หวังยกระดับระบบสาธารณสุขชุมชน หลังงบประมาณสนับสนุนจาก สธ. ไม่เพียงพอและติดลบ ด้านชมรมนักวิชาการสาธารณสุข แนะ “อนุทิน” เร่งดูแลคน รพ.สต. หวั่นเลือดไหลไม่หยุด
13 ปีแล้วที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลดอนแก้ว เปลี่ยนเป็นโรงพยาบาลชุมชนตำบลดอนแก้ว หลังถ่ายโอนอำนาจจากกระทรวงสาธารณสุข ไปสู่องค์การบริหารส่วนตำบล รุ่นแรกของคณะกรรมการกระจายอำนาจ เมื่อปี 2551
งบประมาณที่ได้รับทั้งจากองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ปีละ 1 ล้านบาทเงินรายหัวของผู้ป่วยสิทธิสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ( สปสช.) และงบจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จากโครงการตำบลสุขภาวะ รวมทั้งการหารายได้เองจากแพทย์แผนไทย ทำให้โรงพยาบาลมีสภาพคล่องทางการเงินในการจ้างบุคลากร และแพทย์เพื่อยกระดับการให้บริการกับประชาชนไม่ต่างจากโรงพยาบาลประจำอำเภอ
การเมืองท้องถิ่น กับระบบสาธารณสุข จะสามารถเดินควบคู่กันไปได้หรือไม่ คือความกังวลของ ศุทธา แพรสี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลชุมชนดอนแก้วก่อนตัดสินใจโอนย้ายมาอยู่กับ อบต. แต่ส่วนหนึ่งของภารกิจท้องถิ่นคือการดูแลสุขภาพของประชาชน หากนักการเมืองสนับสนุนโรงพยาบาล ก็อาจเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างฐานคะแนนเสียง
“แม้ข้อดีของการกระจายอำนาจโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลไปอยู่กับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะถูกมองว่าเป็นการยกระดับการให้บริการด้านสุขภาพให้ดีขึ้น แต่ก็ต้องยอมรับว่าององค์การบริหารส่วนตำบลอาจต้องแบกรับภาระงบประมาณที่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย”
พลเกต อินตา ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลดอนแก้ว บอกกับ The Active ว่านโยบายการจัดสรรงบประมาณด้านสุขภาพขึ้นอยู่กับความพร้อมของแต่ละท้องถิ่น แต่สำหรับ อบต.ดอนแก้ว ซึ่งรับงบประมาณจัดสรร ราวปีละ 90 ล้านบาทไม่มีปัญหา ที่จะสนับสนุนโรงพยาบาลชุมชน ขณะเดียวกันก็สามารถเบิกงบฯ ฉุกเฉินรายปี หากงบประมาณมีไม่เพียงพอ
ฟางเส้นสุดท้าย “รพ.สต.”ก่อนย้ายจาก “สธ.” ซบ “อบจ.”
