‘กมธ.เด็กเยาวชนฯ’ ชี้ ต้องแก้กฎหมายสร้างมาตรฐานใหม่สื่อ 18+ ‘บุ๋ม’ แนะ ควรแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เสริมความรู้เยาวชน ‘มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ’ ชวนสังคมเปิดใจ
ชวนมองต่างมุม จากกระแสจับ Sex Creator ที่เผยแพร่เนื้อหา 18+ ลงแพลตฟอร์ม OnlyFans และเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2560 รวมถึงมีการระบุจากเจ้าหน้าที่ตำรวจว่าเป็นการกระทำที่ผิดศีลธรรมอันดีของสังคม
การไล่จับ Sex Creator ไม่ใช่ทางออก
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์ ส.ส.พรรคก้าวไกล และโฆษก กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า เมื่อเกิดกรณีที่เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกจับ Sex Creator จึงเกิดคำถามว่าจะนำไปสู่อะไร และจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้ต่อ เพราะในสังคมไทยปัจจุบัน ผู้ที่ประกอบอาชีพด้านนี้มีอยู่ทั่วไป แลมีจำนวนไม่น้อย การตามจับทุกคน ไม่ใช่ตัวเลือกที่ดี และไม่สามารถทำให้สิ่งนี้หมดไปได้
“เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องเข้าใจว่าการ ‘ป้องกัน’ และ ‘ปราบปราม’ ในเรื่องเพศไม่สามารถทำได้ ไม่ใช่แค่ในประเทศไทย แต่ทั่วโลกก็ไม่สามารถทำได้ เนื่องจากเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ควรหามาตรการ เพื่อ ‘ปกป้อง’ และ ‘ดูแล’ มากกว่า”
ในขณะที่ ปนัดดา วงศ์ผู้ดี ประธานองค์กรทำดี กล่าวว่า ตำรวจควรทำในเรื่องที่จำเป็น และเร่งด่วน มากกว่าการจับ Sex Creator ไม่กี่คน เพราะไม่ช่วยแก้ปัญหาให้กับสังคมได้ ตนรู้สึกแปลกใจที่เหตุผลของการจับกุม ไปผูกโยงกับเรื่อง ‘ศีลธรรมอันดี’ เพราะหากพิจารณาดูแล้ว ผู้ผลิตเนื้อหาทางเพศรายนี้ สมัครใจที่จะร่วมเพศกับแฟนของตัวเอง ไม่ได้เป็นเรื่องที่ผิดผิดศีลด้วยซ้ำ เรื่องที่ควรให้ความสำคัญ คือ การค้าประเวณีที่ผิดกฎหมาย หรือการล่อลวงเยาวชนมาทำในเรื่องนี้ โดยที่ไม่ยินยอม ตำรวจจะสามารถทลายกลุ่มธุรกิจแบบนี้ได้อย่างไร ที่ไม่ใช่เป็นการปิดตาข้างเดียว อย่างที่เป็นอยู่
เสียงสะท้อนจาก จำรอง แพงหนองยาง รอง ผอ.มูลนิธิเพื่อนพนักงานบริการ หรือ SWING กล่าวว่า มีคนรอบตัวของตนหลายคน ที่ใช้ช่องทางแพลตฟอร์มออนไลน์ อย่าง Onlyfans ในการทำมาหากิน เลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เพราะเขาไม่ได้ขายบริการทางเพศ หรือ ค้าประเวณีกับผู้อื่น ยกเว้นคู่นอนของตัวเอง จึงกังวลว่าหากตำรวจใช้กฎหมายในการจับกุมและปราบปรามมากเข้า จะทำให้นิยามตรงนี้ผิดไป จนอาจเหมารวมทุกคนว่าเป็นผู้ให้บริการทางเพศทั้งหมดได้ อยากให้มีการกำหนดนิยามที่ชัดเจน และในอีกมุมหนึ่งเท่าที่ทราบมานั้น การรับรายได้ของผู้ที่ทำงานด้านนี้ หากเป็นการจ่ายเงินผ่านบัตรเครดิต ก็มีส่วนที่ต้องมีรายได้เข้ารัฐด้วยหรือไม่ หากมีแล้ว ควรทำให้ถูกกฎหมาย และควบคุมอย่างจริงจังได้หรือไม่
สร้างมาตรฐานใหม่ ผ่านกฎหมายควบคุมหนังผู้ใหญ่
