ชาวบ้านนาน้อย จ.น่าน เตรียมบุกศาลากลาง หลังคดีทวงคืนผืนป่าไม่คืบ

อัยการอ้างข้อกฎหมายส่งสำนวนกลับให้ สภ.นาน้อย สอบพยานใหม่ แม้รัฐบาลเคาะยุติคดีแล้วเมื่อต้นปี 2564 ด้านชาวบ้านเตรียมบุกศาลากลางขออัยการมีแนวทางไม่สั่งฟ้อง

ชาวบ้านห้วยน้ำหิน อ.นาน้อย จ.น่าน 255 คน ซึ่งได้รับผลกระทบจากนโยบายทวงคืนผืนป่าเมื่อปี 2558 ได้เข้าร่วมประชุมกับนายอำเภอนาน้อย เจ้าหน้าที่ป่าไม้ และรองผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรนาน้อย ณ ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลสถาน เมื่อวันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา เกี่ยวกับความคืบหน้าการแก้ปัญหาคดีความ ก่อนจะได้รับการชี้แจงว่าพนักงานอัยการ จ.น่าน ได้ส่งเรื่องกลับมาที่ สภ.นาน้อย ให้มีการแยกสำนวนเป็น 255 ราย และต้องมีการสอบปากคำใหม่สร้างความกังวลใจให้ชาวบ้าน

ห้องประชุมองค์การบริหารส่วนตำบลสถาน จ.น่าน

นายปวรวิช คำหอม สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จ.น่าน กล่าวว่า ชาวบ้านได้รับการประสานงานจากนายอำเภอเรื่องคดีของนาน้อย ว่าอัยการส่งหนังสือถึง สภ.นาน้อยให้มีการสอบคดีเพิ่ม แยกเป็นรายๆ แต่ข้อมูลก่อนหน้านั้น สภ.นาน้อยได้ส่งสำนวนมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องไปแล้ว ซึ่งเป็นการรวมสั่งเป็นสำนวนเดียว แต่พนักงานอัยการอ้างว่าในรูปคดีเป็นคดีรายบุคคล ส่งรวมเป็นสำนวนเดียวไม่ได้ เพราะขัดต่อกฎหมาย จึงทำหนังสือถึง สภ.นาน้อย ให้ทำสำนวนเป็นรายๆ ก็ต้องมาเรียกพี่น้องไปสอบเป็นรายๆ ทำให้ชาวบ้านหวาดกลัวและทำให้กระบวนการแก้ไขปัญหาล่าช้า

 “นายอำเภอเสนอว่าจะทำหนังสือถึงผู้ว่าราชการจังหวัด ให้เรียกอัยการและพี่น้องไปฟังความชัดเจนว่าหลังจากที่ สภ. นาน้อยส่งสำนวนไปให้แล้วจะเป็นยังไงต่อ เพื่อให้พี่น้องมั่นใจว่าจะไม่ถูกดำเนินคดีส่วนพี่น้องเองก็ได้สรุปว่าการต่อสู้ที่ยาวนานนั้น คดีก็ยังไม่จบ กลับไปกลับมา พี่น้องต้องทำมาหากิน ถ้าวันนี้อัยการไม่ให้ความชัดเจนกับพี่น้องก็จะไม่กลับ แล้วจะขยับไปหาอัยการที่จังหวัดเพื่อทวงถามว่าทำไมไม่ดำเนินการเรื่องคดีให้มีความคืบหน้าตามแนวนโยบาย”

นายปวรวิช กล่าว

ก่อนหน้านั้นเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2564 มีการประชุมคณะอนุกรรมการประสานงานเร่งรัดติดตามการแก้ไขปัญหาของขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรมและขับเคลื่อนนโยบาย 9 ด้าน ณ อาคารสำนักงาน ก.พ. (เดิม) โดยมี ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในขณะนั้นเป็นประธาน มีมติเห็นควรให้สั่งไม่ฟ้องคดีทวงคืนผืนป่าที่บ้านห้วยน้ำหิน ด้วยเหตุว่าไม่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ โดยพนักงานสอบสวน สภ.นาน้อย ก็ได้ทำสำนวนและมีความเห็นสั่งไม่ฟ้องไปยังพนักงานอัยการ จ.น่าน แล้ว ซึ่งผู้แทน สกน. จ.น่าน ก็ย้ำว่าพนักงานอัยการก็ควรเร่งสั่งไม่ฟ้องตามแนวนโยบายและความเห็นของ สภ.นาน้อย ไม่ใช่ยื้อเวลาการแก้ไขปัญหาให้ล่าช้า และจะสร้างความเดือดร้อนให้ประชาชนที่ไม่มีที่ดินทำกิน

