ถอดบทเรียน “พลังพลเมือง” ฝ่าวิกฤตโควิด-19

ภาคประชาสังคมร่วมถอดบทเรียนความร่วมมือฝ่าวิกฤตโควิด-19 คนทำงานตัวจริง 600 คน สู่ข้อเสนอ “สู้” วิกฤตในอนาคต

ไทยพีบีเอสร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ,สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ,สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) และภาคีเครือข่ายภาคประชาชน เอกชน จัดเวที “ดอก ผล พลเมืองตื่นรู้สู้ภัยโควิด 19” ถอดบทเรียนจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการฝ่าวิกฤตโควิดจากทุกภาคส่วนกว่า 600 คน ผ่าน 4 เวทีย่อย ซึ่งจัดขึ้นก่อนที่จะมาถึงเวทีใหญ่ ณ  ไทยพีบีเอส   เป้าหมายของงานหวังให้การพูดคุยครั้งนี้เป็นการตกผลึกจากเวทีย่อยๆ สู่ข้อเสนอในภาคนโยบาย และการขับเคลื่อนสังคมต่อจากบทเรียน “มหันตภัยวิกฤตโควิด-19”

ศ.นพ. ประเวศ วะสี กล่าวปาฐกถาพิเศษ  “พลังพลเมือง หัวใจเพื่อเพื่อนมนุษย์ กู้วิกฤตโควิด-19” ระบุว่า โควิด-19 ได้กระตุ้นเมล็ดพันธุ์แห่งความดีในใจทุกคน มนุษย์ทุกคนมี Empathy หรือส่วนที่อยากช่วยเหลือ อยากทำความดี แต่ว่ามันซ่อนอยู่ลึกจนมองไม่เห็น  แต่โควิด-19 เหมือนบิ๊กแบง (ระเบิดขนาดใหญ่)ที่มากระตุ้นเพื่อนมนุษย์ทุกคนให้ก้าวออกจากกรอบเดิม ระบบเดิม เพื่อช่วยเหลือกัน

ศ.นพ. ประเวศ วะสี

“สำนึกในศักดิ์ศรี เคารพในความเป็นมนุษย์ทั้งของตนเองและคนอื่น เป็นสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในการรวมตัว ร่วมคิด ร่วมทำ  โควิด-19 ได้สร้าง“พลเมืองตื่นรู้” และหากรวมกับ กัมมันตะ (การกระทำชอบ) จะช่วยแก้ปัญหาทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การเมือง และสังคมได้ ไม่ใช่เฉพาะวิกฤตโควิด-19  หากทุกคนเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติก็จะพาสังคมเกิดความเสมอภาค ภราดรภาพ เอื้ออาทร ไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน เกิดนวัตกรรม อัจฉริยภาพในการแก้ไขปัญหา เกิดพลังมหาศาลสู่ความสำเร็จได้”

ขณะที่เวทีระดมความเห็นจากเครือข่ายที่ได้จากการร่วมถอดบทเรียนผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในทุกภาคส่วนกว่า 600 คน จาก 4 เวที ซึ่งจัดไปก่อนหน้านี้ มีตัวแทนองค์กรหลักๆ ร่วมสรุปบทเรียนและข้อเสนอ

สำหรับบทสรุปจากเวทีเครือข่ายภาคประชาชน ผู้นำชุมชน สลัมสี่ภาค สยาม นนท์คำจันทร์ โฆษกสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน เป็นตัวแทนสรุป   ระบุว่าในช่วงโควิด พอช.มีการปรับภารกิจที่เคยทำงานในสถานการณ์ปกติหลายภาคส่วน ซึ่งเข้ามาเป็นกลไกสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน เช่น การจัดทีมดูแลโควิด-19  ปรับแผนโครงสร้างงบประมาณเพื่อสนับสนุนโครงการชุมชน สร้างงาน รายได้ อาหาร ปรับแผนกองทุนสวัสดิการชุมชน เป็นต้น ส่วนข้อเสนอจากเวทีคืออยากให้มองเห็นศักยภาพของชุมชนที่สามารถลุกขึ้นมาจัดการปัญหาด้วยตนเองได้ เพียงแต่มีกลไกสนับสนุน งบประมาณทรัพยากร 