ตลอดหลาย 10 ปีที่ผ่านมาของความพยายามในการกระจายอำนาจ รพ.สต. ไปอยู่กับ อบต. ไม่ประสบความสำเร็จมากนัก ดูจากจำนวนโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลทั่วประเทศกว่า 9,700 แห่ง แต่ถ่ายโอนมายังองค์การบริหารส่วนตำบลเพียง 57 แห่งจึงทำให้มีการทบทวนหน่วยงานในการกระจายอำนาจจากองค์การบริหารส่วนตำบลเป็นองค์การบริหารส่วนจังหวัด ซึ่งมีงบประมาณมากกว่า
อย่างที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านใหม่ อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ สมัครใจเข้าโครงการถ่ายโอนไปอยู่กับองค์การบริหารส่วนจังหวัดในการเปิดรับการถ่ายโอนครั้งล่าสุด โดยขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการและคาดว่าจะโอนย้ายสมบูรณ์ในวันที่ 1 ตุลาคมปี 2565 ซึ่งเป็นวันเริ่มต้นปีงบประมาณใหม่
พลางกรู ยอดน้ำคำ ผู้อำนวยโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านใหม่ กล่าวว่า ทุกวันนี้นอกจากการเบิกค่ารักษาพยาบาลตามสิทธิ์หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช. โรงพยาบาลแห่งนี้อาศัยงบประมาณสนับสนุนการบริหารจัดการที่ได้จากโรงพยาบาลแม่ข่าย คือโรงพยาบาลนครพิงค์จำนวน 30,000 บาทต่อเดือน ครอบคลุมทั้งหมดค่าจ้างเงินประกันสังคม บุคคลากร ค่าน้ำ ค่าไฟ แต่ละเดือนมีรายจ่ายที่ติดลบ
“อาคารที่ต่อเติมออกมานี้ ล้วนอาศัยเงินจากการระดมทุนผ่านกองผ้าป่าและกฐินโดยคนในชุมชน ซึ่งตลอดระยะเวลาหลาย 10 ปีตลอดชีวิตการทำงานในฐานะข้าราชการกระทรวงสาธารณสุข แต่ในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล ที่ต้องการยกระดับการให้บริการสุขภาพในชุมชนให้ดีขึ้น ก็มีเพียงทางเลือกเดียวคือ ถ่ายโอนสู่กระทรวงมหาดไทย”
เฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ซึ่งมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลอยู่ประมาณ 200 กว่าแห่งในปีงบประมาณ 2564 มีเพียง 63 แห่งที่เข้ารับการถ่ายโอนไปอยู่กับ อบจ. ที่เหลือยังคงรอดูสถานการณ์ บางส่วนยังกังวลถึงเรื่องการบรรจุข้าราชการโควิด-19 จำนวน 20,000 อัตราที่กำลังดำเนินการอยู่โดยกระทรวงสาธารณสุข หากโอนย้ายบุคคลากรไปยัง อบจ. ก็เกรงว่าจะได้บรรจุเป็นข้าราชการ
จับตา กระทรวงสาธารณสุข กอบกู้ รพ.สต.
ตัวเลขอย่างไม่เป็นทางการ คาดว่าจะมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลเกือบ 2,000 แห่ง จาก 9,700 แห่งทั่วประเทศ ที่สามารถถ่ายโอนภารกิจไปยังองค์การบริหารส่วนจังหวัดได้ภายในปีนี้
ริซกี สาร๊ะ เลขาธิการชมรมนักวิชาการสาธารณสุข (ประเทศไทย) กล่าววิเคราะห์ว่า กรณี รพ.สต. ที่อยากโอนภารกิจนั้น ประเด็นสำคัญ คือ ความก้าวหน้าในสายงาน สังเกตว่า ตั้งแต่มี รพ.สต.มาเป็น 100 ปี ความก้าวหน้ายังอยู่แค่ชำนาญการ หรือ C7 คนที่จะขึ้นเป็นชำนาญการพิเศษ หรือ C8 น้อยมากประเมินแล้วได้เพียงจังหวัดละ 1 คน
“การจะขึ้นได้ก็ต้องสอดคล้องกับ พ.ร.บ.ระบบสุขภาพปฐมภูมิ พ.ศ.2562 ต้องทำงานกับคลินิกหมอครอบครัว ซึ่งเงื่อนไขไม่เอื้อต่อคนทำงาน รพ.สต.เลย”
เขาบอกอีกว่า ขณะนี้หลายคนกำลังรอดูท่าทีความก้าวหน้าของ รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปแล้ว และรอดูทิศทางกระทรวงสาธารณสุขในการดูแล รพ.สต.ที่ยังอยู่ ว่าจะให้ความสำคัญอย่างไร เพราะถ้ากระทรวงสาธารณสุขยังไม่ดูแลคน รพ.สต.อีกเช่นเดิม ก็เป็นไปได้ที่อาจมีการถ่ายโอนไปยังท้องถิ่นต่อเนื่อง