ถอดบทเรียนวิวาทะวงการสงฆ์ ประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาได้หรือไม่ เมื่อกระแสสังคมแบ่งฝักแบ่งฝ่าย พื้นที่ตรงกลางของความเข้าใจอยู่ตรงไหน ชวนลงทะเบียน Thailand Talks วันสุดท้าย ร่วมสร้างวัฒนธรรมรับฟังคนเห็นต่าง
ช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมาประเด็นเกี่ยวกับพระสงฆ์ และพระพุทธศาสนาถูกหยิบยกมาพูดถึงกันอย่างแพร่หลาย ตั้งแต่วิวาทะระหว่างพระสงฆ์ ความเหมาะสมของการเทศนา ตลอดจนการแต่งกายเลียนแบบพระพุทธเจ้า ทั้งหมดล้วนผูกโยงกับสิ่งที่เรียกว่า ‘ศาสนา’ ซึ่งเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และไม่ค่อยได้ถูกพูดคุยอย่างเปิดเผยในสังคมไทย เมื่อสัญญาณนี้ปรากฏขึ้น เราจะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งแตกต่างกันอย่างไร เพื่อไม่ให้เป็นจุดเริ่มต้นของความขัดแย้งในสังคม The Active ชวนหาคำตอบในประเด็นนี้
เสรีภาพ และการเคารพสิทธิ
พระมหานภันต์ สนฺติภทฺโท ประธานกรรมการมูลนิธิสถาบันการจัดการวิถีพุทธเพื่อสุขและสันติ หรือ IBHAP Foundation กล่าวถึงประเด็นเรื่องการแสดงความคิดเห็น และสื่อสารเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในทางหนึ่งทางใด ไม่ว่าจะเป็นไปเพื่อเจตนาใดก็ตามว่า แม้มนุษย์ทุกคนจะมี เสรีภาพในการพูด (Freedom of Speech) และ เสรีภาพในการแสดงออก (Freefom of Expression) ซึ่งได้รับการคุ้มครองตามรัฐธรรมนูญ แต่อย่างไรก็ตามยังต้องมาพร้อมการเคารพสิทธิของผู้อื่น โดยเฉพาะสิทธิในการเคารพและนับถือศาสนา การแสดงออกจึงต้องมาพร้อมกับความรับผิดชอบต่อความรู้สึกของผู้อื่น และการอยู่ร่วมกันของคนในสังคม
กรณีการแสดงออกของผู้มีอิทธิพลทางความคิดท่านหนึ่ง ซึ่งแต่งกายคล้ายพระพุทธเจ้านั้น หากย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาล จะไม่มีการสร้างรูปเคารพพระพุทธเจ้า หากแต่เพิ่งได้รับอารยธรรมจากกรีก จึงมีการสร้างพระพุทธรูปกันภายหลัง แต่หลักสอนของพระพุทธศาสนาที่แท้จริง คือ ยึดมั่นในคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังนั้น พระมหานภันต์ มองว่า ความเดือดร้อนของพุทธศาสนิกชน อาจไม่ใช่เพราะเรื่องการแต่งกาย แต่หากเป็นความสงสัยของสังคมต่างหาก ว่าเจตนานั้น ‘ทำไปเพื่ออะไร’
พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล ผู้ประสานงานโครงการ Thailand Talks มูลนิธิฟรีดริช เนามัน (FNF) มองว่าประเด็นดังกล่าว ยังไม่ถือเป็น ‘ความขัดแย้ง’ แต่เป็น ‘ความคิดเห็นที่ไม่ตรงกัน’ คือ ส่วนหนึ่งจะมองในเรื่อง ‘ความเหมาะสม’ ว่าการแต่งกายในลักษณะคล้ายพระพุทธเจ้า ซึ่งเป็นที่เคารพ สักการะของพุทธศาสนิกชนจำนวนมาก อาจทำให้กระทบความรู้สึกของผู้คน จนทำให้มองว่าไม่เหมาะสม ในขณะเดียวกัน ความคิดเห็นอีกด้านหนึ่ง คือ การที่ศาสนาพุทธ ถูกหยิบยกมาคุยในสังคมได้ ทำให้ใกล้ชิดกับผู้คนมากขึ้น เป็นสิ่งที่สามารถทำได้หรือไม่
เช่นเดียวกับ นภนาท อนุพงศ์พัฒน์ ผู้อำนวยงานมูลนิธิเครือข่ายพุทธิกา กล่าวว่า การวิพากษ์วิจารณ์ศาสนาขึ้นอยู่กับว่า ‘เส้นแบ่งของเรื่องอยู่ตรงไหน’ ซึ่งในปัจจุบันเรามองไม่เห็นว่าอยู่ตรงไหน การวิพากษ์ศาสนา เป็นสิ่งที่ไม่ใช่ทำไม่ได้เลย แต่จะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้เป็นการทำลายความเชื่อ และทำร้ายความรู้สึกเคารพของผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่อ่อนไหว ซึ่งตัวอย่างในต่างประเทศก็มีให้เห็นอยู่เสมอว่า การวิจารณ์ศาสนาโดยความเชื่อว่าอยู่บนพื้นฐานของสิทธิ เสรีภาพ แต่ก็นำมาซึ่งความขัดแย้งรุนแรงถึงขั้นก่อจราจลเช่นกัน
ศาสนาพุทธ ไม่อาจแยกจากสังคม
พระมหานภันต์ ชวนคนไทยนึกถึงคนทุกกลุ่มของสังคม ว่าสามารถแสดงความคิดความเชื่อของตนเองได้ แม้จะเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนาพุทธ และไม่จำเป็นต้องเป็นพุทธศาสนิกชนเท่านั้นถึงจะวิจารณ์ได้ ศาสนิกชนในทุกศาสนาก็สามารถทำได้ พระพุทธศาสนาไม่ได้อยู่ได้เพียงสงฆ์เท่านั้น ยังรวมไปถึงคนในสังคมนั้น ๆ ที่จะอุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนาด้วย เพราะฉะนั้นการวิจารณ์ศาสนา วิจารณ์พระสงฆ์จึงสามารถทำได้ และอยู่ภายใต้การเคารพสิทธิของผู้อื่น
ในขณะที่เหตุวิวาทะของพระสงฆ์ด้วยกันเองก็เกิดขึ้นมาโดยเสมอ ในสมัยพุทธกาล พระพุทธเจ้าทรงสอนว่าเมื่อใดที่มีผู้ติฉินนินทาเรา จงอย่าโทมนัสแค้นเคือง เพราะหากเรามีใจโกรธในสิ่งที่เขาพูด เราจะไม่สามารถแยกได้ว่าเรื่องใดถูก เรื่องใดผิด การพิจารณาจะหายไป เหลือเพียงอารมณ์ที่เข้ามาครอบงำ จึงฝากชวนดึงสติ และนึกถึงคุณค่าที่ครูบาอาจารย์ได้เคยทำไว้
ส่วน นภนาท มองว่าพระพุทธศาสนา มีมิติทางสังคม และปัจเจกชน ซึ่งต้องแยกกันให้ออก พระพุทธศาสนาส่งเสริมให้คนแก้ปัญหาภายในใจตนเองได้ แต่ต้องไม่ละเลยที่จะมองปัญหาของสังคมด้วย ส่วนตัวจึงเห็นด้วยว่าเมื่อเกิด ‘การติฉินนินทา’ ต้องกลับมาตั้งหลักกับตนเอง ว่าที่เขากล่าวมาเป็นเหตุเป็นผลเพียงใด และควรตอบโต้ย่างไร ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว ‘ไม่ควรตอบโต้’ เนื่องจากหลักพระพุทธศาสนา ไม่ได้มีจุดยืน และท่าทีการตอบโต้การไปมาระหว่างพระสงฆ์ เพียงแต่ถ้าเรื่องไหนเป็นเรื่องจริง ให้รับไว้ และหากเป็นเรื่องไม่จริง ให้นิ่งเฉย ไม่ควรทำให้เป็นกระแส เป็นเรื่องเชิงสังคม เพราะจะสร้างปัญหาให้ไกลกว่าความรู้สึกส่วนตัว
