ศูนย์ควบคุมโรคเทศบาลนครเชียงใหม่ สั่งกักตัวสมาชิกในครอบครัว 14 วัน ขณะ อสม. สะท้อนต้องรับบริจาคน้ำ-อาหารช่วยเหลือผู้กักตัวกันเอง ด้านรองนายกฯ เทศบาล ยืนยันถุงยังชีพมีเพียงพอ เตรียมใช้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ บังคับทุกคนเข้าตรวจ ATK
The Active ลงสำรวจ ชุมชนกำแพงงามเมื่อวันที่ 22 พ.ย.2564 ซึ่งเป็นหนึ่งในหลายชุมชนแออัด ที่อยู่รอบคูเมืองเชียงใหม่ ซึ่งขณะนี้พบคลัสเตอร์ระบาดภายในครอบครัวสูงจากการตรวจเชิงรุก โดยภายในชุมชนพบติดเชื้อไปแล้วถึง 40% และส่วนมากเป็นกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ที่สื่อสารภาษาไทยไม่ได้ จึงเลือกที่จะขอรักษาตัวเองอยู่ที่บ้านแทนการไปอยู่โรงพยาบาลสนาม แต่ปัญหาที่ตามมาก็คือทำให้สมาชิกในครอบครัวกลายเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่ต้องเข้ารับการกักตัวไปด้วย
อย่างกรณี เด็กชายชาวอาข่าวัย 11 ปีที่ดูผิวเผิน เหมือนไม่มีอาการผิดปกติ แต่เขาติดเชื้อ โควิด-19 หลังเจ้าหน้าที่สาธารณสุขลงตรวจเชิงรุกในชุมชนกำแพงงาม
เด็กคนนี้พูดภาษาไทยไม่คล่อง และยังเด็กเกินไปที่จะอยู่ตามลำพัง ป้าของเขาไม่อยากให้ไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลสนามหรือ community isolation จึงขอเจ้าหน้าที่ รับเข้าสู่การรักษาตัวที่บ้านหรือ Home isolation ต่อมามีแพทย์จากโรงพยาบาล เข้ามาตรวจวินิจฉัยอาการ และจ่ายยา
ขณะที่คนในบ้านอีก 3 คน แม้ผลยังเป็นลบ แต่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูง ได้รับคำสั่งจากศูนย์ควบคุมโรคติดต่อเทศบาลนครเชียงใหม่ ให้กักตัวเองเป็นเวลา 14 วันเช่นกัน
ปัญหาเกิดขึ้นทันที เมื่อต้องกักตัวโดยไร้การสนับสนุน น้ำและอาหารเลี้ยงชีพและไม่สามารถออกไปทำมาหากินได้ เพราะจะมีเพียงผู้ป่วยเท่านั้นที่ได้รับการสนับสนุนอาหาร 3 มื้อจากสิทธิสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือ บัตรทอง ป้าของเด็กชายที่ติดเชื้อ บอกว่า แม้ไม่กล้าฝืนคำสั่งของเจ้าหน้าที่ควบคุมโรค แต่ยังคิดไม่ออกว่า จะทำอย่างไรให้คนในครอบครัวที่เหลือ มีข้าวกิน
ไม่เพียงครอบครัวนี้เท่านั้นที่มีผู้ติดเชื้ออาศัยอยู่ ครัวเรือนรอบๆในละแวกริมลำน้ำแม่ข่าในชุมชนกำแพงงาม ก็มีลักษณะไม่ต่างกัน ไม่มีใครกล้ายืนยันได้ว่าผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงสูงจะกักตัวอยู่ที่บ้าน 100% ตราบใดที่ความช่วยเหลือ เยียวยายังเข้าไม่ถึง
ชุมชนกำแพงงามมีประชากรราว 140 หลังคาเรือน 70% เป็นชาวอาข่า ที่อพยพลงมาทำงานในเมืองเชียงใหม่ ลักษณะบ้านเรือน สะท้อนถึงวัฒนธรรม ชาติพันธุ์อาข่า ที่อาศัยชิดและติดกัน จึงเสี่ยงต่อการระบาดเป็นครอบครัว เวลานี้ ยังมีอีกหลายครอบครัวที่ยังรักษาตัวอยู่ที่บ้าน
