สวนโมกข์กรุงเทพ จัดวงคุย “สาธุ ดูซีรีส์หาแก่นธรรม” ชี้ ‘สาธุ’ เป็นซีรีส์น้ำดี ชวนคนตั้งคำถามกับปัญหาวงการสงฆ์โดยไม่ตัดสิน ในวันที่คนรุ่นใหม่สิ้นศรัทธา การสื่อสารให้รู้จักแก่นแท้ของศาสนาอาจเป็นทางออก
วันที่ 22 เม.ย. 67 หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ (สวนโมกข์กรุงเทพ) ร่วมกับ สสส.จัดกิจกรรมล้อมวงคุย “สาธุ ดูซีรีส์หาแก่นธรรม” ชวนเสวนามุมมองเรื่องพุทธศาสนาและพุทธพาณิชย์ ผ่านมุมมองผู้กำกับ คนเขียนบท นักแสดง จากซีรีส์ทริลเลอร์-ดราม่า เรื่อง สาธุ (The Believers) ร่วมดัวยพระ และชาวพุทธบริษัท ณ สวนโมกข์กรุงเทพ
ซีรีส์เรื่อง “สาธุ” ได้ถ่ายทอดให้เห็นถึงมุมมืด และปัญหาซ่อนเร้นดำมืดที่ซุกซ่อนอยู่ใต้ร่มกาสาวพัสตร์สังคมไทยมาอย่างยาวนาน ทั้งการทุจริต คอร์รัปชัน ยาเสพติด การแย่งรับกิจนิมนต์ เครื่องรางของขลัง หรือความรักของพระกับสีกา แต่ที่เด่นชัดที่สุดคือเรื่อง “พุทธพาณิชย์”
อมราพร แผ่นดินทอง ผู้เขียนบท กล่าวว่า ประเด็นเรื่องพุทธพาณิชย์ไม่ใช่ประเด็นใหม่ในสังคมไทย และยังพัวพันในหลายมิติ ทั้งเรื่องอำนาจสงฆ์ หรือนักการเมืองผู้มีอิทธิพล สังคมรับรู้แต่กลับไม่เคยมีใครคนหยิบยกขึ้นมาสื่อสารอย่างเป็นรูปธรรมไม่ต่างกับเส้นผมบังภูเขา แต่ในฐานะของคนเขียนบท ไม่ได้มีเจตนาแฉ ปอกเปลือก ขุดคุ้ย สอนใจ หรือวิพากษ์พุทธศาสนา แต่ต้องการให้คนดูตั้งคำถามและฉุกคิดไปพร้อมกันมากกว่า
เช่นเดียวกับ วัฒนพงศ์ วงศ์วรรณ ผู้กำกับซีรีส์ ที่ชี้ว่า อยากทำให้ “สาธุ” กลายเป็นพื้นที่แห่งการตั้งคำถามและถกเถียงเรื่องราวจริงที่เกิดขึ้นในสังคมไทยในรูปแบบใหม่ ๆ หากถามว่าเรื่องราวในซีรีส์ตรงไปตรงมาหรือรุนแรงเกินไปไหม คงขึ้นกับประสบการณ์การรับรู้ของแต่ละบุคคลมากกว่า
“เราไม่ได้อยากเอาคุณธรรมไปยัดเยียดใส่คนดูหรือคาดหวังว่ามันจะเปลี่ยนแปลงสังคมได้ แต่อย่างน้อย ซีรีส์เรื่องนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีให้คนดูเกิดก้อนความคิดใหม่ ๆ หรือกล้าตั้งคำถาม ไม่ใช่แค่กับเรื่องศาสนา แต่มันคือทุกเรื่องราวในชีวิต”
วัฒนพงศ์
ด้าน พัฒน์ชัย ภักดีสู่สุข หรือ ปั๊ป โปเตโต้ นักแสดงในบทบาท “พระดล” พระปฏิบัติดีแห่งวัดป่า ผู้บวชเรียนตั้งแต่วัยเด็ก แต่กลับพ่ายแพ้ให้กับเรื่องทางโลกด้วยกิเลสแห่งความเป็นมนุษย์ เจ้าของวลี “อาตมารักโยมเดียร์” พัฒน์ชัย เล่าว่า ตนเองไม่เคยบวชพระมาก่อน แต่การได้สวมบทบาทนี้ในฐานะนักแสดง กลับทำให้ตนเองมีมุมมองต่อ “พระ” ที่เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง จนกลายเป็นโอกาสให้ขัดเกลาตัวเองด้วย
“พอต้องมาเล่นเป็นพระจริง ๆ แล้ว ผมรู้สึกเหมือนโดนตบหน้า เราเคยวิพากษ์วิจารณ์ หรือตัดสินว่าพระต้องเป็นแบบนั้น แบบนี้เท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว วิถีแห่งการเป็นพระต้องขัดเกลาตัวเองมาก มันคือความลึกซึ้งที่ต้องฝึกตนอยู่ตลอด
พัฒน์ชัย
