบบโควตาที่มีการอนุมัติให้กับผู้นำเข้า เป็นระบบแบบเหมาเข่ง ไม่มีการกำหนดว่าผู้นำเข้าจะได้แจ้งกับศุลกากรว่านำเข้ามาเท่าไหร่แล้ว เหลือโควตาอีกเท่าไหร่ จึงเป็นช่องโหว่ของการนำเข้าเกินโควตา หรือผิดไปจากข้อตกลง… ทั้งยังพบว่าบริษัทที่นำเข้าฯ ถือใบอนุญาตประกอบกิจการนำเข้าแบบหลากหลายมาก ตั้งแต่การนำเข้ามาเพื่อคัดแยก ล้าง บด หรือการหลอมพลาสติก และมีบริษัทอีกจำนวนหนึ่งที่ถือใบอนุญาตเฉพาะการคัดแยก และประกอบกิจการเกี่ยวกับการขนส่งที่ไม่เกี่ยวข้องกับพลาสติกแต่นำเข้ามาได้ อันนี้สวนทางกับข้อกฎหมายที่ห้ามส่งต่อ และนโยบายของกระทรวงอุตสาหกรรมเองที่มักระบุว่า นำเข้าพลาสติกที่สะอาด “

ทั้งนี้ เพ็ญโฉม ได้ยืนยันข้อเสนอ ว่า ต้องการให้มีกฎหมาย หรือกลไกใหม่ ที่จะเข้ามาช่วยคัดกรอง ประเมิน และพิจารณากรณีการนำเข้าเศษพลาสติก มากกว่ากลไกของหน่วยงานราชการที่มีอยู่เดิม และกำลังถูกตั้งคำถามจากสังคมถึงความโปร่งใสเวลานี้

“เราได้เสนอให้กรมควบคุมมลพิษ ภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมพิจารณาเรื่องการนำเข้า การค้าเศษพลาสติกข้ามพรมแดน เพราะตำรวจสากลเคยทำรายงานออกมาแล้วว่า เป็นอาชญากรรมทางสิ่งแวดล้อม และเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ โดยกรมควบคุมมลพิษควรจะตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมาดูเรื่องนี้ เพื่อติดตามตรวจสอบ ดำเนินคดีกับผู้ที่นำเข้าพลาสติกเข้ามาในประเทศ… หากรัฐบาลจะต้องการแก้ปัญหาขยะพลาสติกในประเทศให้ได้จริงๆ ตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่า ปี 2570 จะต้องมีการรีไซเคิลพลาสติกให้ได้ 100% “

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้