กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เผยผลสอบ ‘ฮิวแมนไรทส์ วอทช์’ เผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนในประเทศไทย ปี 2564 ชี้ มีการละเมิดสิทธิฯ ใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทยจริง
วันนี้ (25 พ.ย. 2564) วสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พร้อมด้วย ภาณุพันธ์ สมสกุล ผู้อำนวยการสำนักเฝ้าระวังและประเมินสถานการณ์สิทธิเปิดเผยผลการตรวจสอบกรณีองค์กรฮิวแมนไรทส์ วอทช์ (Human Rights Watch : HRW) เผยแพร่รายงานสถานการณ์สิทธิมนุษยชนทั่วโลก ครั้งที่ 31 ประจำปี 2564 (World Report 2021) ซึ่งมีการนำเสนอสถานการณ์ด้านสิทธิมนุษยชนของประเทศไทยในช่วงปี 2563 หลายประเด็น
ประเด็นผู้ลี้ภัย ผู้แสวงหาที่พักพิง และแรงงานข้ามชาติ มีการรายงานว่า แม้รัฐบาลจะดำเนินการปฏิรูปอุตสาหกรรมประมง แต่ยังคงมีแรงงานข้ามชาติจำนวนมากที่ต้องเผชิญกับการบังคับใช้แรงงาน การตกเป็นแรงงานขัดหนี้ของนายหน้าจัดหางาน การไม่สามารถเปลี่ยนนายจ้างได้ การได้รับค่าจ้างต่ำกว่าอัตราค่าแรงขั้นต่ำ และการได้รับค่าจ้างล่าช้าเป็นเวลาหลายเดือน โดยในปี 2563 รัฐบาลสหรัฐอเมริกายังคงระบุให้สินค้าจากอุตสาหกรรมประมงไทยอยู่ในรายการสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ (List of Goods Produced by Child Labor or Forced Labor)
“23 ก.พ. 2564 กสม. ได้พิจารณารายงานสถานการณ์ดังกล่าวแล้วเห็นว่า ประเด็นที่มีการกล่าวอ้างว่ามีการละเมิดสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิแรงงาน อยู่ในหน้าที่และอำนาจของ กสม. จึงมีมติให้มีการตรวจสอบ โดยมีหนังสือสอบถามข้อเท็จจริงไปยังหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่และรับฟังข้อเท็จจริงจากองค์กรภาคประชาสังคม ผู้แทนของสมาคมการประมง องค์กรฮิวแมนไรทส์ วอทช์ ประจำภูมิภาคเอเชีย รวมถึงพยานบุคคลและตัวแทนแรงงานข้ามชาติ”
จากการตรวจสอบของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) พบว่า เรื่องการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมง ตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 ได้บัญญัติห้ามมิให้จ้างเด็กอายุต่ำกว่า 15 เป็นลูกจ้าง ส่วนกรณีที่มีการจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ให้นายจ้างต้องปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดโดยเคร่งครัด ในขณะที่งานประมงทะเลนั้น กฎกระทรวงคุ้มครองแรงงานในงานประมงทะเล พ.ศ. 2557 ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนว่า ห้ามนายจ้างจ้างลูกจ้างที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในเรือประมง ซึ่งจากการตรวจสอบเห็นว่า ในปี 2563 ไม่พบข้อมูลเกี่ยวกับการกระทำความผิดในเรือประมง แต่ยังคงเกิดขึ้นในกิจการต่อเนื่องเกี่ยวกับการทำประมงและภาคการบริการ ซึ่งมีการจ้างแรงงานเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี และให้ลูกจ้างซึ่งเป็นเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงาน
ในระหว่างเวลา 22.00 – 06.00 น. อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 โดยอยู่ระหว่างดำเนินคดี ส่วนกรณีกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ในรูปแบบการแสวงประโยชน์จากการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ ซึ่งมีผู้เสียหายเป็นเด็กหญิงสัญชาติกัมพูชา ผู้กระทำไม่ใช่บุคคลสัญชาติไทย
