ตัวแทนเด็กสะท้อน หลายคนต้องทำงานหาเงินนอกเวลาเรียน ขณะที่หลายคนเลือกออกนอกระบบ ‘นักการศึกษา’ ชี้ ไม่ใช่แค่ปัญหาการเรียนออนไลน์ แต่คือการเรียนทางไกลฉุกเฉิน ‘ครู’ ก็เริ่มอ่อนล้า
เสียงสะท้อนจากนักเรียน ที่ได้รับผลกระทบทั้งด้านการเรียนและการใช้ชีวิตจากวิกฤตโควิด-19 ในขณะที่นโยบายทางด้านการศึกษายังไม่สามารถตอบโจทย์ความต้องการให้กับนักเรียนได้ และส่งผลให้มีนักเรียนจำนวนมากต้องหลุดออกจากระบบการศึกษา
The Active ชวนคุยเรื่องนี้ผ่าน ตัวแทนนักเรียน นักการศึกษา และครูผู้สอน
ความเครียด จากการเรียนออนไลน์ที่ไร้ประสิทธิภาพ
‘น้องพีท’ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนชายล้วนแห่งหนึ่ง กล่าวว่า การเรียนออนไลน์ในปัจจุบันสร้างปัญหาให้กับนักเรียน ครู และผู้ปกครองเป็นอย่างมาก ทั้งในแง่ของประสิทธิภาพการเรียน และความเครียดที่เกิดขึ้นกับนักเรียน โดยแม้กระทรวงศึกษาธิการจะปรับรูปแบบให้มีการเรียนออนไลน์ แต่มาตรการต่าง ๆ ไม่ได้ปรับตามไปด้วย การวัดผล การประเมินผล รวมถึงงานและการบ้านยังคงอยู่เหมือนเดิม
ในขณะเดียวกันการเรียนออนไลน์นั้น ไม่สามารถตอบโจทย์การเรียนรู้ในภาคปฏิบัติได้ เช่น นักเรียนที่ต้องเรียนเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ หรือเครื่องมือต่าง ๆ ไม่สามารถเรียนรู้ได้เลย แม้แต่กระทั่งนักเรียนในแผนการเรียนทั่วไปก็ไม่สามารถเข้าใจเนื้อหาได้ทั้งหมด รวมถึงในระดับมหาวิทยาลัยที่แม้จะมีความพร้อม และจัดการตนเองได้ ยังไม่สามารถเรียนรู้เนื้อหาได้อย่างเต็มที่ และมีความเครียดสะสมต่อเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
“ปกติการศึกษาเราติดลบอยู่แล้ว ยิ่งมาเรียนออนไลน์แบบไม่พร้อมยิ่งติดลบเข้าไปอีก ถ้าเรายังใช้ระบบการศึกษาแบบเดิมกับการเรียนออนไลน์ ผมคิดว่าจะยิ่งทำให้เด็กเครียด และตามงานไม่ทัน บางที่ยังไม่มีตารางเรียนมาให้เลย”
น้องพีท ยังบอกอีกว่าเป็นผลมาจากความไม่พร้อม และไม่สามารถเข้าถึงการเรียนออนไลน์ได้ หากนักเรียนรายใดซึ่งครอบครัวมีฐานะ พร้อมสนับสนุน ถือว่าเป็นเรื่องง่ายที่จะเข้าถึงการเรียน และได้รับความรู้ครบถ้วน แต่ยังมีนักเรียนที่ยากจน ชนชั้นกลาง หาเช้ากินค่ำ ที่นอกจากต้องดูแลครอบครัวแล้ว ยังมีค่าใช้จ่ายเพิ่มจากการเรียนออนไลน์ ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต โดยที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือดูแลจากรัฐเลย
ไม่ใช่การเรียนออนไลน์ แต่คือการเรียนทางไกลฉุกเฉิน
