พิษโควิด! พบคนตกงาน จำใจทิ้งห้องเช่า เปลี่ยนชีวิต สู่ “คนไร้บ้านหน้าใหม่”

สำรวจกลุ่มตัวอย่างผู้อาศัยห้องเช่า ในเขตเมือง 9 จังหวัด ส่วนใหญ่ ถึงร้อยละ 60 หมดปัญญาจ่ายค่าเช่า หันพึ่งของบริจาค ลดภาระค่าใช้จ่าย อีกร้อยละ 15 ยอมใช้ชีวิตในที่สาธารณะ ภาคประชาชน เสนอ 4 มาตรการ จี้รัฐแก้ปัญหาเฉพาะหน้า

วันนี้ (3 ต.ค.64) เวทีเสียงจากห้องเช่าและคนไร้บ้านในสถานการณ์วิกฤตโควิด -19  ตัวแทนมูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย, สมาคมคนไร้บ้าน, กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน, ทีมอาสาสมัครคนไร้บ้าน และเครือข่ายสลัมสี่ภาค ร่วมกันแถลงผลสำรวจ และข้อเสนอต่อการแก้ปัญหาความเดือดร้อนของกลุ่มผู้เช่าห้องราคาถูก ในภาวะวิกฤตโควิด – 19 

โดยระบุว่า สถานการณ์วิกฤตโควิด – 19 ในช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา ส่งผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปทุกกลุ่ม  หลายอาชีพต้องปิดกิจการ หลายคนต้องตกงาน หรือแม้จะประกอบอาชีพเดิมได้ แต่รายได้ก็ลดลงมาก การดำรงชีวิตที่ไม่ปกตินี้  ทำให้หลายครอบครัวต้องอยู่ในภาวะที่ยากลำบาก บางครอบครัวต้องล่มสลาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มคนเปราะบางที่ไม่มีความมั่นคงในด้านอาชีพ ไม่มีความมั่นคงในด้านที่อยู่อาศัย

มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย สมาคมคนไร้บ้าน กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน เครือข่ายสลัมสี่ภาค และทีมอาสาสมัครคนไร้บ้าน  ได้ลงพื้นที่ให้การช่วยเหลือกลุ่มคนไร้บ้านที่ได้รับผลกระทบจากภาวะวิกฤตโควิด-19 และผลักดันให้เกิดจุดประสานงานเชิงรุกในพื้นที่สาธารณะ โดยมีการให้บริการช่วยเหลือในปัจจัยสี่ การให้ความรู้ในเรื่องการรับมือกับภาวะโรคระบาด การสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันโรค และการผลักดันให้คนไร้บ้านได้รับการตรวจเชิงรุกรวมไปถึงการเข้าถึงวัคซีนอย่างทั่วถึง   

จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูลในจุดประสานงานย่อย  พบว่า นอกจากคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ในที่สาธารณะจะได้รับผลกระทบแล้ว ยังมีประชาชนกลุ่มเปราะบางอื่น ๆ ทั้งคนไร้บ้านหน้าใหม่ในพื้นที่สาธารณะ ผู้ที่อาศัยอยู่ในชุมชนแออัด ประชาชนทั่วไป และยังพบว่ามีกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ในห้องเช่า และบ้านเช่าราคาถูก  ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มประชากรแฝงในพื้นที่  ที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากรัฐ จนทำให้บางส่วนต้องหลุดออกมาจากห้องเช่าและมาอาศัยอยู่ในพื้นที่สาธารณะ

จึงร่วมกันสำรวจกลุ่มผู้ที่หลุดจากห้องเช่า และกลุ่มผู้ที่ยังอยู่ในห้องเช่าราคาถูก  ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด – 19  ในเขตเมือง จำนวน 9 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร, ปทุมธานี, เชียงใหม่, ขอนแก่น, กาญจนบุรี, ชลบุรี, จันทบุรี, นนทบุรี และระยอง จำนวน  216 กรณีตัวอย่าง 

พบว่า คนส่วนใหญ่ที่พักอาศัยในห้องเช่า หรือบ้านเช่าราคาถูก เป็นคนจากต่างจังหวัด ต่างอำเภอ ถึงร้อยละ 46  ลักษณะการพักอาศัยร้อยละ 66 เป็นลักษณะครอบครัว  ขนาดของห้องเช่าส่วนใหญ่ขนาด 3.5 x 4 เมตร  ไม่มีการตบแต่ง หรือมีสิ่งอำนวยความสะดวกใด ๆ  โดยราคาค่าเช่าห้อง อยู่ระหว่าง 1,000 – 2,000 บาทต่อเดือน  

และระยะทางจากที่พักอาศัย ถึงสถานที่ทำงาน อยู่ในระยะ 1- 5 กิโลเมตร มากถึงร้อยละ 79  และส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 43 ระบุว่า ไม่มีค่าใช้จ่ายในการเดินทาง  จึงประเมินได้ว่า ผู้เช่าห้องส่วนใหญ่ต้องการเช่าห้องในเมืองใกล้แหล่งงาน ถึงแม้สภาพห้องเช่าจะไม่กว้างขวางสะดวกสบายก็ตาม   