ส่วนกรณีการใช้แรงงานบังคับ ปัญหาที่เกิดขึ้นในปี 2563 มีลักษณะที่เข้าข่ายการกระทำความผิดฐานค้ามนุษย์ โดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ได้ให้การช่วยเหลือผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ในรูปแบบการถูกแสวงประโยชน์ด้วยการบังคับใช้แรงงานในงานประมง หรือกรณีกองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ รายงานว่า มีคดีที่ผู้เสียหายมีอายุระหว่าง 22–34 ปี แต่กรณีดังกล่าวเป็นการกระทำความผิดของเรือประมงสัญชาติอื่นและผู้กระทำไม่ใช่บุคคลสัญชาติไทย และหากพิจารณาตาม “ตัวชี้วัดภาวะแรงงานบังคับ” ซึ่งจัดทำโดยโครงการปฏิบัติการพิเศษขององค์การแรงงานระหว่างประเทศเพื่อขจัดการใช้แรงงานบังคับ (ILO’s Special Action Programme to Combat Forced Labour: SAP-FL) อาทิ การไม่จ่ายค่าจ้าง พบว่ายังคงเกิดกรณีการไม่จ่ายค่าจ้างให้แก่แรงงานข้ามชาติที่ทำงานในเรือประมง อันเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน พ.ศ. 2541 และเข้าข่ายการบังคับใช้แรงงานตามเกณฑ์ตัวชี้วัดภาวะแรงงานบังคับข้างต้น
“สำหรับการแก้ไขปัญหาข้างต้นนั้น รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง แม้การดำเนินการจะยังไม่สามารถขจัดการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับได้อย่างสมบูรณ์ แต่ก็ถือว่ามีความก้าวหน้าทั้งในเชิงของการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดปัญหาให้มีจำนวนลดน้อยลง รวมทั้งมีกระบวนการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดมากขึ้น มีความพยายามเพื่อถอดสินค้าไทยออกจากรายการสินค้าที่ผลิตโดยแรงงานเด็กและแรงงานบังคับ (List of Goods Produced by Child Labor or Forced Labor) โดยมีนโยบายและแนวทางการแก้ไขปัญหาดังกล่าว ซึ่งมีกระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลัก”
อย่างไรก็ตาม การใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมงไทยเป็นปัญหาสิทธิมนุษยชนที่ปรากฏมาโดยตลอดและส่งผลกระทบในวงกว้าง โดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติซึ่งมีจำนวนมาก ดังนั้น เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาดังกล่าวอย่างเป็นระบบ กสม. ในคราวประชุมด้านการคุ้มครองและมาตรฐานการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เมื่อ 22 พ.ย. 2564 จึงมีมติให้มีข้อเสนอแนะมาตรการหรือแนวทางในการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อมอบหมายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการ สรุปได้ดังนี้
(1) ให้คณะกรรมการนโยบายการประมงแห่งชาติ คณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย กระทรวงแรงงาน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้อง บังคับใช้กฎหมายเกี่ยวกับการกระทำความผิดฐานใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับอย่างเคร่งครัดโดยไม่เลือกปฏิบัติ พร้อมกันนี้ ต้องปรับมาตรการในการดำเนินการให้สามารถรองรับกับสถานการณ์แทรกซ้อนอื่น ๆ ได้ด้วย โดยเฉพาะในช่วงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
(2) ให้กระทรวงแรงงานเป็นหน่วยงานหลักในการบูรณาการระหว่างหน่วยงานของรัฐ ผู้ประกอบการเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับการป้องกันการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับ
(3) คณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย ต้องเปิดโอกาสและสนับสนุนให้องค์กรเอกชนและองค์กรภาคประชาสังคมมีบทบาทในการตรวจสอบปัญหาการใช้แรงงานเด็กและแรงงานบังคับในอุตสาหกรรมประมง อ้อย เครื่องนุ่งห่ม และอุตสาหกรรมอื่น ๆ อย่างรอบด้าน นอกจากการตรวจสอบโดยหน่วยงานของรัฐ
ทั้งนี้ จะได้เผยแพร่รายงานนี้ให้ประชาชนได้รับทราบเป็นการทั่วไปด้วย