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์คณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ตอนนี้ต้องยอมรับความจริงได้แล้ว ว่าต้องรีบกลับไปเปิดโรงเรียนให้ไวที่สุด การฉีดวัคซีนต้องทั่วถึงต่อนักเรียน และครูในโรงเรียน เพื่อให้นักเรียนได้เข้าสู่ระบบการเรียนแบบปกติ เพราะตลอดระยะเวลาของการเรียนออนไลน์ที่ผ่านมา สะท้อนว่าประเทศเราไม่พร้อมที่จะทำแบบนี้ได้
ผศ.อรรถพล กล่าวว่า สถานการณ์ในปัจจุบันนี้ ไม่ใช่ ‘การเรียนออนไลน์’ หรือ Online learning แต่เป็น ‘การเรียนทางไกลฉุกเฉิน’ หรือ Emergency remote control เพราะการเรียนไม่มีเครื่องมือที่จำเป็น เพื่อเอื้อให้การเรียนมีประสิทธิภาพมากขึ้น และที่สำคัญคือผู้เรียนไม่สามารถจัดการตนเองได้ ยังมีการเช็กชื่อ มีการส่งการบ้านที่ค่อนข้างมาก ไม่ได้ยืดหยุ่นสำหรับนักเรียน
“สิ่งที่เกิดขึ้นตอนนี้ไม่อยากเรียกว่า การเรียนออนไลน์ แต่มันคือ การสอนทางไกลฉุกเฉิน เพราะไม่มีเครื่องมือ ไม่มีระบบที่ผู้เรียนสามารถจัดการตนเองได้ และมีความหลากหลายในการเข้าถึงสื่อ ถ้าทำไม่กี่อาทิตย์อาจจะไม่หนัก แต่ตอนนี้มันเกินกว่าที่เด็กจะแบกรับความเครียดไหว ครูก็เช่นกัน”
ปัญหาที่สำคัญ ผศ.อรรถพล มองว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการศึกษายังไม่ปรับตัว ตั้งแต่ระดับกระทรวง เขตพื้นที่ และโรงเรียน สุดท้ายปลายทางที่ได้รับผลกระทบคือนักเรียน และครู แนวทางของกระทรวงศึกษาธิการคือให้ ‘ยืดหยุ่นตามโรงเรียน’ แต่ในทางปฏิบัติแล้ว โรงเรียนก็ไม่กล้าเปลี่ยน เพราะเขตพื้นที่ยังคงให้ส่งรายงาน ต้องมีการเช็กชื่อ จึงเป็นการปรับตัวเฉพาะครู หรือโรงเรียนหนึ่ง ๆ เท่านั้น ทำอย่างไรที่จะประกาศอย่างชัดเจนว่าต้องปรับตัวอย่างไร
ครูเองก็ลำบาก จากนโยบายที่เร่งด่วน และไม่ชัดเจน
ธนวรรธน์ สุวรรณปาล หรือ ครูทิว ตัวแทนเครือข่ายครูขอสอน กล่าวว่า ที่ผ่านมาตั้งแต่เริ่มสอนออนไลน์นั้น มีความเปลี่ยนแปลงไม่เหมือนกันในแต่ละโรงเรียน เพราะขึ้นอยู่กับผู้บริหารและตัวครูเองว่าจะมีแนวทางอย่างไร บางโรงเรียนก็มีการปรับตารางเรียนให้เหมาะสม ลดเวลาเรียนลงไป หรือสามารถให้เด็กเรียนแบบ On-demand หรือศึกษาด้วยตัวเองได้ ถือเป็นเรื่องที่ดีหากโรงเรียนและครูมีความกระตือรือร้นที่จะปรับตัว
ครูทิว กล่าวว่า ครูผู้สอนเองก็ได้รับผลกระทบจากการสอนออนไลน์เช่นกัน เนื่องจากระบบที่ ‘ไม่ไว้เนื้อเชื่อใจครู’ สอนออนไลน์เสร็จแล้ว ต้องทำรายงานส่งด้วย ถึงแม้จะเข้าใจว่าจำเป็นต้องมีหลักฐานที่แสดงว่าได้ทำการสอนจริงก็ตาม แต่รายงานการสอนดังกล่าวเพิ่มภาระให้ครู ที่จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการสอน และการติดตามดูแลนักเรียน แปลกใจที่โรงเรียนยังกังวลเรื่องการประเมินโรงเรียนในช่วงเวลาวิกฤตแบบนี้ด้วย