น้ำทิพย์ เปาป้อ ประธาน อสม.ชุมชนกำแพงงาม บอกว่าปัจจุบันพบการติดเชื้อในครัวเรือนไปแล้วถึง 40% และไม่สามารถรอความช่วยเหลือจากท้องถิ่นได้ จึงประกาศระดมทุนเพื่อซื้อเสบียงให้กับผู้ป่วยและผู้ที่ต้องกักตัวอยู่ที่บ้าน ซึ่งขณะนี้เสบียงเริ่มร่อยหรอลง
ยังมีอีกหลายชุมชนที่มีลักษณะเป็นชุมชนแออัดรอบคูเมืองเชียงใหม่ ที่เกิดการระบาดในลักษณะเดียวกัน บางชุมชนเริ่มมีแนวโน้มการระบาดลดลง หลังมีผู้ติดเชื้อไปเกือบทั้งชุมชนทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ในบางครอบครัว ประกอบกับ มีผู้ได้รับวัคซีนเพิ่มมากขึ้น แต่แม้ได้รับวัคซีนแล้ว บางคนก็ยังติดเชื้อได้ ชาวบ้านยืนยันว่า พร้อมให้ความร่วมมือควบคุมโรค แต่ขอให้มีมาตรการช่วยเหลือไปพร้อมกัน
เทศบาลนครเชียงใหม่ เตรียมใช้กฎหมายบังคับตรวจ ATK
การกักตัวผู้เสี่ยงสูงที่ยังไม่ได้รับการสนับสนุนเรื่องอาหารและน้ำดื่ม เกิดขึ้นคล้าย ๆ กับอีกหลายชุมชนที่ได้รับคำสั่งจากคณะกรรมการควบคุมโรคติดต่อให้ปิดการเข้าออก นั่นหมายถึงรายได้ที่หายไป และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการหาเลี้ยงชีพปัจจัย 4 ต่างๆ เป็นช่องโหว่ของการจัดการที่ยังต้องการคำตอบจากทางเทศบาลในฐานะหน่วยงานท้องที่
The Active สอบถามเรื่องนี้กับ สุนทร ยามศิริ รองนายกเทศมนตรีเทศบาลนครเชียงใหม่ ได้รับคำตอบว่า ถุงยังชีพมีเพียงพอและพึ่งได้รับการจัดซื้อรอบ 2 เตรียมที่จะลงแจกในพื้นที่ทันที ขณะเดียวกันก็เป็นห่วงแนวทางการรักษาตัวที่บ้านหรือ Home isolation ว่าไม่สามารถควบคุมโรคได้อย่างเต็มที่ จึงเตรียมใช้กฎหมาย พ.ร.บ.โรคติดต่อ บังคับให้ทุกคน ในชุมชน เข้ารับการตรวจ ATK และเมื่อติดเชื้อให้เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล หรือใน community isolation ของทางเทศบาลเท่านั้น
ขณะเดียวกันเมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา เทศบาลนครเชียงใหม่มีการประชุม สรุปผลการตรวจเชิงรุก มีรองผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นประธานการประชุม รับทราบการรายงานจากหลายจุดว่าปัจจุบันพบจำนวนผู้ที่มีผลบวก หรือติดเชื้อน้อยลง จึงพยายามควบคุมการระบาดใน คลัสเตอร์ เดิมเช่นตลาดเมืองใหม่ที่มีแรงงานข้ามชาติให้ได้ก่อนวันศุกร์ที่ 26 พ.ย.นี้ แต่ยังคงมีความกังวล กับคลัสเตอร์ใหม่ที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือคลัสเตอร์งานทอดกฐินวัดทรายมูล ซึ่งตอนนี้ได้มีการประกาศปิดวัดแล้ว หลังจากตรวจเชิงรุกพบว่าพระ เณรติดเชื้อเกือบร้อยเปอร์เซ็นต์ ทำให้ ประชาชนที่ไปทำบุญทอดกฐิน ต้องถือเป็นกลุ่มเสี่ยงสูงที่ต้อง ดูอาการให้ครบ 14 วัน