ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธารโต จ.ยะลา เปิดใจยอมรับความซับซ้อนของพื้นที่ชายแดนใต้ โดยเฉพาะอุดมการณ์ทางความคิด ยัน พร้อมฉีดวัคซีนให้ทุกกลุ่มความเชื่อ ขอเพียงติดต่อมา จะไปฉีดให้ถึงที่
เมื่อวันที่ 15 ต.ค. 2564 ทีมข่าว The Active เดินทางลึกเข้าไปในหมู่บ้านที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองจังหวัดยะลา ทำให้เข้าใจหลากหลายปัจจัย ที่ส่งผลต่อสถานการณ์การระบาดในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้
หมู่บ้านพัฒนา ตำบลธารโต อำเภอธารโต ชาวบ้านอาศัยอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม บริเวณเชิงเขา มีลักษณะเป็นครอบครัวขยาย ที่อยู่รวมกันทั้ง ปู่ ย่า ตา ยาย ไป จนถึงเด็กเล็ก
บ้านบางหลังอยู่รวมกันถึง 8 คน อรนริทร์ หามะ ชาวบ้านในชุมชนบอกว่า ค่านิยมของชาวมุสลิมในชนบท ถ้าเพื่อนเราอิ่ม เพื่อนบ้านก็ต้องอิ่มด้วย ทำให้การไปมาหาสู่กันเป็นเรื่องปกติ การระบาดของโควิด-19 จึงท้าทายความเคยชินในวิถีชีวิตปกติของเธอไม่น้อย
สถานการณ์ระบาดในพื้นที่ ทำให้โรงพยาบาลธารโต ต้องเพิ่มเตียงเพื่อรองรับผู้ป่วยโควิด-19 มากขึ้น จากเดิมที่มีเตียงรองรับผู้ป่วยเพียง 30 เตียง เวลานี้มีเตียงเพิ่มมากกว่า 200 เตียง ขณะที่มีผู้ป่วยที่เสียชีวิตแทบทุกวัน และส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ
นายแพทย์มัซลัน ตะเระ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธารโต บอกว่า การควบคุมโรคระบาดชายแดนใต้จะใช้โมเดลเดียวกับกรุงเทพฯ ไม่ได้ เพราะคนที่นี่รับฟังข้อมูลข่าวสารจากฝั่งมาเลเซีย ทำให้ชาวบ้านจำนวนมากต้องการฉีดวัคซีนไฟเซอร์มากที่สุด และที่สำคัญ ที่นี่ยังมีการระบาดของสายพันธุ์เบตา ซึ่งดื้อต่อวัคซีนซิโนแวค
ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธารโต มองว่ายังมีปัจจัยทางสังคมที่ทำให้การระบาดในพื้นที่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น ปัจจัยแรกจากเทศกาลรายอและเทศกาลผลไม้เมื่อเดือนกรกฎาคม ทำให้คนนอกพื้นที่เดินทางเข้ามาจำนวนมากและนำเชื้อติดมาด้วย ไม่นับปัจจัยแทรกซ้อนอื่น
เขาเปิดใจยอมรับว่า ในพื้นที่ห่างไกลนอกจากวัคซีนจะมาช้า ยังมีความเชื่อและอุดมการณ์ของคนบางกลุ่ม ที่คิดว่าการฉีดวัคซีนเท่ากับการร่วมมือกับรัฐไทย และคนกลุ่มนี้ก็มีอิทธิพลทางความคิดกับชาวบ้านที่ลังเลกับการฉีดวัคซีนด้วย
“ผมเคารพในความคิดของทุกคน และพร้อมจะฉีดให้เสมอถ้าติดต่อมา ตอนนี้ที่โรงพยาบาลมีวัคซีนทุกยี่ห้อ เอาเบอร์ผมไปได้เลย จะไปฉีดให้ถึงที่”
ขณะที่ชาวบ้านบางคนยอมฉีดวัคซีน เพราะไม่ต้องการห่างลูกหลาน หากติดเชื้อ อย่างกรณีของ อามีเนาะ มะสาแม อายุ 73 ปี ให้เหตุผลที่ยอมฉีดวัคซีนเพราะกลัวป่วย แล้วต้องห่างจากครอบครัว เพราะต้องไปอยู่โรงพยาบาลสนาม เธอยังพยายามโน้มน้าวน้องสาวที่อายุ 68 ปีให้ฉีดตาม แต่ก็ไม่เป็นผล โดยเชื่อว่า น้องสาวอาจกังวลกับผลข้างเคียง
ทั้งนี้ นายแพทย์มัซลัน ย้ำว่า สถานการณ์ระบาดขณะนี้ จำเป็นต้องเร่งฉีดวัคซีนให้ได้ 70% ภายในสิ้นเดือน ต.ค. นี้ เพราะคาดการณ์ว่า เดือนพฤศจิกายน สายพันธุ์เดลตา จะแพร่กระจายครอบคลุมพื้นที่ เป็นส่วนใหญ่ ขณะที่เชื้ออัลฟาจะหายไป อาจได้เห็นผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวันในจังหวัดยะลา ถึง 2,200 คน หากไม่สามารถฉีดวัคซีนได้ตามเป้า
คาดการณ์แนวโน้มการระบาดของเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ ต่าง ๆ
เดือน (พ.ศ. 2564) | อัลฟา | เบตา | เดลตา |
สิงหาคม | 70% | 20% | 10% |
กันยายน | 50% | 25% | 25% |
ตุลาคม | 25% | 25% | 50% |
พฤศจิกายน | 0% | 20% | 80% |