ขณะที่สถานการณ์แพร่ระบาดของโควิดตลอด 2 ปีที่ผ่านมา และมาตรการของรัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิดส่งผลกระทบต่อผู้เช่าห้องอย่างชัดเจน  จากการสำรวจระบุว่า ร้อยละ 64 ประสบปัญหารายได้ลดลงจากการจ้างงานที่ลดลง และร้อยละ 10  ต้องตกงาน  จึงส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตความเป็นอยู่ของผู้เช่าห้อง   

“ผู้เช่าห้อง ไม่สามารถจ่ายค่าห้องเช่าได้อย่างปกติมากกว่าร้อยละ 60 และต้องออกมารับอาหาร หรือของบริจาคอื่นๆ จากเอกชนและจากจุดประสานงานย่อยในที่สาธารณะ เพื่อแบ่งบาภาระค่าใช้จ่าย และพบว่าผู้เช่าห้องร้อยละ 15 ต้องออกห้องเช่ามาใช้ชีวิตในที่สาธารณะ เป็นคนไร้บ้านหน้าใหม่ ”

ดังนั้นหากไม่มีนโยบาย หรือมาตรการในการช่วยเหลือสนับสนุน คนกลุ่มนี้อาจต้องกลายเป็นคนไร้บ้านถาวรหรือแม้แต่ผู้ที่ยังสามารถอยู่ในห้องเช่าได้  ข้อมูลจากการสำรวจ ก็ชี้ชัดว่าพวกเขาอยู่ในสภาวะที่เสี่ยงต่อการหลุดออกมาจากห้องเช่าได้ตลอดเวลา 

เนื่องในวันที่อยู่อาศัยโลก ประจำปี 2564 มูลนิธิพัฒนาที่อยู่อาศัย, สมาคมคนไร้บ้าน, กลุ่มเพื่อนคนไร้บ้าน และเครือข่ายสลัมสี่ภาค ซึ่งเป็นองค์กรภาคประชาชาชนที่ทำงานกับกลุ่มเปราะบางต่าง ๆ มาอย่างต่อเนื่อง จึงมีข้อเรียกร้องไปยังรัฐบาลเพื่อให้มีมาตรการในการสนับสนุน ช่วยเหลือ กลุ่มผู้เช่าห้องเช่าราคาถูก เพื่อให้เข้าถึงสิทธิพื้นฐาน มาตรการความปลอดภัยจากโรคระบาดโควิด-19  และการสนับสนุนด้านอื่น ๆ เพื่อให้ดำรงชีวิตในสถานการณ์วิกฤตได้ โดยมีข้อเสนอ 4 มาตราการเฉพาะหน้า คือ


1. กรณีผู้ที่ต้องออกจากห้องเช่า จากผลกระทบของภาวะวิกฤตโควิดต้องจัดหาที่อยู่อาศัยรองรับชั่วคราวระยะสั้น 3-6 เดือน ในเมือง ใกล้แหล่งประกอบอาชีพ โดยลดเงื่อนไขข้อจำกัดในการเข้าพัก เพื่อให้สอดคล้องกับความเดือดร้อน และวิถีชีวิตในการประกอบอาชีพ

2. จัดให้มีหน่วยงานมาส่งเสริม และพัฒนาอาชีพสำหรับคนตกงาน ทั้งผู้ที่หลุดออกมาจากห้องเช่า และผู้ที่ยังอยู่ในห้องเช่า แต่อยู่ในสภาวะที่ยากลำบาก

3. ให้มีจุดประสานงานประจำ ในพื้นที่ที่ให้ผู้เดือนดร้อนสามารถประสานขอความช่วยเหลือได้โดยสะดวก  เช่นการหาที่พักอาศัย  อาชีพ  สิทธิที่จะได้รับการช่วยเหลือเยียวยาอื่น ๆ  อุปกรณ์ป้องกันโควิด  การตรวจ การรักษาพยาบาล และการเข้าถึงการฉีดวัคซีน เป็นต้น

4. ต้องผ่อนปรน และลดเงื่อนไขในการเข้าถึงเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อย ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เพื่อให้ผู้เดือดร้อนสามารถเข้าถึงการช่วยเหลือได้ทันที

ส่วนมาตรการระยะยาว คือ  1. ต้องผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคระบาดลง และมีมาตรการกระตุ้นให้เกิดการจ้างงาน และฟื้นฟูเศรษฐกิจฐานรากให้ผู้คนอยู่ร่วมกับโควิดได้ และ 2. หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับชาติ และระดับท้องถิ่น ต้องพัฒนานโยบายการจัดที่พักอาศัยสำหรับเช่าราคาถูกในเมือง ที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตของกลุ่มคนจนเมือง ที่เป็นแรงงานผู้เกื้อหนุนหล่อเลี้ยงคนเมือง ให้มีโอกาสเข้าถึงสวัสดิการด้านที่อยู่อาศัยราคาถูกจากรัฐ 

Author

Alternative Text
AUTHOR

ทัศนีย์ ประกอบบุญ

นักข่าวสายลุย เกาะติดประเด็นแล้วไม่มีปล่อย รักการเดินทาง หลงรักศิลปะบนรองเท้า และชอบร้องเพลงเป็นชีวิตจิตใจ