นายปวรวิช คำหอม สหพันธ์เกษตรกรภาคเหนือ (สกน.) จ.น่าน

“สิ่งที่พนักงานอัยการควรเอาสำนวนเป็นตัวตั้งเพื่อที่จะสั่งไม่ฟ้องต่อในชั้นพนักงานอัยการ แต่เขาไม่ได้ให้ความชัดเจนเลยว่า ถ้าสำนวนไปอีกครั้งคดีจะออกมาในรูปแบบไหน พี่น้องไม่เชื่อในกระบวนการยุติธรรมว่าจะทำให้พี่น้องปลอดภัยในการพิจารณาคดี ถ้ากระบวนการแก้ปัญหายังล่าช้าไปอีก พี่น้องจะไม่สามารถเข้าไปทำมาหากินได้ จะประสบปัญหาเรื่องรายได้ การส่งเสริมโครงการต่างๆ ที่เจ้าหน้าที่ได้วางกรอบไว้ว่าจะเข้าไปสนับสนุน ฟื้นฟูคุณภาพชีวิตพี่น้องนาน้อยก็จะขยับไม่ได้ เพราะคดียังไม่สิ้นสุด พี่น้องจะขาดโอกาสในการพัฒนาอาชีพและคุณภาพชีวิต จะเจอกับหนี้สินตามมา ลูกต้องไปเรียนก็จะไม่สามารถส่งได้ พี่น้องต่อสู้มาอย่างยาวนานแล้วยังไม่จบ ก็เกิดโรคเครียด ไม่สามารถประกอบอาชีพ บางคนก็อาจจะคิดสั้น ที่ผ่านมาก็มีชาวบ้านที่เครียดจนเสียชีวิตไปแล้ว เราไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์นั้นอีก”

 ผู้แทน สกน. จ.น่าน ย้ำ
นายสยาม มังกิตะ หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้เวียงสา 

ด้าน นายสยาม มังกิตะ หัวหน้าหน่วยป้องกันและพัฒนาป่าไม้เวียงสา ชี้แจงว่า ชาวบ้านที่ได้รับความเดือดร้อนเมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมาได้สรุปเป็นที่เรียบร้อย สั่งฟ้องอัยการเรียบร้อย ทาง สภ. นาน้อยยังสงสัยว่าทำไมอัยการถึงตีกลับ มันมีเหตุและผล อนุมานได้ว่าพนักงานอัยการให้ทำการแยกเป็นรายเพื่อที่จะทำการสรุปเป็นคดีรายย่อยเพื่อที่จะสั่งฟ้อง โดยตัวหนังสือระบุว่าศาลได้สั่งฟ้อง ตัวนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญเพราะเป็นระเบียบเพราะไม่สามารถสั่งฟ้องเป็นภาพรวม 

พ.ต.ท.วิฑูร ชัยวุฒิ รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.นาน้อย  

ขณะที่ พ.ต.ท.วิฑูร ชัยวุฒิ รองผู้กำกับ (สอบสวน) สภ.นาน้อย กล่าวว่า ที่บอกว่าตำรวจแจ้งข้อกล่าวหาจับนั้นไม่ใช่ แต่ให้ชาวบ้านไปในฐานะพยานเพื่อทำการสอบถามที่ไปที่มาของ 255 ราย แล้วทางคณะพนักงานสอบสวนจะทำการพิจารณาตามกรอบทางกฎหมาย และมีความเห็นส่งไปถึงอัยการ ซึ่งบอกตรงๆ ว่าทางตำรวจไม่ได้กล่าวหาว่าทุกคนที่โดนคดีจะเป็นผู้ต้องหา 

กรณีทวงคืนผืนป่าที่ชุมชนบ้านห้วยน้ำหิน อ.นาน้อย จ.น่าน เกิดขึ้นตั้งแต่ปี2558 ตามคำสั่ง คสช. ฉบับที่ 64/2557 บนพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและโครงการปลูกป่าทดแทนขนาด 7,820 ไร่ ซึ่งจับกุมชาวบ้านทั้งสิ้น 298 ราย เมื่อคัดกรองตามเกณฑ์ผู้ยากไร้และไม่มีที่ดินทำกิน ตามคำสั่ง คสช. ที่ 66/2557 พบว่ามีผู้ผ่านเกณฑ์ 262 ราย จากการเคลื่อนไหวร่วมกับขบวนการประชาชนเพื่อสังคมที่เป็นธรรม (P-MOVE) ทำให้มีแนวนโยบายในการยุติคดีและเยียวยาผลกระทบด้วยการมีโครงการฟื้นฟูของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อให้ชาวบ้านสามารถกลับเข้าไปทำกินได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