“โรงพยาบาลนครพิงค์” เปิดไอซียูสนาม 50 เตียง รองรับผู้ป่วยหนักแก้วิกฤตระบบสาธารณสุข “แพทย์ มช.” ชี้อัตราการเสียชีวิตยังต่ำ 0.4% คาด โควิด-19 ใกล้พีคสุดและอาจเข้าสู่ช่วง ขาลง ก่อนปีใหม่นี้
สถานการณ์โควิด-19 ที่จังหวัดเชียงใหม่ ยังคงน่าเป็นห่วงจากการติดเชื้อใหม่เฉลี่ย 300-400 คนต่อวัน โดยวันที่ 15 พ.ย. 2564 มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 349 คน ยอดสะสมระลอก เม.ย.2564 อยู่ที่ 22,756 คน รักษาตัวอยู่ในระบบสาธารณสุข 5,100 คน เป็นผู้ป่วยกลุ่มสีแดง 84 คน อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ จังหวัดเชียงใหม่พยายามกดตัวเลขผู้ติดเชื้อจากหลายทางทั้งการตรวจเชิงรุกและการฉีดวัคซีน แต่ผ่านมา 14 วันหลังจากเปิดประเทศ วันที่ 1 พ.ย. 2564 ผู้ติดเชื้อกลับยังไม่ลดลง
และเมื่อวันที่ 15 พ.ย.2564 นับได้ว่าเป็นครั้งแรกของจังหวัดเชียงใหม่ โดย โรงพยาบาลนครพิงค์ ที่ตัดสินใจ เปิด ICU สนาม 50 เตียง บริเวณอาคาร Hall 3 ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติ เพื่อรองรับผู้ป่วยโควิดอาการรุนแรง โดยในช่วง 4 วันที่ผ่านมามีผู้เสียชีวิตวันละ 3-4 คน ผู้เสียชีวิตสะสม 89 คน ซึ่งเดิม จ.เชียงใหม่ มีเตียงที่สามารถรองรับผู้ป่วยกลุ่มนี้ได้ประมาณ 100 เตียง จากทั้งโรงพยาบาลมหาราช(สวนดอก) ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และโรงพยาบาลนครพิงค์ สังกัดกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งไม่เพียงพอกับปริมาณผู้ป่วยที่ยังคงเพิ่มขึ้นทุกๆวัน
ด้านนายแพทย์รังสฤษฎ์ กาญจนะวณิชย์ คณะแพทยศาสตร์ มหาลัยเชียงใหม่ กล่าวว่า สาเหตุที่ผู้ติดเชื้อยังไม่ลดลงส่วนหนึ่ง มาจากอัตราการฉีดวัคซีนกระจุกอยู่ในตัวเมือง และต้องยอมรับว่าเชียงใหม่มีประชากรแฝงเป็นจำนวนมาก หากการฉีดวัคซีนยังไม่ครอบคลุมทั่วถึง ก็ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้
และอีกปัจจัยคือการเปิดประเทศทำให้มาตรการควบคุมโรคต้องผ่อนคลายลง ทำให้เกิดการระบาดได้ง่ายขึ้น แต่จากการประเมินของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์สุขภาพ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อรายวันยังค่อนข้างสูงแต่จำนวนผู้เสียชีวิต ยังมีอัตราต่ำอยู่ที่ 0.4 % จากอัตราปกติคือ 1% แต่ยังคงต้องติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง และเมื่อการระบาดของเชียงใหม่ใกล้ถึงจุดสูงสุดแล้ว ก็จะเข้าสู่การติดเชื้อขาลง ซึ่งคาดว่าอาจจะเกิดขึ้นก่อนเทศกาลปีใหม่