ทำไม? ผู้ติดเชื้อโควิด-​19​ เชียงใหม่ ยังไม่ลดลง

รองผู้ว่าฯ เชียงใหม่ ย้ำ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจควบคู่คุมโรค เตรียมแผนเปิดรับนักท่องเที่ยวทั้งระยะสั้นและระยะยาว พร้อมจัดตั้งคณะทำงานแก้ปัญหาเฉพาะหน้า หากเกิดเหตุฉุกเฉิน

กรณีการระบาดของโควิด-19 ที่จังหวัดเชียงใหม่​ น่าสนใจว่าแม้จะมีความพยายามในการกดจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งการตรวจเชิงรุกและการทุ่มวัคซีนลงไปในพื้นที่แล้ว​ แต่ผ่านมา 14 วัน​ ตัวเลขผู้ติดเชื้อก็ยังไม่ลดลง The Active ชวนทบทวนดูจุดเริ่มต้นจนถึงปัจจุบันอีกครั้งว่าสาเหตุเกิดจากอะไร

การระบาดระลอกใหม่ของจังหวัดเชียงใหม่เริ่มต้นขึ้นเมื่อกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา สวนทาง กับสถานการณ์การระบาดในกรุงเทพฯที่อยู่ในช่วงขาลงประกอบกับบรรยากาศที่เข้าเข้าสู่ช่วงผ่อนคลายมาตรการ

จุดเริ่มต้นการระบาดของจังหวัดเชียงใหม่ อยู่ที่ตลาดสดเมืองใหม่กลางใจเมือง​ ซึ่งเป็นตลาดค้าส่งขนาดใหญ่ที่สุดในภาคเหนือ มีผู้ค้าหลากหลาย​ บางส่วนเป็นกลุ่มชาติพันธุ์จากต่างพื้นที่นำสินค้าลงมาขาย และมีผู้รับซื้อซึ่งมาจากตลาดต่างพื้นที่ ในช่วงเวลานั้นมีแรงงานข้ามชาติบางส่วนที่ยังไม่ฉีดวัคซีน ติดเชื้อโควิด-19 

ขณะเดียวกัน ก่อนนี้จังหวัดเชียงใหม่ก็มีอัตราการฉีดวัคซีนที่ต่ำไม่ถึง 70% เนื่องจากคนกังวลเรื่องวัคซีนสูตรไขว้ ก่อให้เกิด คลัสเตอร์​ตลาดหนึ่งไปสู่อีกตลาดหนึ่ง อย่างรวดเร็ว เพียงเวลาเดือนเดียว การระบาดก็ลงลึกไปสู่ชุมชนและครัวเรือน ยากแก่การควบคุม

มีข้อสังเกต​จากฝ่ายวิชาการว่า  ช่วงเริ่มมีการระบาดใหม่ ๆ หน่วยงานในพื้นที่ไหวตัวช้า และสอบสวนโรคไม่ทัน กระทั่งจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จนเตียงผู้ป่วยหนักมีไม่เพียงพอ​ หน่วยงานในพื้นโดยเฉพาะ​ ผู้ว่าราชการจังหวัด​ ในฐานะประธานคณะกรรมการ​โรคติดต่อจังหวัด​ จึงตระหนักได้ว่าสถานการณ์กำลังเข้าสู่จุดวิกฤต​ 

เมื่อ 1 พฤศจิกายน แม้สถานการณ์ระบาดของเชียงใหม่​ จะอยู่ในช่วงขาขึ้น​ แต่ทางจังหวัดก็เดินหน้าเปิดประเทศ พร้อม ๆ กับการระดมแพทย์ จากหลายพื้นที่ เข้ามาช่วยทั้งรักษาและควบคุมโรค​ มีการตรวจเชิงรุกคัดกรองผู้ป่วยออกจากชุมชน​ และการจัดสรรวัคซีน เพิ่ม​ 7​ แสนโดส​ 