เหตุการณ์แต่ละเรื่องนั้น มีที่มาที่ไปแตกต่างกัน พระสงฆ์ถูกกำกับไว้ตามพระวินัย เรื่องสำคัญที่อยากชี้ให้เห็น คือ เมื่อโลกตำหนิติเตียน แม้ไม่ได้กระทำในสิ่งที่ผิด ก็จำเป็นต้องปรับตัว และทบทวนว่าควรแสดงออกอย่างไร เพราะศาสนาพุทธ ไม่เคยแยกจากคน แต่ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา ทำให้มีช่องว่างระหว่างองค์กรสงฆ์ และประชาชนมากขึ้นเรื่อย ๆ เมื่อประชาชนวิพากษ์วิจารณ์ แต่ก็ไม่สามารถตัดสินใจอะไรได้ เพราะผู้ตัดสินใจคือ ‘ศูนย์กลางอำนาจ หรือ รัฐ’ ความรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของศาสนาจึงหายไป
เมื่อสงฆ์ร้อน พุทธศาสนิกจะทำอย่างไร
“วันนี้มีสัญญาณที่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องทางสงฆ์มากขึ้น แต่ควรใช้ปัญญาญาณด้วย หาข้อมูล แยกเรื่องบุคคล และโครงสร้าง รวมพลังกันแก้ปัญหา เพื่ออยู่อย่างเป็นสุขไปด้วยกัน”
มหานภันต์ สนฺติภทฺโท
พระมหานภันต์ กล่าวว่า การหยิบยกเรื่องพระพุทธศาสนา และพระสงฆ์มาพูดคุยกันเป็นสิ่งที่สามารถทำได้ แต่สังคมต้องแยกให้ชัดระหว่างเรื่องตัวบุคคล และตัวพระสงฆ์เอง และเรื่องโครงสร้างระบบของสงฆ์ สิ่งไหนเป็นเรื่องดี สิ่งไหนเป็นสิ่งที่ควรมีการพูดคุยหาทางออกกัน เพื่อให้ทั้งคนในระบบ และคนนอกระบบ อยู่อย่างเป็นสุขร่วมกัน ประชาชนต้องทำความเข้าใจผู้ส่งสารฝั่งที่เห็นด้วย และควรทำความเข้าใจ ฝั่งของคนที่เห็นต่าง ว่าเพราะเหตุใดเขาจึงคิดเช่นนั้น
พิมพ์รภัช กล่าวว่า อยากให้บรรยากาศของสังคมไทย เป็นพื้นที่ที่สามารถแสดงออกอย่างมีเสรีภาพ ได้ในทุกประเด็นทั้งเรื่องศาสนา หรือการเมือง และเมื่อบรรยากาศในทางพระพุทธศาสนาเป็นเช่นนี้ คนในสังคมจะเข้าไปทำอะไรได้หรือไม่ ตนมองว่าควรทำให้เกิดความเชื่อมโยงกันระหว่างคนและศาสนามากกว่านี้ ที่ผ่านมาความสัมพันธ์ห่างกันไปเรื่อย ๆ จึงไม่อาจทำให้เกิดพลังในการแก้ปัญหาร่วมกันได้ ยกตัวอย่าง เช่น ในประเทศเยอรมนี มีการจัดเก็บ ‘ภาษีศาสนา’ ซึ่งเป็นหน้าที่และความรับผิดชอบของคนในสังคมร่วมกัน เพื่อนำเงินตรงนั้นไปก่อประโยชน์ในทางศาสนา ถ้าหากใช้ได้ไม่ตรงตามวัตถุประสงค์ ก็จะเกิดการควบคุมตรวจสอบกันเอง สิ่งนี้อาจทำให้เกิดความเชื่อมโยงกันทั้งสองฝ่าย
