ตั้งเป้า 2 สัปดาห์ ยอดผู้ติดเชื้อลดลง ส่วนยอดฉีดวัคซีนยังอยู่ที่ 63% สั่งตั้งศูนย์ CI ร้อยเตียงทั้ง 25 อำเภอ รับมือคลัสเตอร์ครอบครัว-ชุมชน
2 พ.ย. 2564 – สถานการณ์การติดเชื้อในจังหวัดเชียงใหม่ ยังคงอยู่ในช่วงขาขึ้น มีความพยายามระดมทีมแพทย์จากหลายจังหวัดข้างเคียงมาช่วย หวังกดจำนวนผู้ติดเชื้อให้ต่ำลง ทั้งการเร่งฉีดวัคซีนซึ่ง ขณะนี้ฉีดไปได้แล้วประมาณ 63% พร้อมกับการเร่งตรวจเชิงรุกในหลายชุมชนที่เป็นคลัสเตอร์การระบาด ซึ่งก็ยังพบผู้ติดเชื้ออย่างต่อเนื่อง
การแสวงหาความร่วมมือเพื่อควบคุมโควิด-19 ใน จังหวัดเชียงใหม่ ไม่สามารถที่จะอาศัยบุคลากรเพียงจังหวัดเดียวได้ ผู้อำนวยการเขตสุขภาพที่ 1 จึงต้องระดมแพทย์จาก 8 จังหวัดภาคเหนือ ทั้ง เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แม่ฮ่องสอน น่าน พะเยา และแพร่ ช่วยจัดทีมแพทย์จังหวัดละ 5 ทีม เข้ามาช่วยเหลือจังหวัดเชียงใหม่ ดูแลรักษาผู้ป่วยโควิด-19 แล้วช่วยตรวจเชื้อเชิงรุก โดยหวังให้อีก 1-2 สัปดาห์ผู้ติดเชื้อจะลดลง
ขณะที่ ความคืบหน้าการตรวจเชิงรุกในพื้นที่ The Active ลงพื้นที่ชุมชนฟ้าใหม่ อ.เมืองเชียงใหม่ ซึ่งเป็นชุมชนแออัดขนาดใหญ่ พบผู้ติดเชื้อ 9 คน จากที่เข้ารับการตรวจ 112 คน และในบ้านเตื่อมฝัน ศูนย์คนไร้บ้าน พบผู้ติดเชื้อเพิ่มอีก 6 คนจากทั้งหมด 42 คน สะท้อนว่าการติดเชื้อยังมีอยู่ และยังต้องเข้มมาตรการป้องกันทั้งส่วนรวมและบุคคลอย่างเข้มงวด
ส่วนบรรยากาศล่าสุดวันนี้ ทีมแพทย์จากหลายจังหวัดยังคงกระจายลงพื้นที่ตรวจเชิงรุกในชุมชนต่าง ๆ ช่วงเช้าที่ผ่านมา ไปที่ชุมชนตลาดเมืองใหม่ ซึ่งมีแรงงานข้ามชาติอาศัยอยู่จำนวนมาก และช่วงบ่ายได้ลงตรวจเชิงรุกบริเวณหอพักศรีลานนา โดยคาดว่าทั้งสองจุดจะเป็นศูนย์กลางการระบาดของจังหวัดเชียงใหม่
ตั้งเป้าสร้างศูนย์ CI ทุกอำเภอ อำเภอละ 100 เตียง
ล่าสุดทั้ง 25 อำเภอในจังหวัดเชียงใหม่ ตั้งรับสถานการณ์ด้วยการจัดการพื้นที่ เพื่อทำศูนย์กักตัวในชุมชน หรือ Community Isolation (CI) หวังจะช่วยพยุงระบบสาธารณสุข ให้ไปต่อได้ เช่น อ.แม่ริม ศูนย์ดูแลรักษาผู้ป่วยติดเชื้อในชุมชน หรือ CI อยู่ห่างจากตัวอำเภอไปราว 10 กิโลเมตร สภาพโรงแรมที่เคยใช้รองรับนักท่องเที่ยวถูกเปลี่ยนให้เป็นสถานที่กักตัวผู้ติดเชื้อกลุ่มสีเขียวที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย มีบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาลนครพิงค์ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ใน อ.แม่ริม ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนมาทำหน้าที่ประจำที่ศูนย์ CI แห่งนี้ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งมีอยู่จำนวน 60 เตียง ขณะนี้เต็มหมดแล้ว และตั้งเป้าจะต้องทำให้ถึง 100 เตียง ในอีก 1-2 วันนี้