ธัญวัจน์ ในฐานะสมาชิกสภาผู้แทราษฎร กล่าวว่า อาชีพ Sex Creator ไม่ได้ต่างจากการผลิตหนังผู้ใหญ่ ต่างกันเพียงกระบวนการผลิตเนื้อหา ที่สามารถทำได้ด้วยตนเอง สร้างสรรค์เนื้อหาได้ด้วยตนเอง และเผยแพร่ผ่านช่องทางออนไลน์ เพราะเกิดการเปลี่ยนแปลงด้านเทคโนโลยี กฎหมายเกี่ยวกับการสร้างภาพยนตร์ หรือผลงานต่าง ๆ ควรเข้ามาควบคุมและจำกัดอย่างเหมาะสม
เนื่องจากมีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญว่า นักแสดงยินยอมหรือไม่ ? หากจะป้องกันและควบคุมเพื่อไม่ให้นำไปสู่การล่อลวง และการละเมิดผู้อื่น ต้องเข้ามากำกับดูแล ไม่ใช่การปราบปรามเนื้อหาประเภทนี้อย่างที่เป็นอยู่ เพราะคลิปวิดีโอที่ถูกผลิตออกมาตอนนี้สามารถเข้าถึงได้ง่าย และไม่มีใครปฏิเสธว่ามีอยู่จริง ควรมีการนิยามเนื้อหาประเภทนี้อย่างชัดเจน และกำหนดว่าใครสามารถทำได้บ้าง และการเข้าถึงควรมีขอบเขตอย่างไร จึงจะทำให้เราสามารถมองเห็นสื่อแบบนี้อยู่ในสายตา
สอดคล้องกับ ปนัดดา ซึ่งมองว่าสิ่งที่เรากำลังกังวลคือ เยาวชนจะเข้ามาสู่เรื่องเหล่านี้ก่อนวัยอันควร และไม่ได้ไตร่ตรองอย่างเหมาะสม แม้จะแก้กฎหมายแล้ว ยังคงต้องแก้ปัญหาเรื่องนี้ที่ต้นเหตุ คือสร้างการรับรู้ และเสริมภูมิคุ้มกันในเรื่องเพศ ให้เยาวชนรู้เท่าทันว่า หากเลือกที่จะประกอบอาชีด้านนี้ จะมีผลดี และผลเสียอย่างไร เพื่อให้ได้มีอำนาจในการตัดสินใจด้วยตนเอง
“การแก้กฎหมาย มันก็คือปลายเหตุ ถ้าเรากังวลกับเยาวชน ก็ต้องไปบอกเขาว่า ทำอาชีพด้าน SEX มันมีทั้งข้อดี และข้อเสีย ให้เขาเลือกอนาคตของเขาเอง ให้เขาตัดสินใจเอง”
ปนัดดา วงศ์ผู้ดี
อาชีพที่เกี่ยวกับเพศทั้งระบบ ควรได้รับการคุ้มครองอย่างถูกต้อง
นอกเหนือจากอาชีพ Sex Creator แล้ว ในสังคมไทยยังมีอาชีพอื่น ๆ ซึ่งอาศัยเรือนร่างและเพศสัมพันธ์ในการแลกกับรายได้และผลตอบแทนอีกมาก อย่างเช่น การขายบริการ ธัญวัจน์ กล่าวว่าตอนนี้ กำลังมีการร่างกฎหมายเพื่อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณีฯ ซึ่งจะเสนอโดย กมธ.กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ ควบคู่กับร่างของพรรคก้าวไกล เพื่อแก้ไขสาระสำคัญของกฎหมายนี้
ธัญวัจน์ กล่าวว่า เวลาทำกฎหมายต้องมีการคิดรอบด้าน การทำให้การค้าประเวณี เป็นเหมือนกฎหมายแรงงานทั่วไป อาจเปิดทางให้กลุ่มทุนซึ่งมีกำลังมาก อาศัยช่องทางนี้เพื่อผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ โดยไม่คำนึงถึงสิทธิของผู้ให้บริการได้ และกฎหมายยังต้องคุ้มครองผู้ใช้บริการ รวมถึงสถานประกอบการด้วย หากมีความชัดเจนมากกว่านี้ จะนำรายละเอียดมาเปิดเผย
ขณะที่ จำรอง กล่าวว่า คนที่ประกอบอาชีพเหล่านี้ ไม่ได้ต้องการให้ตัวเขามีความพิเศษมากกว่าผู้อื่น เพราะไม่ได้มีใครอยากเข้ามาทำอาชีพในลักษณะนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสังคมไทย แต่เมื่อในตอนนี้สังคมเรามีเรื่องเหล่านี้อยู่แล้ว จึงควรเอาประเด็นนี้ขึ้นมาพูดคุยกันอย่างเปิดเผย ให้คนเหล่านี้มีตัวตน มีสิทธิในการประกอบอาชีพ โดยไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ แล้วคอยจ่ายผลประโยชน์ให้กับเจ้าหน้าที่อย่างที่เป็นอยู่ ซึ่งประเทศไม่ได้ประโยชน์อะไรจากตรงนี้เลย