ฟังเฉพาะสิ่งที่เชื่อ ช่องว่างของความเข้าใจ
“ความสัมพันธ์ในสังคมห่างกันเรื่อย ๆ เพราะเรารับแต่ข้อมูลที่เชื่อ โดยไม่ตั้งคำถาม และหาข้อเท็จจริง เราต้องแลกเปลี่ยนในประเด็นที่เห็นต่าง เคารพซึ่งกันและกัน”
พิมพ์รภัช ดุษฎีอิสริยกุล
ในขณะที่ประเด็นความขัดแย้งของคนในสังคม พิมพ์รภัช มองว่า ความสัมพันธ์ของคนในสังคมห่างออกจากกัน เชื่อว่าตั้งแต่มีโลกโซเชียลมีเดีย และการเลือกรับข้อมูลในแบบที่ตนเชื่อเท่านั้น โดยมักจะไม่รับข้อมูลจากอีกฝ่ายหนึ่ง และมักจะเชื่อในสิ่งที่ได้เห็นและได้ยิน โดยไม่เกิดการตั้งคำถาม การเลือกจะอยู่แต่ในโลกของคนเอง และเชื่อในสิ่งนั้นจะทำให้เราเปิดใจรับฟังกันได้ยากมากขึ้น และยิ่งไปกว่านั้น คือ การโจมตีหรือมองว่าความคิดเห็นของผู้ที่คิดไม่ตรงกับเรา คือ เรื่องที่ผิด
การเชื่อในตัวบุคคล หรือ ต้นแบบ (Idol) ของเราก็เป็นสิ่งที่อันตราย เพราะหากยังไม่มีการหาข้อเท็จจริง และเลือกที่จะเชื่อในสิ่งที่คนนั้น ๆ พูด เมื่อมีความคิดอีกชุดหนึ่งที่แตกต่างกันจะเกิดการตอบโต้กันไปมา โดยเฉพาะประเด็นที่ก่อนหน้านี้เราอาจจะไม่มีโอกาสได้ถกเถียงกัน แต่ตอนนี้เปิดกว้างมากขึ้นแล้ว ต้องมาพร้อมกับการรับฟัง และหาข้อมูล
ด้าน นภนาท กล่าวว่า ปัญหาของคณะสงฆ์เรื้องรังมาจากการจัดสรรอำนาจระหว่างคณะสงฆ์กับรัฐไทย ซึ่งทำให้คณะสงฆ์เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของระบบราชการ และแม้เวลาจะผ่านมานานแค่ไหน การปฏิรูปใหญ่ในช่วงหลังนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นเลย อาจเรียกได้ว่า คณะสงฆ์นั้นแข็งตัวมาก ภายใต้บริบทสังคมสมัยใหม่ ตนจึงมองว่าหากคณะสงฆ์ไม่ปฏิรูปขนานใหญ่จะไปรอดได้ยาก และที่สำคัญจำเป็นต้องปฏิสัมพันธ์กับสังคมด้วย
สำหรับความคิดที่ไม่เห็นด้วยใจสังคมไทยในตอนนี้ ความสามารถในการเห็นคนอื่นเป็นส่วนหนึ่งกับเราลดลงเรื่อย ๆ คือ ถ้าไม่เชื่อเหมือนกัน จะไม่สามารถมาอยู่ร่วมกันได้ เมื่อก่อนยังไม่รุนแรงเท่าตอนนี้ ส่วนหนึ่งคือศาสนายังสามารถเชื่อมโยงความเป็นส่วนเดียวกันได้ หลังจากที่ วัดถูกกำกับโดยรัฐ ที่ไม่ใช่ชาวบ้านประชาชนในชุมชน คนจึงมองเห็นเพียงความแตกต่าง มากกว่าความเหมือน ซึ่งในความเป็นจริงมนุษย์ทุกคนมีความเหมือนกันมากกว่าเสียอีก
พูดคุยกันได้ แม้เห็นต่าง
