ชุมชนริมคลองโอ่งอ่างยิ้มออก หลังกลับมาเปิดได้ 1 เดือน อยากเห็นนโยบายกระตุ้นการท่องเที่ยวต่อเนื่อง กระจายรายได้ถึงคนจนเมือง
วันนี้ (19 พ.ย. 2564) The Active ลงพื้นที่สำรวจบรรยากาศเทศกาลลอยกระทง จุดริมคลองโอ่งอ่าง เขตสัมพันธวงศ์ 1 ใน 2 พื้นที่ที่กรุงเทพมหานคร จัดกิจกรรมใหญ่ส่งเสริมการท่องเที่ยว ถึงแม้กิจกรรมจะเริ่มในช่วงค่ำ แต่ได้เห็นภาพผู้คนในชุมชนเคลื่อนไหวต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงเช้า เมื่อพวกเขาคาดหวังว่าจะมีรายได้จากงานลอยกระทงคืนนี้
เท แรงงานชาวเมียนมา หนึ่งในคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนริมคลองโอ่งอ่าง มาเกือบ 2 ปีแล้ว หลังย้ายมาจากตลาดสี่มุมเมืองเพราะตลาดถูกปิดไม่มีงานทำ เท ปั่นจักรยานซาเล้ง ตระเวนส่งน้ำแข็งตั้งแต่เช้าให้กับร้านค้าที่อยู่ริมคลองโอ่งอ่าง นอกจ้างค่าจ้างเขายังได้เงินเป็นน้ำใจจากผู้ค้าที่นี่ เป็นรายได้ไว้ใช้จ่ายหลังว่างเว้นมาหลายวัน และเขายังรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้เป็นส่วนเล็ก ๆ ของงานลอยกระทงคลองโอ่งอ่างค่ำคืนนี้
ไม่ใช่แค่ชุมชนริมคลองโอ่งอ่าง ที่รู้สึกตื่นเต้นกับงานลอยกระทง ชุมชนที่อยู่ตามตรอก ซอก ซอย ใกล้กันก็ได้อานิสงส์ไปด้วย อย่างวินมอเตอร์ไซค์ เขตสัมพันธวงศ์ ก็หวังว่าจะมีลูกค้าเพิ่มขึ้น จากคนที่เดินทางกลับหลังลอยกระทงเสร็จ
เฉพาะชุมชนริมคลองโอ่งอ่าง เขตสัมพันธวงศ์ ที่ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาปรับปรุงภูมิทัศน์คลองรอบกรุง ช่วงปี 2558 เพื่อปรับเป็นแลนด์มาร์คใจกลางเมือง ปัจจุบันมีอย่างน้อย 137 คูหา เปิดเป็นร้านค้าขาย 150 ร้าน หรือหนึ่งร้านขายมากกว่า 1 อย่าง เช่นวันนี้มีหลายร้านปรับตัวขายกระทง เพื่อหารายได้เสริม
รัฐวรรณ ฉลาดชื่นชม ประธานชุมชนริมคลองโอ่งอ่าง บอกว่า กิจกรรมคืนนี้ ถือเป็นงานใหญ่ครั้งแรก หลังต้องปิดไปนานกว่า 6 เดือน จากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งที่ผ่านมาก็ได้ประชาสัมพันธ์ให้ผู้ค้าในชุมชนต้องฉีดวัคซีนครบสองเข็ม และมีการตรวจ ATK อาทิตย์ละหนึ่งครั้ง ส่วนหนึ่งเพื่อเป็นการตรวจเชิงรุกซึ่งปัจจุบันไม่พบผู้ติดเชื้อในชุมชนแล้ว
“เราคาดหวังอย่างมากว่าลอยกระทงในคืนนี้ จะเป็นประตูบานแรกที่เปิดไปสู่การท่องเที่ยวในกรุงเทพฯ ซึ่งผู้ได้รับประโยชน์ส่วนใหญ่คือผู้มีรายได้น้อย อย่างวันนี้หลายร้านเพิ่มสินค้า บริการ เกิดการจ้างงานในชุมชน ถ้ารัฐบาลกระตุ้นการท่องเที่ยวชุมชนเมืองอย่างต่อเนื่อง ก็จะช่วยลดปัญหาปากท้องคนในพื้นที่ไปด้วย”
รัฐวรรณ ฉลาดชื่นชม ประธานชุมชนริมคลองโอ่งอ่าง กทม.
กิจกรรมยังขยายพื้นที่งานเริ่มตั้งแต่ช่วงสะพานดำรงสถิต สะพานภาณุพันธ์ สะพานหัน สะพานบพิตรภิมุข สะพานโอสถานนท์ จนถึงสวนลอยฟ้าเจ้าพระยา และขยายถนนคนเดินคลองโอ่งอ่าง ตั้งแต่แยกถนนราชวงศ์ แยกวัดตึกไปถึงสะพานภาณุพันธ์ ภายในงานมีกิจกรรม ทั้งการแสดงศิลปวัฒนธรรม ดนตรีไทย ดนตรีร่วมสมัย มินิคอนเสิร์ต ดนตรีเปิดหมวก และอีกพื้นที่หลัก คือ บริเวณใต้สะพานพระราม 8 พร้อมทั้งเปิดสวนสาธารณะกรุงเทพมหานคร 30 แห่ง ให้ประชาชนลอยกระทง ตั้งแต่เวลา 16.00 -22.00 น.
การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุถึงสถานการณ์ท่องเที่ยวช่วงเทศกาลวันลอยกระทงปี 2564 คาดว่าจะช่วยสร้างรายได้หมุนเวียน 1,400 ล้านบาท แต่ก็ยังไม่เท่ากับปี 2562 ก่อนเกิดวิกฤตโควิด-19 สอดคล้องกับผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชนต่อกรณีเทศกาลลอยกระทงในยุคโควิด-19 ของสวนดุสิตโพล พบว่าคนไทยส่วนใหญ่ 60.04% กังวลเรื่องโควิดเกิดคลัสเตอร์ใหม่ 52.29% คิดว่าเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมไทย สืบทอดประเพณีอันดีงาม และ 50% คิดว่าเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการท่องเที่ยว