“เราไม่ได้ต้องการให้คนทำงานด้าน SEX มีความพิเศษมากกว่าคนอื่น เราต้องการจุดยืนที่เท่ากับคนอื่นบ้างเท่านั้นเอง ให้เขามีตัวตน ไม่ถูกตีตรา หรือรังเกียจ เพราะเขาสามารถสร้างประโยชน์ให้ประเทศได้เหมือนกัน”
จำรอง แพงหนองยาง
จำรอง กล่าวต่อว่า ในฐานะที่ตนเองเคยประกอบอาชีพทางด้านนี้ เสียงสะท้อนจากผู้ที่อยู่ในแวดวงนี้ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า ให้ยกเลิกกฎหมายนี้ไปเลยได้หรือไม่ ให้มีสิทธิและสวัสดิการเหมือนแรงงานทั่วไป หากกระทำความผิดก็ให้ว่าไปตามกฎหมายอาญา หรือหากจะเป็นการล่อลวงเยาวชนมาประกอบอาชีพนี้ ก็ควรใช้กฎหมายการค้ามนุษย์อื่น ๆ เข้ามากำกับอีกทางหนึ่ง แต่ควรทำให้อาชีพเหล่านี้ถูกกฎหมายได้แล้ว
“กฎหมายจะศักดิ์สิทธิ์ได้ ผู้บังคับใช้กฎหมายต้องจริงจัง และทำทันที” เป็นความเห็นของปนัดดา ที่มองว่าที่ผ่านมาเป็นเพราะเจ้าหน้าที่ ไม่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง และเลือกที่จะใช้กฎหมายนี้ในการหาประโยชน์ จนทำให้ธุรกิจแบบนี้ยังคงมีอยู่นอกระบบ และขาดมาตรฐานในการดูแล เจ้าหน้าที่จึงเป็นส่วนสำคัญที่ต้องเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้ จึงจะแก้ไขปัญหานี้ได้ในระยะยาว
ศีลธรรมต้องปรับตัว พร้อมเทคโนโลยีที่เปลี่ยนไป
“เรื่องเพศ ไม่ใช่เรื่องผิด แต่เป็นเรื่อง สิทธิ ในเมื่อเขาตัดสินใจจะใช้สิทธินั้นด้วยความเต็มใจ เราต้องเคารพ และรัฐต้องเข้าใจว่าสิ่งนี้ไม่สามารถป้องกันและปราบปรามได้แล้ว แต่จะรับมืออย่างไร เพื่อให้ปลอดภัยกับคนทุกคน”
ธัญวัจน์ กมลวงศ์วัฒน์
ธัญวัจน์ กล่าวว่า ที่ผ่านมาสังคมกดทับ คนเหล่านี้มาเป็นเวลานาน ไม่ใช่แค่เรื่องกฎหมาย แต่เป็นโครงสร้างสังคม มองคนเหล่านี้ว่าผิดบาป ผิดศีลธรรม ทั้งที่เรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ สิ่งที่เกิดตอนนี้ คือพวกเขาขึ้นมาต่อสู้ และแสดงสิทธิของตนเอง ทุกคนมีสิทธิเสรีภาพที่จะตัดสินใจ แต่ต้องถามว่าเรามีข้อมูลเท่าไหร่ ให้พวกเขาได้ตัดสินใจด้วยตนเอง รัฐต้องหามาตรการเพื่อดูแลให้เรื่องนี้ปลอดภัยสำหรับทุกคน และเป็นธรรมสำหรับทุกคน
ปนัดดา กล่าวว่า ยุคสมัยได้เปลี่ยนไปแล้ว เรื่องเหล่านี้เป็นความจริงที่อยู่ในสังคมกับเรามาโดยตลอด อยู่ที่ว่าใครกันที่จะกล้าออกมาพูด หรือเปิดเผยตัวตนอย่างเต็มที่ เพราะสังคมจะแบ่งออกเป็นสองฝ่ายเสมอ ไม่เคยมีตรงกลางให้ยอมรับร่วมกันได้ จึงจำเป็นต้องหาตรงกลางร่วมกัน ยอมรับความแตกต่าง และสร้างกลไกเพื่อควบคุมอย่างเหมาะสม
จำรอง อยากให้สังคมมองเห็นข้อดีของธุรกิจ และผู้ที่ประกอบอาชีพในด้านนี้ โดยวางศีลธรรมอันดีลงบ้าง ไม่ควรตัดสินใคร ด้วยวิธีคิดของคนใดคนหนึ่ง เมื่อเทคโนโลยีก้าวหน้าไปแล้ว ก็ไม่อาจยึดอยู่กับศีลธรรมได้ ควรถอยหลังออกมาแล้วมองให้เห็นคนเหล่านี้ชัดเจนขึ้น ว่าจะสามารถทำห้พวกเขามีคุณค่าและสร้างประโยชน์ให้กับประเทศได้อย่างไร