พระมหานภันต์ กล่าวว่า การเปิดพื้นที่เพื่อสร้างความเข้าใจเป็นสิ่งควรทำให้เกิดขึ้น และอยากให้สถาบันต่าง ๆ ของสังคมมีบทบาทในการทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน มากกว่าเพียงแค่ใรระดับบุคคลเท่านั้น การพูดคุยกันจะทำให้เราไม่ตัดสินใครล่วงหน้า แต่จะเกิดการเรียนรู้และยอมรับในตัวตนที่เขาเป็น และเข้าใจในความเชื่อในแต่ละฝ่ายยึดถือไว้ ด้วยความเมตตา และเห็นใจ โดยใช้ปัญญาหาเหตุผลพูดคุยกัน
ในมุมมองของ นภนาท เห็นว่าการที่เราไม่สามารถคุยกับคนเห็นต่างได้ จะทำให้เราขาดจินตนาการ และความเป็นไปได้อีกมากมายที่อาจนำไปสู่ทางออก แต่เราไม่เคยทดลอง การพูดคุยกันต้องอาศัยความกล้าหาญของคู่สนทนา เพื่อจัดการกับความรู้สึกที่เกิดกับใจตนเองก่อน ไม่ใช่การจัดการความรู้สึกของคู่สนทนา และต้องมีการตั้งเงื่อนไข เพื่อให้การพูดคุยดำเนินไปโดยสามารถอธิบายเหตุผลของแต่ละฝ่ายได้ อย่างเปิดเผย และเป็นธรรมซึ่งกันและกัน กระบวนการของ Thailand Talks จึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย และต้องทำให้เกิดขึ้นโดยเร็ว
พิมพ์รภัส ในฐานะผู้ประสานงานโครงการ Thailand Talks กล่าวว่า คำถามที่มักจะได้ยินเสมอ เมื่อเกิดกระบวนการเช่นนี้คือ ‘คุยกันไปทำไม’ เพราะยังคงมีความเชื่อว่าการคุยกับคนที่ไม่เห็นด้วยกับเรา คุยไปก็ไม่เกิดประโยชน์ แต่อยากชวนปรับมุมมองให้เราคิดว่ากำลังแลกเปลี่ยนในประเด็นที่เห็นต่างกัน เคารพในความคิดของกันและกัน เราเห็นต่างในประเด็นใด ไม่จำเป็นต้องเห็นต่างในทุกเรื่อง แต่พยายามหาจุดร่วมที่ตรงกัน และใช้ประโยชน์จากตรงนั้น
สังคมในปัจจุบัน เราคุยกันในประเด็นสาธารณะมากขึ้น ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต เรื่องใดที่ก่อนหน้านี้ คุยกันไม่ได้ ในอนาคตเราจะคุยกันมากขึ้น และสิ่งที่จะทำให้การพูดคุยสำเร็จผลได้ คือ ต้องฝึกฝนด้วยตนเอง การคุยกันไม่ได้ทำให้เราเห็นด้วยกับเขา แต่เป็นขั้นแรกให้เข้าใจคนเห็นต่างมากขึ้น ซึ่งเป็นกระบวนการที่ไม่มีค่าใช้จ่าย ‘ความเห็นต่าง’ ไม่เท่ากับ ‘ความขัดแย้ง’ เพราะหากเห็นต่างแล้ว ควรถกเกถียงกัน เพื่อเปลี่ยนวัฒนธรรมของสังคมไทยให้ยอมรับความเห็นต่างมากขึ้น
สำหรับโครงการ Thailand Talks นั้น เป็นพื้นที่ของการพูดคุย ที่เราจะจับคู่ผู้ที่เห็นต่าง ให้มาแลกเปลี่ยนกันได้ด้วยเหตุผล สำหรับผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าร่วมกิจกรรมได้แล้ว วันนี้ (8 พฤศจิกายน 2564) เป็นวันสุดท้าย สามารถลงทะเบียน และดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.thailandtalks.org “เพราะการพูดคุย เป็นจุดเริ่มต้นของความเข้าใจ”