ในขณะที่นโยบายที่มอบลงมาจากส่วนกลาง ในบางครั้งรวดเร็ว และไม่ชัดเจน ไม่เพียงแต่นโยบายด้านการเรียนเท่านั้น แต่เรื่องของการเยียวยานักเรียนก็เช่นกัน ออกนโยบายวันนี้ อยากได้ผลสำรวจวันพรุ่งนี้ แต่ในฐานะครูที่ไม่อยากให้นักเรียนเสียสิทธิไปก็ต้องรีบดำเนินการ ตนอยากให้การออกนโยบายคำนึงถึงการทำงานตรงนี้ด้วย เพื่อไม่ให้เกิดภาระแก่ครู และทำให้เด็กเสียประโยชน์ไปในที่สุด
ผศ.อรรถพล กล่าวเสริมว่า ครูจำนวนมากมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และต้องเสียเงินตัวเองไปกับการเตรียมความพร้อมสอนออนไลน์จำนวนมาก เป็นห่วงเรื่องการดูแลสภาพความเป็นอยู่ และสภาพจิตใจของครูเช่นกัน ครูหลายคนไม่ได้ทำงานที่บ้านเกิดมีภาระค่าใช้จ่ายที่มากอยู่แล้ว และไม่ใช่ทุกคนจะพร้อมรับกับการเปลี่ยนแปลงที่ไวขนาดนี้ ไม่ใช่ทุกคนจะเชี่ยวชาญกับการสอนออนไลน์ หากยังไม่มีแนวทางช่วยเหลือ และปล่อยให้ครูเผชิญหน้ากับปัญหาแบบนี้ต่อไป จะกลายมาเป็นอีกปัญหาสำคัญในอนาคตด้วย
รับฟังเสียงจากนักเรียน นำสู่การแก้ไข
เมื่อถามว่าสิ่งที่นักเรียนอยากได้จริง ๆ ในตอนนี้คืออะไร น้องพีท ตอบว่าสิ่งที่อยากได้คือ ‘การรับฟัง’ เพราะการเรียกร้องที่ผ่านมา การแสดงออกผ่านรูปแบบต่าง ๆ เท่าที่นักเรียนจะทำได้ ไม่เคยได้รับการแก้ไขเลย เสียงของนักเรียนไม่เกิดการรับฟังอย่างแท้จริง อยากให้ผู้ใหญ่ลดอีโก้ของตัวเองลง เสียงของเด็กคือคนที่ได้รับผลกระทบจากเรื่องนี้ ไม่ใช่ผู้ใหญ่ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ได้รับผลกระทบ
“เราอยากให้มีการรับฟังปัญหาจากพวกเรา และผู้ปกครองมากขึ้น กว่าจะปรับเปลี่ยนแต่ละอย่างใช้เวลานานมาก สิ่งที่เราอยากได้คือรับฟังเราก่อน แล้วค่อยลงไปแก้ปัญหา… แค่เรื่องรับฟัง เอาให้ได้ก่อน”
น้องพีท
ถึงแม้จะเคยสะท้อนกับผู้บริหาร และครูของตนเองแล้วก็ตาม แต่ปัญหาเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยครู แต่ต้องเริ่มจากระดับนโยบาย ที่ผ่านมาท่าทีของฝ่ายนโยบายค่อนข้างชัดเจนว่าไม่รับฟัง และไม่คิดแก้ไข เพียงแต่ออกมาให้สัมภาษณ์ และรับปากไปเท่านั้น ด้วยเพราะถูกกดดันจากการเรียกร้อง หากการนัดหยุดเรียน (strike) ในครั้งนี้ยังไม่เป็นผล เหมือนเป็นการลอยแพเด็ก ให้เผชิญกับปัญหานี้ตามลำพัง