ผ่านมา 14 วันซึ่งหลายฝ่าย เคยคาดการณ์ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อจะลดลง​ หลังปฏิบัติการเชิงรุก แต่วันนี้จำนวนผู้ติดเชื้อยังคงเฉลี่ย 300-400​ คน โดยใน 100 คนคาดว่าจะมี 10 คนที่เป็นผู้ป่วยหนัก​ การระบาดที่ยังอยู่ในช่วงขาขึ้น​ นำมาสู่การตัดสินใจของโรงพยาบาล นครพิงค์ จัดทำ ICU สนามจำนวน 50 เตียง​ เพื่อไม่ให้อัตราการเสียชีวิต​เพิ่มขึ้น​ ซึ่งปัจจุบันอยู่ที่ 0.4 เปอร์เซ็นต์ โดยถือว่ายังต่ำกว่าอัตราการเสียชีวิตปกติที่ 1% 

ศ. นพ.บรรณกิจ โลจนาภิวัฒน์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์​ มช.​ เคยประเมินถึงปริมาณวัคซีนที่ทางจังหวัดได้รับ เป็นอีกปัจจัยที่ส่งผลต่อการควบคุมการระบาด เพราะเพียงพอเฉพาะคนที่อยู่ในทะเบียนราษฎร์ของจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น

“วัคซีน 7 แสนโดสที่กระทรวงสาธารณสุขจัดสรรมาให้เพิ่ม เพียงพอเฉพาะประชากรตามทะเบียนราษฎร์ในตัวเลข 1​.7​ ล้านคนของจังหวัดเชียงใหม่เท่านั้น ขณะที่เชียงใหม่มีประชากรแฝง​ อีกนับไม่ถ้วน​ รวมถึงแรงงานข้ามชาติ​ จึงยังเป็นช่องโหว่สำคัญ เพราะหากวัคซีนยังเข้าไม่ถึงคนกลุ่มนี้​ ก็ไม่สามารถควบคุมการระบาดได้”

เมื่อพิจารณาถึงรูปแบบ​ การระบาดในจังหวัดเชียงใหม่​ พบว่าเริ่มต้นจากคลัสเตอร์​ตลาดสด ขยับมาเป็นคลัสเตอร์ในชุมชนครัวเรือน และติดในกลุ่มชาติพันธุ์บนพื้นที่สูง​ ขณะที่การใช้มาตรการปิดสถานที่ต่าง ๆ ที่มีการระบาดในช่วงเปิดเมือง ค่อนข้างยาก ปัจจุบันการระบาดสร้างความวิตกให้กับนักท่องเที่ยว เพราะเป็นการระบาดในร้านอาหาร​ เนื่องจากขณะรับประทานอาหารไม่สามารถสวมใส่หน้ากากได้ ทำให้แต่ละคนต้องป้องกันตัวเองเรื่องมาตรการส่วนบุคคลอย่างเข้มงวด

ขณะที่พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวที่มาจังหวัดเชียงใหม่ ส่วนใหญ่เลือกไปเที่ยวบนภูเขาห่างไกลจากตัวเมือง เพราะ​ไม่หนาแน่น ระวังตัวได้ดีกว่า ทำให้บรรยากาศงานยี่เป็ง​ ที่จัดอยู่ในตัวเมืองเงียบเหงา

ส่วนสถานการณ์การระบาดในเมือง นักระบาดวิทยาเห็นว่า ยังคงต้องจับตาตัวเลขผู้ติดเชื้อรายใหม่รายวัน หากมีจำนวนลดลงต่อเนื่องนั่นหมายความว่าผ่านจุดพีคไปแล้ว​ แต่หากยังทรงตัวคาดการณ์ว่า อาจได้เห็นการติดเชื้อขาลงก่อนปีใหม่นี้ ซึ่งนักระบาดวิทยามองว่า​สถานการณ์ขึ้นกับภูมิคุ้มกันที่ได้จากวัคซีน และภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติจากการติดเชื้อของคนในชุมชน ทั้งที่ติดเชื้อแบบรู้ตัวและไม่รู้ตัว

ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและการควบคุมโรค ต้องเดินหน้าไปควบคู่กัน

เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน รัฐพล นราดิศร รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า ตามที่รัฐบาลและจังหวัดเชียงใหม่ได้มีแนวทางเปิดเมืองท่องเที่ยวตั้งแต่ 1 ตุลาคม และเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถขับเคลื่อนได้ โดยมีการควบคุมโรคควบคู่กัน ที่ผ่านมาจังหวัดเชียงใหม่ มีนักท่องเที่ยวชาวไทยเป็นส่วนใหญ่ที่เดินทางเข้ามาถึง 70% ส่วนอีก 30% เป็นนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ 

ช่วงเปิด CHARMING Chiang Mai  ได้ประชุมหารือ เตรียมแผนรองรับเพื่อจัดทำมาตรฐานการปฏิบัติทางสาธารณสุขในแต่ละประเภทกิจกรรม ซึ่งคณะกรรมการโรคติดต่อได้ให้ความเห็นชอบในหลักการแล้ว โดยเป็นการกำหนดการปฏิบัติตัวระหว่างผู้ให้บริการและผู้รับบริการ การจัดทำแผนเผชิญเหตุ เตรียมจัดตั้งศูนย์รับแจ้งเหตุของศูนย์ CHARMING Chiang Mai และการจัดประชุมกับคณะทำงานอย่างต่อเนื่องเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า นอกจากนี้ยังได้เตรียมแผนพัฒนาเมือง ทั้งระยะสั้น และระยะยาว ในการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ทั้ง ประเพณียี่เป็ง เทศกาลปีใหม่ เพื่อเสนอต่อ ศบค. ในวันศุกร์นี้ (19 พ.ย.)

สำหรับประเภทของนักท่องเที่ยวที่จะเดินทางเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ หากเป็นนักท่องเที่ยวชาวไทย จะต้องฉีดวัคซีนครบตามจำนวนที่กำหนด ตรวจหาเชื้อผลเป็นลบไม่เกิน 72 ชั่วโมง หรือเคยติดเชื้อมาแล้วกว่า 1 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน ส่วนนักท่องเที่ยวจาก 63 ประเทศ กลุ่มเสี่ยงต่ำ ที่จะสามารถเดินทางเข้ามาได้ต้องผ่านมาตรฐาน SOP มีการประกันสุขภาพวงเงิน 50,000 เหรียญสหรัฐ ฉีดวัคซีนจากต่างประเทศมาแล้วไม่น้อยกว่า 23 วัน และเมื่อมาถึงจังหวัดเชียงใหม่จะต้องทำการตรวจหาเชื้ออีก 1 รอบ และรอผลตรวจภายในโรงแรม หากปลอดภัยจึงจะท่องเที่ยวได้ ตามมาตรการ Test & Go 

ส่วนนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาจากกลุ่มจังหวัดแซนด์บอกซ์ (Sand Box) ที่เปิดให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าท่องที่ยวได้ เมื่อผ่านมาตรการคัดกรองจากจังหวัดท่องเที่ยวต้นทางแล้ว ก็สามารถเดินทางเข้ามาในจังหวัดเชียงใหม่ได้เช่นเดียวกัน

ส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มอื่น ๆ จะต้องได้รับการคัดกรองและสามารถท่องเที่ยวได้เฉพาะในพื้นที่ 4 อำเภอนำร่อง ได้แก่ อำเภอเมืองเชียงใหม่ อำเภอแม่ริม อำเภอแม่แตง และอำเภอดอยเต่า เท่านั้น ในระหว่างการกักตัว 7 วัน และต้องทำการตรวจหาเชื้อรอบ 2 ให้มีผลปลอดภัยก่อนจึงจะสามารถเดินทางท่องเที่ยวได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS