‘ปกป้อง ศรีสนิท’ ชี้ แม้ประมวลฯ ยาเสพติด จะไม่มีการกำหนดอำนาจควบคุมไว้ แต่ไปเพิ่มใน พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติด ระยะเวลาอาจไม่ใช่ปัญหา แต่ต้องมีการตรวจสอบด้วย
เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2564 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่กฏหมายเกี่ยวกับกับคดียาเสพติด จำนวน 2 ฉบับ ได้แก่ พระราชบัญญัติให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 และ พระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดียาเสพติด (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 โดยระบุเหตุผลในการประกาศใช้ท้ายกฎหมายไว้ว่า “โดยที่กฎหมายเกี่ยวกับการป้องกัน ปราบปราม และควบคุมยาเสพติด รวมถึงการบำบัดรักษาและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติดได้กระจายอยู่ในกฎหมายหลายฉบับ และการดำเนินการตามกฎหมายแต่ละฉบับเป็นหน้าที่และอำนาจของหลายองค์กร ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่มีความสอดคล้องกัน อีกทั้งบทบัญญัติบางประการไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบัน สมควรรวบรวมกฎหมายดังกล่าวจัดทำเป็นประมวลกฎหมายยาเสพติด เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิงและใช้กฎหมายที่จะรวมอยู่ในฉบับเดียวกันอย่างเป็นระบบ”
รศ.ปกป้อง ศรีสนิท อาจารย์ประจำศูนย์กฎหมายอาญา และอาชญาวิทยา คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยถึงประเด็นสำคัญที่หลายฝ่ายมองว่าอาจเป็นช่องว่างของการ “กระทำทรมาน” ผ่านรายการ “เวทีสาธารณะออนไลน์ : อย่าอุ้มหาย กฎหมายซ้อมทรมาน” เมื่อวันที่ 8 ตุลาคม 2564 ซึ่งมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายยาเสพติดฉบับใหม่ทั้ง 2 ฉบับ โดยเฉพาะเรื่อง ‘ระยะเวลาในการควบคุม’
รศ.ปกป้อง กล่าวว่า เรื่องระยะเวลาในการควบคุม อาจเป็นการเปิดช่องให้เกิดการทรมานผู้ต้องหาในคดียาเสพติดได้ โดยตนเห็นว่าอำนาจที่อยู่ในกฎหมายไทยมาตั้งแต่ปี 2519 คือใน พ.ร.บ.ป้องกันปราบปรามยาเสพติด พ.ศ. 2519 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่ของสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติด (ป.ป.ส.) หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่ ป.ป.ส. แต่งตั้ง มีอำนาจควบคุมผู้ต้องหาคดียาเสพติดไว้ได้ 3 วัน อีกทั้งยังสามารถควบคุมตัวในสถานที่ที่ ‘ไม่ต้องเปิดเผย’ ก็ได้ หลังจากนั้นเมื่อครบเวลา ต้องส่งให้พนักงานสอบสวนควบคุมตัวต่อได้อีก 48 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา
ซึ่งระยะเวลาดังกล่าวนี้ รวมกันแล้วเป็นเวลา 5 วัน ซึ่งตนมองว่าน่าจะเป็นปัญหา และมากเกินไป เพราะอาจเป็นการเปิดช่องให้มีการกระทำทรมานขึ้นในระหว่างการควบคุมตัว ในขณะที่ตามกระบวนการยุติธรรมนั้น ‘ศาล’ ควรทำหน้าที่ในการตรวจสอบการจับ การขัง และการใช้อำนาจของเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงหลักในการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนมากขึ้นในยุคปัจจุบันนี้ บทบัญญัติดังกล่าวควรได้รับการแก้ไข
