ที่ประชุมร่วมรัฐสภาถกยาว เหตุเป็นกฎหมายสำคัญที่จะนำไปสู่การปฏิรูปการศึกษา ส่วนใหญ่อภิปรายหนุน หวังพัฒนา ปรับบริบทให้เข้ายุคสมัย เพิ่มศักยภาพการศึกษาไทย แต่ยังลงมติรับหลักการไม่ได้ ยกไปสมัยประชุมหน้า
วันนี้ (17 ก.ย. 2564) ผู้สื่อข่าวไทยพีบีเอส รายงานว่า ที่ประชุมร่วมรัฐสภาประชุมพิจารณา “ร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. ….” ซึ่งคณะรัฐมนตรี เป็นผู้เสนอ มี ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ชี้แจงสาระสำคัญของกฎหมายว่า เป็นการมุ่งเน้นให้เกิดการพัฒนานักเรียนทุกช่วงวัย ได้มีความรู้ความเชี่ยวชาญ และพร้อมรับกับบริบทที่เปลี่ยนแปลง ทางสังคม สามารถนำองค์ควรรู้ในชั้นเรียนมาปรับใช้ในชีวิตประจำวัน พร้อมทั้งปรับวิธีการประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษา ห้ามใช้วิธีการทดสอบที่เน้นเชิงวิชาการอย่างเดียว แต่ต้องมีวิธีการทดสอบแบบอื่นที่เหมาะสมกับเด็กแต่ละคนด้วย ปรับรูปแบบการเรียนการสอนเป็นแบบเชิงรุก เน้นให้นักเรียนเกิดการตั้งคำถามและหาคำตอบได้ ด้วยตนเอง และปรับวิธีการบริหารงานสถานศึกษา กระจายอำนาจตัดสินใจให้โรงเรียน ลดภาระงานอื่นงานของครู ให้ครูมีหน้าที่สอนเป็นหลัก
สำหรับการอภิปรายให้ความเห็นต่อร่างพระราชบัญญัติฯ ดังกล่าว สมาชิกรัฐสภาให้ความสนใจอภิปรายเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติฯ เป็นจำนวนมาก ซึ่งส่วนใหญ่สนับสนุนให้มีร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อเพิ่มศักยภาพของการศึกษาไทย และพัฒนาการเรียนรู้ของเด็กให้เกิดประสิทธิภาพ เช่น สงวน พงษ์มณี ส.ส.จังหวัดลำพูน พรรคเพื่อไทย ในฐานะสมาชิกรัฐสภา เสนอให้มีการแก้ไขมาตรา 20 ด้วยการกำหนดให้สถานศึกษาเป็นนิติบุคคล เพราะสามารถระบุได้ว่า ต้องการให้สถานศึกษาควรดำเนินการด้านใดบ้าง สิ่งใดไม่ควรกระทำ หากไม่ได้ระบุให้เป็นนิติบุคคลจะไม่สามารถทำงานได้ รวมถึง การจัดการโครงสร้างที่ยังไม่ชัดเจน เนื่องจาก ในกฎหมายบัญญัติไว้ให้เป็นเพียงระเบียบเท่านั้น เกรงว่าจะขัดกับกฎหมายหลัก หากระบุให้เป็นระเบียบจะต้องไปแก้ในกฎหมายการบริหารราชการแผ่น อาจทำให้เกิดความยุ่งยากในการทำงานซึ่งการบัญญัติให้เป็นพระราชบัญญัติ จะเป็นหน้าที่ของสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้ดำเนินการ และจะเกิดการถ่วงดุลอำนาจในหลาย ๆ ด้าน พร้อมระบุว่าอยากเห็นเอกภาพของการบริหารการศึกษา
ด้าน ตวง อันทะไชย ส.ว. เห็นด้วยกับร่างกฎหมายดังกล่าว โดยเฉพาะการกระจายอำนาจไปยังโรงเรียนให้มีความเป็นอิสระมากขึ้น ทั้งการออกแบบวิชาการ การบริหารงานบุคคล การบริหารงานทั่วไป และบริหารงบประมาณ ทำให้มีโรงเรียนสามารถร่วมกับภาคส่วนต่าง ๆ ในการขับเคลื่อนการศึกษาได้ ซึ่งจะสอดคล้องกับการจัดการศึกษาในยุค new normal ที่เน้นให้ผู้เรียนมีทักษะวิชาการและวิชาชีพควบคู่กัน สามารถรับมือกับบริบทการเปลี่ยนแปลงของสังคมได้
สอดคล้องกับ นายแพทย์ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.จังหวัดน่าน พรรคเพื่อไทย เห็นว่า กฎหมายฉบับนี้มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการเรียนการศึกษา แต่มั่นใจได้อย่างไรว่าเขียนกฎหมายมาเช่นนี้จะปฏิรูปการศึกษาได้ ที่สำคัญควรมุ่งเน้นที่ตัวบุคคล พัฒนาตามทักษะตามความถนัด รวมถึงวิชาชีพชั้นสูงต้องตอบโจทย์โดยตรง ไม่ควรเขียนเป็นเพียงถ้อยคำและวาทกรรม ดังนั้น ควรระบุในรายละเอียดให้ชัดเจน ส่วนโครงสร้างของกฎหมายมีรายละเอียดมากเกินไป ไม่เหมาะสมที่จะเป็นกฎหมายแม่บท ควรปรับให้เห็นความสำคัญของการปฏิรูปการศึกษา พร้อมเสนอให้นำกฎหมายฉบับเดิมมาปรับปรุงในสิ่งที่เป็นประโยชน์ รวมทั้ง การกระจายอำนาจสู่สถานศึกษาต้องเป็นรูปธรรมและปฏิบัติได้จริง
หลังสมาชิกอภิปรายอย่างกว้างขวาง ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กดสัญญาณเสียงเรียกสมาชิกเพื่อจะลงมติ ถึง 3 ครั้ง แต่ปรากฏว่ามีสมาชิกเข้าร่วมประชุมบางตา มี ส.ส. พรรคร่วมรัฐบาลบางรายเสนอให้พักการประชุม 30 นาที แล้วค่อยมาลงมติ ขณะที่ ส.ส.ฝ่ายค้านท้วงติง ว่าร่างพระราชบัญญัติการศึกษาฯ เป็นกฎหมายสำคัญ เทียบเคียงกับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ซึ่งนายชวนระบุว่าเข้าใจ เนื่องจากเป็นการพิจารณากฎหมายถึงสองฉบับ สมาชิกบางส่วนอาจจะเดินทางกลับบ้านไปแล้ว พร้อมจะหยิบยกปัญหาขึ้นหารือในสมัยประชุมหน้า
ทั้งนี้ เมื่อนับองค์ประชุม มีสมาชิกแสดงตน 365 คน ซึ่งไม่เกินกึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกที่มีอยู่ 730 คน นายชวนจึงไม่ได้ให้ลงมติ โดยให้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร อ่านพระบรมราชโองการประกาศพระราชกฤษฎีกา ปิดประชุมรัฐสภาสมัยประชุมสามัญประจำปีครั้งที่หนึ่ง พ.ศ. 2564 ตั้งแต่ 19 กันยายนเป็นต้นไป ก่อนนายชวนจะบอกสมาชิกว่า พบกันอีกครั้งในวันที่ 1 พ.ย. 2564 ซึ่งเท่ากับว่าจะไปลงมติสมัยประชุมหน้า และปิดประชุมไปเวลา 20.15 น.