“ในช่วงเวลาที่เล่นบท ‘พระดล’ มันมีคุณค่ากับผมมาก เรารู้สึกจริง ๆ ว่า กว่าจะเป็นพระแบบนั้นได้ ต้องขัดเกลาตัวเองตลอดเวลา มันช่วยให้ผมไม่ลืมที่จะกลับมาขัดเกลาตัวเองอยู่สม่ำเสมอโดยเฉพาะอาชีพที่อยู่ในโลกมายาของผม”
ด้าน พระตัวจริงอย่าง พระครูธรรมรัต แห่ง วัดญาณเวศกวัน ชี้ว่า “สาธุ” ทำหน้าที่ได้ดีมากในการนำเสนอความจริงของสังคมโดยไม่ทำลายพระพุทธศาสนาหรือตอกย้ำซ้ำเติมให้สังคมรู้สึกแย่กับความเป็นจริงที่เกิดขึ้น แต่กลับนำเสนอในเชิงกระตุ้นให้คนตระหนักรู้แทน
ในขณะที่การทำมาหากินกับศาสนาหรือที่เรียกว่า “พุทธพาณิชย์” ตนมองว่านี่เป็นความจริงที่เกิดขึ้นในสังคม แต่การได้มาซึ่งรายได้เงินทองไม่ใช่การรับเอาประโยชน์จากศาสนาอย่างแท้จริง การยกระดับสติปัญญาและการเข้าใจชีวิตต่างหากคือแก่นแท้ของพุทธศาสนา
ในส่วนของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ลัทธิความเชื่อต่าง ๆ ที่คนบางกลุ่มนำมาหารายได้จากความศรัทธา ตนมองว่าเป็นสิทธิส่วนบุคคล หากนำพาไปในทางที่ดีก็เป็นประโยชน์ แต่ในทางหลักธรรม ศรัทธาเหล่านั้นต้องมีหลักเหตุผลจึงจะเป็นศรัทธาที่ถูกต้อง ไม่งมงาย
“‘ศรัทธานั้นพาคนไปไหน ?’ นี่เป็นหลักเตือนใจง่าย ๆ ว่าหากศรัทธานั้นพาไปสู่ความเจริญงอกงามได้ นั่นถือเป็นศรัทธาที่ดี แต่หากศรัทธานั้นพาคนไปยึดเกาะอยู่กับแค่ศาสดาหรือใครคนหนึ่ง นี่ไม่ใช่สิ่งที่ดีงามในทางพุทธศาสนาแน่นอน”
ในเรื่องพุทธศาสนากับคนรุ่นใหม่นั้น อมราพร เห็นว่า คนรุ่นใหม่มีทัศนคติกับพุทธศาสนาในเชิงลบ นั่นเพราะการเรียนวิชาพุทธศาสนาในบ้านเราสอนแต่เปลือกที่เน้นการท่องจำและไปสอบ แต่ผู้เรียนกลับไม่รู้จักถึงแก่นแท้คำสอนเมื่อรู้สึกว่าศาสนาไม่ได้ให้ประโยชน์ใดกับชีวิตจึงเลิกนับถือไป การทำความเข้าใจว่าเด็กรุ่นใหม่คิดอะไรจึงต้องใช้เวลา เพราะหากยิ่งสอน ยิ่งบังคับ เขาจะยิ่งเกลียด
มีคำกล่าวว่า ‘ไม่เห็นทุกข์ ไม่เห็นธรรม’ เพราะคนเราจะคิดถึงศาสนาเมื่อทุกข์ ไม่ใช่ตอนมีความสุข แต่วันนี้ เด็กรุ่นใหม่มีทุกข์เร็วขึ้นจากโซเชียลมีเดีย ทั้งการบูลลี่หรือการเปรียบเทียบ แต่การเข้าวัดของคนรุ่นใหม่ตอนนี้กลับเป็นการไป มูเตลู เสียมากกว่า
“ตอนเราเด็ก ๆ เราคิดว่าคนเข้าวัดน่ากลัว ต้องเป็นพวกชอบสั่งสอน ตัดสิน ยิ่งถ้าใครมาบอกว่าให้เราไปเข้าวัด จะยิ่งรู้สึกเหมือนโดนชี้หน้าว่าเป็นคนไม่ดี สิ่งเหล่านี้เองที่ทำให้เรารู้ว่า เราไม่ควรทำแบบนั้นกับคนรุ่นใหม่อีกแล้ว”
อมราพร
แม้ท้ายที่สุดแล้ว ซีรีส์เรื่องนี้อาจไม่ได้ให้คำตอบถึงจุดจบของเหล่าพุทธบริษัททั้งหลายอย่างตรงไปตรงมานัก แต่อย่างน้อยที่สุด “สาธุ” ก็ทำหน้าที่ของสื่อได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพราะการชวนให้สังคมขบคิดนี้เองที่กำลังนำพาให้สังคมเดินไปข้างหน้า
ที่เหลือคงต้องรอดูต่อไปว่า ศาสนาพุทธในไทยจะเดินหน้าไปในทิศทางไหน ในวันที่สังคมและคนรุ่นใหม่ยังคงตั้งคำถามกับพระพุทธศาสนาอย่างไม่สิ้นสุด ?