ศธ. พร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2/2564 หลายรูปแบบผ่าน 5 หลักเกณฑ์ “กรมควบคุมโรค” ชี้ เปิดเรียน On Site เสี่ยง แต่เชื่อควบคุมได้ กำชับป้องกันเคร่งครัด
วันนี้ (28 ต.ค.64) ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เปิดเผยถึงความพร้อมแผนเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ในวันที่ 1 พ.ย. นี้ ว่า ขณะนี้ ศธ. ได้ออกประกาศหลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ตามข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนด การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 (ฉบับที่ 34 ) เพื่อกำกับดูแลและเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่นักเรียน ครู และประชาชนทั่วไป
โดยได้กำหนด 5 หลักเกณฑ์การเปิดโรงเรียนหรือสถานศึกษา ตามเงื่อนไข แนวปฏิบัติ และแผนเผชิญเหตุ ดังนี้
- ปฏิบัติตามมาตรการ Sandbox Safety Zone in School รองรับการเรียนการสอนในสถานศึกษาแบบ On Site จำแนกตามเขตพื้นที่การแพร่ระบาดของโควิด-19
- ปฏิบัติตาม 6 มาตรการหลัก (DMHT-RC), 6 มาตรการเสริม (SSET-CQ) และแนวทาง 7 มาตรการเข้มสำหรับสถานศึกษา (ประเภทไป-กลับ)
- หลักเกณฑ์การพิจารณาใช้อาคารหรือสถานที่ เพื่อจัดการเรียนการสอน การสอบ การฝึกอบรม หรือการทำกิจกรรมใด ๆ ของโรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) หรือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม)
- มาตรการตามแผนเผชิญเหตุป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19
- หลักเกณฑ์การพิจารณาใช้อาคารหรือสถานที่โรงเรียนหรือสถาบันการศึกษา เพื่อทำกิจกรรมใดๆ ที่มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นจำนวนมาก
ทั้งนี้ การเปิดเรียนแบบ On Site โรงเรียน หรือ สถานศึกษาต้องผ่านการประเมินความพร้อมผ่าน Thai Stop Covid Plus (TSC+) และรายงานการติดตามการประเมินผลผ่าน MOECOVID โดยถือปฏิบัติอย่างเข้มข้น ต่อเนื่อง
ครูและบุคลากร ในพื้นที่ควบคุมสูงสุด (สีแดง) หรือ พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด (สีแดงเข้ม) ต้องได้รับการฉีดวัคซีนครบ 2 เข็ม ตั้งแต่ 85% ขึ้นไป สำหรับครูและบุคลากรในพื้นที่อื่น ๆ ต้องได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ตั้งแต่ 85% ขึ้นไป ส่วนนักเรียนไม่มีกำหนด แต่รณรงค์ให้นักเรียนเข้ารับการฉีดวัคซีนมากที่สุด เพื่อความปลอดภัยของนักเรียนและผู้ปกครอง
ส่วนการใช้ ATK สุ่มตรวจนักเรียน ครู และบุคลากรทางการศึกษาเพื่อเฝ้าระวัง คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดจะเป็นผู้พิจารณาในการใช้ ATK กับสถานศึกษา เบื้องต้นจะทำการสุ่มตรวจในพื้นที่ที่มีการแพร่ระบาด คือพื้นที่สีแดงเข้ม และพื้นที่สีแดง โดยจะสุ่มตรวจประมาณ 20% ขอนักเรียน ครู และบุลากรทางการศึกษา
“ขณะนี้สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) กำลังสำรวจจำนวนโรงเรียนว่าในภาคเรียนที่ 2/2564 นี้จะใช้รูปแบบใด พบว่ามีทั้งขอเปิดแบบ On Site 100% รวมกว่า 10,000 แห่ง มีบางแห่งขอใช้รูปแบบผสมผสาน และมีบางพื้นที่ที่คณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัดยังไม่ให้เปิดแบบ On Site ในวันที่ 1พ.ย.นี้ แต่ให้เลื่อนไปเปิดวันที่ 15 พ.ย. แทน”
ด้าน นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า เมื่อเปิดโรงเรียนแบบ On Site มีโอกาสติดเชื้อในโรงเรียนมีแน่นอน ขออย่ากังวลในส่วนนี้ เพราะกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข มีมาตรการควบคุมการแพร่ระบาด และ 2 ปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีการระบาดใหญ่ในโรงเรียนแล้วกระจายสู่ชุมชนอย่างกว้างขวาง เพราะนักเรียนจะอยู่ในพื้นที่ของตน ไม่ได้เคลื่อนย้ายไปอย่างรวดเร็วจนทำให้เชื้อแพร่กระจายได้ ดังนั้นหากเกิดการติดเชื้อในสถานศึกษาสามารถควบคุมได้
“การฉีดวัคซีน เป็นกลไกหนึ่งที่ทำให้เราสามารถอยู่กับโควิด-19 ได้ ถ้าเด็กได้รับวัคซีนแม้จะติดเชื้อแต่จะช่วยลดโอกาสในการเสียชีวิต จากข้อมูลขณะนี้ทราบวันมีผู้ปกครองทยอยแจ้งความประสงค์ให้นักเรียนฉีดวัคซีนเพิ่มเติมกว่า 500,000 คน เป็นหน้าที่ของ สธ. ที่จะจัดหาวัคซีนให้นักเรียนต่อไป ส่วนประเด็นที่ผู้ปกครองกังวลใจถึงผลข้างเคียงการฉีดวัคซีนอาจจะเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ซึ่งผลข้างเคียงนี้สามารถเกิดขึ้นได้ แต่โอกาสที่เกิดมีน้อย และรักษาหายได้ ส่วนเด็กอายุ 3-11 ขวบ จากข้อมูลล่าสุดที่ผมทราบ มีหลายประเทศเริ่มฉีดวัคซีนให้เด็กประถมศึกษาแล้ว ขณะนี้ สธ.อยู่ระหว่างเร่งให้บริษัทที่เกี่ยวข้องมาขึ้นทะเบียนวัคซีนกับอย. หาก อย. อนุญาตให้ฉีดวัคซีนในเด็กประถมได้ ก็จะจัดเตรียมวัคซีนฉีดเด็กทันที เชื่อว่าอีกไม่นานจะสามารถดำเนินการฉีดให้เด็กได้”
สำหรับข้อมูลการฉีดวัคซีนให้ครูและบุคลากรทางการศึกษาสังกัด ศธ. ณ วันที่ 26 ต.ค.64
- ฉีดเข็มที่ 1 จำนวน 782,010 คน แบ่งเป็น ครู 576,748 คน บุคลากร 205,262 คน
- ฉีดเข็มที่ 2 จำนวน 522,133 ราย แบ่งเป็น ครู 363,749 ราย บุคลากร 158,384 ราย
- ยังไม่ได้รับวัคซีน 112,377 ราย แบ่งเป็น ครู 88,735 ราย บุคลากร 23,642 ราย
ส่วนภาพรวมจำนวนนักเรียนที่ฉีดวัคซีน จากข้อมูลวันที่ 27 ต.ค.64 นักเรียนประสงค์ฉีดวัคซีน 3,817,727 คน ฉีดวัคซีนแล้ว 2,544,267 คน คิดเป็น 66.64%