ขณะที่ ครูทิว กล่าวว่าการรับฟังเป็นเรื่องสำคัญที่สุด และการแก้ปัญหานี้ไม่สามารถใช้วิธีการเดียวกันได้ ปัญหาที่เกิดขึ้นในปัจจุบันมีความแตกต่างกันไปในแต่ละที่ ดังนั้นจะทำอย่างไรจะทำให้เกิดการรับฟังจากทุกคนจริง ๆ ตั้งแต่ระดับกระทรวง ไปจนถึงระดับห้องเรียน สร้างพื้นที่ของการรับฟังให้เกิดขึ้น และสิ่งไหนที่สามารถตัดสินใจและดำเนินการได้ทันที ก็ควรทำ
“อย่าให้ความหวังลม ๆ แล้ง ๆ ปัญหาที่ผ่านมา คือ เราคาดหวังว่าเดี๋ยวสถานการณ์ก็จะดีขึ้น ดังนั้นตอนนี้ควรคิดได้แล้วว่าถ้าเทอมสองกลับมาเรียนไม่ได้จริง ๆ จะปรับการเรียนการสอนอย่างไร ต้องมองระยะยาวไปเลยว่าจะอยู่กันมันอย่างไร ไม่ใช่แก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเดียว”
ครูทิว ธนวรรธน์
‘โรงเรียนต้องกล้าหาญ และมีความเป็นผู้นำ’ ครูทิว กล่าวต่อว่า โรงเรียนต้องกล้าตัดสินใจ หลังจากรับฟังความคิดเห็น และต้องไม่ยึดติดกับระเบียบกฎเกณฑ์ใด เพราะตอนนี้แทบทุกโรงเรียนอยู่ในพื้นที่ปลอดภัยทั้งหมด เมื่อไม่กล้าทำ นักเรียนก็จะไร้ที่พึ่ง เพราะเด็กไม่ต้องการอะไรเลย นอกจากการรับฟัง และจริงใจต่อการแก้ปัญหา เพราะนักเรียนก็เข้าใจต่อข้อจำกัด และการทำหน้าที่ของโรงเรียนและคุณครูเช่นเดียวกัน
สอดคล้องกับ ผศ.อรรถพล ที่กล่าวเสริมผ่านกรณีตัวอย่าง โรงเรียนแห่งที่จัดพื้นที่การรับฟังนักเรียนผ่านโปรแกรม Zoom โดยผู้บริหารนั้นเข้ามารับฟังโดยไม่เปิดเผยตัวตน และได้มีเอาปัญหาทั้งหมดมาคิดร่วมกัน หาตัวเลือกของการแก้ไข ตนมองว่าถ้าโรงเรียนมีพื้นที่ของการพูดคุยกันจริง ๆ จะสามารถนำไปสู่ทางออกได้ เพราะโรงเรียน คือเครือข่ายของครู ผู้บริหาร และผู้ปกครอง เป็นชุมชนหนึ่งที่ต้องคิด และวางแผนร่วมกัน เพื่อประโยชน์ของนักเรียน
ผศ.อรรถพล กล่าวต่อว่า สถานการณ์ในตอนนี้ ‘การตัดสินใจต้องอยู่ใกล้โรงเรียนที่สุด’ ไม่สามารถใช้นโยบายเดียวกันกับทุกจังหวัด และทุกโรงเรียนได้ มอบอำนาจลงไปให้การตัดสินใจอยู่ในพื้นที่มากที่สุด เพราะปัญหาการเรียนแต่ละพื้นที่ไม่เหมือนกัน การเข้าถึงสื่อต่างกัน คุณภาพการเรียนต่างกัน ให้ปัญหาสะท้อนออกมาจากในโรงเรียน และเขตพื้นที่ทำหน้าที่เป็นข้อต่อของอำนาจในการหาแนวทางแก้ไข โดยมีเพียงกระทรวงคอยกำกับดูแลเท่านั้น
และอีกหนึ่งประเด็นซึ่ง ผศ.อรรถพล มองว่าสำคัญ และการขับเคลื่อนด้านการศึกษาของไทยใช้ประโยชน์น้อยคือ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และทุนทางสังคมต่าง ๆ ยกตัวอย่าง เทศบาลนครยะลา ได้แจกแท็บเล็ตให้กับนักเรียนฟรี ก็ทำให้นักเรียนได้ประโยชน์ การมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนในจังหวัด จะสามารถลดข้อจำกัดในบางประการได้ ซึ่งผู้บริหารต้องมองถึงเรื่องนี้ด้วย