รศ.ปกป้อง กล่าวว่า ในช่วงแรกตนรู้สึกดีใจมาก ที่มีประมวลกฎหมายยาเสพติดใหม่ที่เพิ่งมีผลใช้บังคับ ไม่มีบทบัญญัติที่ให้อำนาจการควบคุมตัวผู้ต้องหา 3 วันดังกล่าวไว้ แต่เมื่อพิจารณาดูจาก พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดียาเสพติดที่ออกควบคู่กันมา จะพบว่าไปเพิ่มบทบัญญัติในเรื่องนี้เข้าไปด้วย นั่นหมายความว่า กฎหมายใหม่ก็ยังคงมีอำนาจควบคุม 3 วันอยู่ เจ้าหน้าที่ก็สามารถควบคุมตัวผู้ต้องหาได้ 3 วันในคดียาเสพติด และหลังจากนั้นก็สามารถส่งพนักงานสอบสวนควบคุมได้อีก 48 ชั่วโมง ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 87 เพื่อให้ศาลฝากขัง และตรวจสอบการจับกุม รวมเป็น 5 วันถึงจะเจอศาล
“มีการแก้ไขสิ่งที่ดีมากมายในประมวลฯยาเสพติด แต่ยังมี พ.ร.บ.วิฯยาเสพติด ที่ออกควบคู่กันมาด้วย จึงทำให้อำนาจในการควบคุมตัว 3 วันของเจ้าหน้าที่ยังมีอยู่ เพียงแค่เปลี่ยนบทบัญญัติ ไปอยู่อีกที่หนึ่งเท่านั้น…”
รศ.ปกป้อง กล่าวต่อว่า ประเด็นเรื่องระยะเวลาในการควบคุม อาจไม่ใช่ปัญหา และสาเหตุของการกระทำทรมานผู้ต้องหาคดียาเสพติดเท่านั้น แต่สิ่งสำคัญ คือ ‘ต้องมีกระบวนการตรวจสอบ’ โดยคุ้มครองสิทธิของคนถูกจับ หรือผู้ต้องหา เพราะตามกฎหมายแล้วคนที่ถูกจับอาจจะเป็นคนที่ค้ายาเสพติดหรือไม่ก็ได้ และถึงแม้ว่าจะเป็นผู้กระทำความผิดจริง ก็ไม่สามารถลิดรอนสิทธิในกระบวนการยุติธรรมของเขาได้
ในประเด็นกังกล่าว เมื่อเทียบกับกฎหมายในต่างประเทศ ยกตัวอย่าง เช่น ประเทศฝรั่งเศส ในเรื่องของการไปจับผู้ต้องหาคดียาเสพติด และอาชญากรข้ามชาติ หรือการก่อการร้ายต่าง ๆ เจ้าหน้าที่ตำรวจในฝรั่งเศส จะสามารถควบคุมตัวได้เพียงแค่ 24 ชั่วโมงเท่านั้น ในคดีทั่ว ๆ ไป หลังจากนั้นต้องนำตัวส่ง ‘อัยการ’ และอัยการสามารถขยายได้อีก 24 ชั่วโมง ซึ่งหากยังไม่สามารถสอบสวนได้เสร็จสิ้นแล้วต้องควบคุมต่อ ต้องไปฝากขังที่ศาล และศาลจะเป็นผู้ทำหน้าที่ตรวจสอบว่าควรขยายหรือไม่ หรือควรจะฝากขัง
รศ.ปกป้อง กล่าวว่า แม้คดีที่เกี่ยวข้องกับยาเสพติด จะเป็นเรื่องที่สำคัญ และมีความจำเป็นต้องขยายเวลาการควบคุมตัวออกไปเพื่อประโยชน์ในการสอบสวน แต่อย่างไรก็ตาม จะต้องให้ศาลเข้ามาตรวจสอบในทันทีควบคู่กันไป ซึ่งควรจะมีกลไกบางอย่างเข้ามาสร้างความชอบธรรม โดยที่ไม่ให้เจ้าหน้าที่เป็นผู้ควบคุมโดยไม่มีการตรวจสอบ โดยตั้งประเด็นว่าเป็นไปได้หรือไม่ที่จะให้ศาลเข้ามาตรวจสอบ
สำหรับสิทธิที่จะได้รับการตรวจสอบในศาล เป็นสิทธิที่เป็นสากล เพราะมีคดีที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ หรือ UNHRC มีคำวินิจฉัยอยู่ว่า “คนที่ถูกจับกุมมีสิทธิที่จะพบศาลโดยพลัน” กล่าวคือ 48 ชั่วโมงนับแต่เวลาที่ถูกจับ หลังจากนั้นต้องให้ศาลเข้ามาตรวจสอบการจับกุมทันที ดังนั้น กรณีคดียาเสพติด ที่ของไทยมีระยะเวลาถึง 5 วันกว่าจะได้เจอศาล หากจะคงระยะเวลาไว้เหมือนเดิม หลังจากควบคุมครบ 3 วันแรก จะเป็นไปได้หรือไม่ว่าควรส่งผู้ต้องหาไปศาลก่อนหนึ่งครั้ง เพื่อให้ศาลตรวจสอบก่อนที่จะไปส่งพนักงานสอบสวน ซึ่งจะเป็นไปตามหลักสากล และคุ้มครองสิทธิของผู้ต้องหาในคดีอาญา ตลอดจนสร้างความชอบธรรมในกระบวนการสอบสวน ไม่ให้สังคมตั้งข้อสงสัยเหมือนที่ผ่านมานั่นเอง