ด้าน ทพ.อรรถพล ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สรุปข้อมูลจากเวทีที่มีตัวแทนบุคลากรด่านหน้า อสม.ท้องถิ่น ร่วมแลกเปลี่ยน ระบุว่า บทบาทของ สปสช.ในช่วงโควิด-19 ระบาดหนักบุคลากรทางการแพทย์ทำงานล้นมือ ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล สปสช.ร่วมกับท้องถิ่น จัดตั้งกองทุนที่หนุนเสริมด้านงบประมาณให้ท้องถิ่นสามารถทำหน้ากากอนามัย เจลแอลกอฮอล์ เพื่อแจกจ่ายในพื้นที่ได้เองโดยไม่ต้องรอจากส่วนกลาง เป็นการทำงานในเชิงป้องกัน รวมถึงเข้าไปสนับสนุนการทำ HI /CI  สร้างระบบการดูแลที่ต้องพึ่งพาคนในชุมชน สปสช.เข้าไปหนุนเสริมด้านงบระมาณและลดข้อจำกัดบางอย่าง

เช่นเดียวกับเวทีพลเมืองจิตอาสา ดร.อนุสรณ์ อำพันธ์ศรี นักบริหารแผนงานชำนาญการ สสส. เป็นตัวแทนสรุปว่า จิตอาสาทุกคนที่ลุกขึ้นมาทำงาน เพราะไม่มีใครปล่อยให้เหตุการณ์วิกฤตรุนแรงต่อไปได้ มีคนมากมายที่ไม่สามารถเข้าถึงระบบบริการสุขภาพ จึงเกิดการรวมกลุ่มของจิตอาสาเพื่อช่วยเหลือโดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง  “ภายใต้วิกฤตเห็นโอกาส ไม่เคยมีใครเคยทำงานนี้มาก่อนแต่เราเห็นถึงศักยภาพของหน่วยงานของเรา NGOเป็นกำลังสำคัญในการช่วยเหลือ เป็นพี่เลี้ยง องค์ความรู้ ทรัพยากร เครือข่าย ชุมชนจึงลุกขึ้นมาทำงานในชุมชนได้” ข้อเสนอจากเวทีนี้คือ ต้องการกลไกตัวเชื่อมระหว่างประชาชน คนป่วย ระบบการบริการทั้งด้านสังคมและสุขภาพ 

ด้าน วลัยลักษณ์ ชมโนนสูง เจ้าหน้าที่พัฒนาเครือข่ายอาวุโส ไทยพีบีเอส เป็นตัวแทนสะท้อนข้อมูลจากเวทีนักสื่อสารภาคพลเมือง ระบุว่า ไทยพีบีเอสได้ทำให้นักสื่อสารจากทั่วทุกพื้นที่มีพื้นที่ปรากฎตัวที่กว้างขึ้น นักสื่อสารพลเมืองเหล่านี้ได้สื่อปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของตัวเองให้ปรากฎในพื้นที่สาธารณะ พวกเขาเป็นคนกำหนดวาระทางสังคม เชื่อมโยงบนแพลตฟอร์มทุกอย่างที่มี และนำมาสู่การเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ของตัวเอง “เห็นพัฒนาการสื่อสาร เป็นทางออก ทางรอด จากการสื่อสารของนักสื่อสารพลเมือง” ซึ่งไทยพีบีเอสทำหน้าที่หยิบวาระทางสังคมที่พวกเขาร่วมกำหนดมาสื่อสารส่งต่อความช่วยเหลือ และยังเป็นพื้นที่การเรียนรู้ในภาวะวิกฤต

นอกจากนี้ยังมีตัวแทนจากทุกภูมิภาคที่ได้ร่วมแลกเปลี่ยนในเวทีช่วงเช้าผ่านระบบออนไลน์ เช่น จังหวัดสุโขทัย สุพรรณบุรี ขอนแก่น ภูเก็ต กทม. ซึ่งส่วนใหญ่ต่างก็บอกเล่าถึงสถานการณ์ที่พวกเขาต้องเผชิญ และเอาตัวรอดซึ่งการผ่านวิกฤตมาได้ล้วนเกิดจากพลังของความร่วมมือทุกฝ่ายทั้งรัฐ เอกชน ภาคประชาชน ซึ่งเป็นความร่วมมือที่ทุกคนเห็นตรงกัน ว่าควรมีการรักษาความร่วมมือเหล่านี้เอาไว้ ถอดบทเรียนและออกแบบสู่ระบบรับมือกับภาวะวิกฤตในอนาคต 

Author

Alternative Text
AUTHOR

อรวรรณ สุขโข

นักข่าวที่ราบสูง ชอบเดินทางภายใน ตั้งคำถามกับทุกเรื่อง เชื่อในศักยภาพมนุษย์ ขอเพียงมีโอกาส