เด็กหลุดจากระบบการศึกษา ปัญหาที่ไม่ควรมองข้าม
“การหลุดจากโรงเรียน โอกาสที่จะวกกลับมาไม่ง่ายเลยนะ และเราไม่เคยมีประสบการณ์ที่เด็กหลุดจากระบบพร้อมกัน 40,000 – 60,000 คน จะกลายเป็น Generation ที่หายตัวจากสังคมไทยไปเลย”
ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล
สำหรับปัญหาดังกล่าว ผศ.อรรถพล มองว่า โรงเรียนต้องมีบทบาทมากกว่าการจัดการศึกษา แต่ยังรวมไปถึงการติดตามและดูแลคุณภาพชีวิตของนักเรียนด้วย มีกรณีที่เราพบว่าเด็กนักเรียนคนหนึ่งเข้าเรียนออนไลน์ทุกครั้ง แต่ไม่พูดเลย จนได้รู้ว่าระหว่างเรียนนั้นเด็กต้องทำงานไปด้วย หากคุณครูยังสั่งงาน ยังมีการบ้านเต็มที่อยู่ นักเรียนก็จะไม่สามารถหาเวลามาเรียนได้ จนทำให้เขาต้องเลือกว่าจะเรียนต่อไป หรือจะลาออกไปทำงาน หากเราไม่สร้างบทบาทนี้ของโรงเรียนอย่างเป็นระบบ จะทำให้มีนักเรียนออกจากระบบการศึกษามากขึ้นกว่านี้
“ผมสนับสนุนเรื่อง รัฐสวัสดิการ ไม่ใช่แค่เรียนฟรี ทำอย่างไรที่รัฐจะช่วยดูแลความมั่นคงในชีวิตได้ ไม่ใช่แค่เรื่องของปัจเจก แต่รัฐควรช่วยประคับประคองด้วย”
ครูทิว ธนวรรธน์
ครูทิว กล่าวว่า ในสถานการณ์ปกติสำหรับคนเป็นครู เจ็บปวดกับเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว ถึงแม้ตนจะสอนหนังสือในกรุงเทพฯ แต่ก็มีนักเรียนที่ครอบครัวยากจน ต้องเลี้ยงดูตัวเอง หลายคนหลุดออกไปกลางคัน และบางคนก็ไม่ได้วุฒิเพราะค้างค่าเทอม และโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อเริ่มเรียนไม่รู้เรื่อง และไม่สามารถปะติดปะต่อด้วยตนเองได้ นักเรียนก็อาจยอมแพ้ และหลุดออกจากระบบไป ทุกวันนี้คุณครูทำได้เพียงติดตาม โทรถามความเป็นอยู่ แต่ในบางครั้งก็เกินกว่ากำลังที่จะช่วยไหว
“บางคนต้องจำใจต้องออกมาเพราะไม่มีเงินในการเรียนต่อไปแล้ว คนเหล่านี้น่าสงสารมาก เพราะไม่มีทางเลือกที่จะตามหาความฝันของตัวเองเลย ซึ่งเด็กเหล่านั้นก็ต้องการเรียนต่อ แต่สุดท้ายก็ถูกผลักออกมาจากระบบ”
น้องพีท
น้องพีท เล่าเสริมด้วยประสบการณ์ของตนเอง และเพื่อนร่วมชั้นเรียนว่า บางคนที่ยุคโควิด-19 จากเดิมที่พ่อแม่คอยส่งเงินให้สม่ำเสมอ แต่ชีวิตพลิกผันต้องออกมาทำงานด้วยตนเอง และยังต้องเรียนหนังสือควบคู่กันไป ถือเป็นภาระที่หนักมากสำหรับเด็กคนหนึ่ง และอยากให้ผู้ใหญ่ได้รับฟังเสียงตรงนี้ เพราะเด็กหลายคนยังอยากเรียนหนังสือต่อไป อยากประสบผลสำเร็จ แต่ไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐเลย จึงส่งผลให้มีเด็กต้องทิ้งการเรียน เพื่อทำมาหากินเลี้ยงดูตัวเองให้อยู่รอด