สุเทพ ตาพรหม นายแพทย์สาธารณสุขประจำ อ.แม่ริม บอกว่าชาวบ้านที่นี่ส่วนใหญ่ติดเชื้อมาจากตลาดใน อ.เมือง เพราะเป็นเขตติดต่อกัน แต่สถานการณ์ในขณะนี้ เริ่มติดกันเองในครอบครัว จำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่ที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง ทำให้ต้องเก็บเตียงในโรงพยาบาลไว้เพื่อรักษาผู้ป่วยกลุ่มอาการหนักสีเหลือง และสีแดง พร้อมทั้งเฝ้าดูอาการของผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวอย่างใกล้ชิดเพื่อส่งต่อโรงพยาบาลหากอาการขยับรุนแรงขึ้น
นอกจากการทำศูนย์ CI ในทุก 25 อำเภอของจังหวัดเชียงใหม่ โดยหน่วยงานราชการแล้ว เนืองนิช ชิดนอก ประธานที่ปรึกษาเครือข่ายสลัม 4 ภาค กล่าวว่ากังวลว่าสถานการณ์การระบาดเชียงใหม่ จะซ้ำรอยกับระบาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ซึ่งกลุ่มเปราะบาง อย่าง คนไร้บ้าน คนจนเมือง แรงงานข้ามชาติ ไม่สามารถเข้าถึงการรักษา จึงใช้ประสบการณ์ในช่วงระบาดหนักในกรุงเทพฯ มาถ่ายทอดความรู้ให้กับชุมชนในเครือข่าย เพื่อสร้างศูนย์พักคอย รองรับผู้ติดเชื้อ ในชุมชนเมืองที่แออัด ที่เริ่มมีการระบาดในขณะนี้
“การระบาดใหญ่ในกรุงเทพฯ ถึงขั้นเคยเห็นคนติดเชื้อต้องนอนรอเตียงจนเสียชีวิตภายในบ้าน หรือ ในพื้นที่สาธารณะ ทำให้เครือข่ายภาคประชาชนพยายามใช้บทเรียนดังกล่าวเข้าช่วยเสริมให้กับภาครัฐ และผลักดันชุมชนให้มีความสามารถในการดูแลตัวเอง เพื่อลดความสูญเสีย”
สถานการณ์เตียงผู้ป่วยยังวิกฤต
ศูนย์ข้อมูลเฉพาะกิจจังหวัดเชียงใหม่ ระบุ สาเหตุการติดเชื้อในจังหวัดเชียงใหม่ในขณะนี้ พบว่าเกิดจากการสัมผัสในครอบครัวหรือคลัสเตอร์ครอบครัวคิดเป็น 28% พอ ๆ กับการสัมผัสในชุมชนซึ่งรวมกันแล้วเกินครึ่ง
สะท้อนให้เห็นว่าเชื้อได้กระจายลงลึกไปสู่ระดับครัวเรือนและชุมชน จึงยากแก่การควบคุม เพราะด้วยวิถีชีวิต เครือญาติ ที่อยู่รวมกันหลายคน และชุมชนแออัด หอพักแรงงาน ที่อยู่ติดกับตลาด ในเมืองเชียงใหม่ เพื่อให้เกิดการระบาดได้ง่าย ทางออกที่ดีที่สุดในเวลานี้คือการระดมฉีดวัคซีนให้เร็วที่สุด
ขณะที่ตอนนี้มีผู้ที่ยังรักษาตัวอยู่ 4,362 คน จำนวนนี้อาการหนัก หรือ สีแดง 79 คน กระจายตัวรักษาอยู่ใน ICU ของโรงพยาบาลรัฐและโรงพยาบาลเอกชน ซึ่งมีเตียงรองรับรวมราว 1,700 เตียง
แยกเป็นผู้ป่วยสีเขียว 3,534 คน สีเหลือง 749 คน และสีแดง 79 คน โดยส่วนใหญ่ รักษาตัวอยู่ใน CI จำนวน 2,277 คน แต่สำหรับผู้ป่วยสีเหลืองและสีแดงที่ต้องรักษาตัวในโรงพยาบาลนั้น ค่อนข้างหาเตียงลำบาก เพราะในจำนวนผู้ติดเชื้อ 100 คน จะพบเป็นผู้ป่วยหนัก 10 คน ทำให้ต้องใช้เตียง เพิ่มขึ้นทุกวัน จึงมีการผ่องถ่ายไปรักษาตัวยังต่างจังหวัดแล้ว 73 คน ขณะที่ผู้เสียชีวิตวานนี้ (1 พ.ย.) อยู่ที่ 3 คน