เกษตรกร เตรียมรับเงินเยียวยาเพิ่ม หลัง “ปรับเกณฑ์” ช่วยผู้ประสบภัยพิบัติด้านการเกษตรใหม่ จากน้ำท่วมฉับพลัน

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวจะได้รับเงินเยียวยาเพิ่มเป็น 1,340 บาทต่อไร่ ไม้ผล ไม้ยืนต้น 4,048 บาทต่อไร่ แต่ไม่เกินครัวเรือนละ 30 ไร่

แม้วันนี้ (20 ก.ย.2564 ) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จะรายงานว่าตั้งแต่ช่วงวันที่ 16 – 20 กันยายน 2564 ที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน เกิดอุทกภัยในพื้นที่ 14 จังหวัด ได้แก่ เชียงใหม่ ลำปาง ตาก สุโขทัย เพชรบูรณ์ พิจิตร กำแพงเพชร ชัยภูมิ เลย นครราชสีมา ปราจีนบุรี จันทบุรี พระนครศรีอยุธยา และนครศรีธรรมราช รวม 43 อำเภอ 124 ตำบล 568 หมู่บ้าน 3 เขตเทศบาล มีประชาชนได้รับผลกระทบ 15,629 ครัวเรือน แต่จะรับเงินเยียวยาได้ต่อเมื่ออธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว

เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า หลังจากที่ไทยประสบปัญหาฝนตกหนัก และฝนตกสะสม เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนสไลด์ ซึ่งส่งผลกระทบให้พืชผลของเกษตรกรเสียหาย ในช่วงที่ผ่านมา ได้ให้กรมส่งเสริมการเกษตรเตรียมความพร้อมช่วยเหลือเกษตรกรที่อาจประสบภัยพิบัติตั้งแต่ก่อนเกิดภัย จนถึงมาตรการช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 เมื่อวันที่ 1 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา มีการปรับหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564

สำหรับหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนเกษตรกรหรือปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดภัย และมีพื้นที่เสียหายสิ้นเชิงอยู่ในพื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือฯ สำหรับเงินช่วยเหลือที่เกษตรกรจะได้รับ คือ ครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท เดิม 1,113 บาท/ไร่ พืชไร่และพืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท จากเดิมรับเยียวยา 1,148 บาท/ไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่นๆ ไร่ละ 4,048 บาท เดิม 1,690 บาท/ไร่

เข้มแข็ง ยุติธรรมดำรง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ช่วงก่อนเกิดภัย ได้ติดตามและประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารสภาพภูมิอากาศและแจ้งเตือนภัยให้เกษตรกรทราบ และแนะนำเกษตรกรขึ้นทะเบียนเกษตรกรและปรับปรุงข้อมูลทะเบียนเกษตรกรให้เป็นปัจจุบัน รวมถึงประสานงานกับกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และศูนย์ติดตามและแก้ไขปัญหาภัยพิบัติด้านการเกษตรจังหวัดต่อเนื่อง พร้อมจัดชุดเฉพาะกิจลงพื้นที่ประสบภัยเพื่อให้ความช่วยเหลือเบื้องต้นแก่เกษตรกร ให้คำแนะนำในการดูแลรักษาพืชผลทางการเกษตรที่เสียหาย

สำหรับการประกาสระบเงินเยียวยา จะทำได้ก็ต่อเมื่ออธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยหรือผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว กรมส่งเสริมการเกษตรจะเร่งรัดสำรวจและประเมินความเสียหาย และช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564

โดยเมื่อพืชผลของเกษตรกรได้รับความเสียหาย ให้เกษตรกรยื่นแบบการขอรับความช่วยเหลือ (กษ 01) ซึ่งมีผู้ใหญ่บ้าน กำนัน อบต. หรือนายกเทศมนตรี ทำหน้าที่ตรวจสอบและรับรองเอกสาร แล้วให้คณะกรรมการหมู่บ้านตรวจสอบและรับรองความเสียหาย หลังจากนั้นให้ติดประกาศคัดค้านตามสถานที่ที่กำหนด ไม่น้อยกว่า 3 วัน เมื่อไม่มีผู้คัดค้าน สำนักงานเกษตรอำเภอนำเสนอคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด หรือ (ก.ช.ภ.จ.) พิจารณาให้ความช่วยเหลือ

นอกจากการช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบภัยตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 และหลักเกณฑ์วิธีปฏิบัติปลีกย่อยเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือด้านการเกษตรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2564 แล้ว กรมส่งเสริมการเกษตรได้เตรียมพืชพันธุ์ดี เช่น พืชผัก ไม้ผล ไม้ยืนต้น หรือพืชเศรษฐกิจ และสารชีวภัณฑ์ เช่น เชื้อไตรโคเดอร์ม่า พร้อมแจกจ่ายช่วยเหลือเกษตรกรหลังน้ำลดไว้พร้อมแล้ว

Author

Alternative Text
AUTHOR

นิตยา กีรติเสริมสิน

สนใจวงการบันเทิงตั้งแต่เด็ก รักการพูด แต่ชีวิตพลิกผันก้าวสู่นักสื่อสารมวลชน รักงานการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ดิน น้ำ และความเป็นไปของโลก คิดบวก มองทางเลือกใหม่ ๆ อย่างสร้างสรรค์