เลือกตั้ง อบต. พื้นที่ อ.ชนบท จ.ขอนแก่น คึกคัก คาดผู้ใช้สิทธิ์ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 80 ผู้ใช้สิทธิ์เลือกตั้งคนรุ่นใหม่ ยืนยัน ดูจากผลงาน ประสบการณ์ นโยบาย ไม่เน้นเครือญาติ อยากเห็น อบต. หน้าใหม่ กล้าเปลี่ยนแปลงท้องถิ่น ด้าน นักวิชาการ ม.ขอนแก่น ชี้ ผู้สมัครหน้าใหม่ อาจไม่ชี้วัดการเปลี่ยนอำนาจใหม่ระดับท้องถิ่น เชื่อ ยังคงถูกระบบราชการครอบงำ แต่มั่นใจวัฒนธรรมเลือกตั้งกำลังจะเปลี่ยนไป
วันนี้ (28 พ.ย. 2564) ทีมข่าว TheActive ติดตามบรรยากาศการเลือกตั้งนายก อบต. และสมาชิกสภา อบต. พื้นที่ อบต.ปอแดง อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ซึ่งมีผู้ลงสมัครเลือกตั้งนายก อบต. 3 คน และ สมาชิกสภา อบต. 3 คน ในจำนวนทั้งหมด 10 หน่วยเลือกตั้ง มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งกว่า 6,000 คน
สำหรับการแข่งขันในพื้นที่รอบนี้ พบว่า มีผู้สมัครนายก อบต.หน้าใหม่ ไม่เคยผ่านสนามการเมืองระดับท้องถิ่นมาก่อน คือ ร.ต.อ. เทวินทร์ ทุมเที่ยง เคยเป็นอดีตตำรวจ เกษียณเมื่อปี 2561 ส่วนผู้สมัครอีก 2 คน คือ อดีตนายก อบต. ล้วนเคยมีประสบการณ์ และผ่านสนามการเมืองท้องถิ่นมาแล้วทั้งคู่
การเลือกตั้งที่หน่วยนี้ จึงน่าจับตาว่า ผู้สมัครคนหน้าใหม่ และผู้นำท้องถิ่นคนเดิม จะงัดนโยบายอะไรมาช่วงชิงคะแนน รวมถึงกระแสการอยากเปลี่ยนแปลงอำนาจในพื้นที่จะร้อนแรง และมีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะการเมืองในระดับท้องถิ่น ซึ่งเป็นการเมืองที่ถูกพูดถึงว่า “พวกไม่มาก ญาติไม่เยอะ การจะชนะในสนามท้องถิ่นไม่ใช่เรื่องง่าย”
ตลอดทั้งวันที่ทีมข่าว สังเกตการณ์ที่หน่วยเลือกตั้งแห่งนี้ พบผู้มาใช้สิทธิหลากหลาย รวมถึงกลุ่มที่ได้สิทธิเลือกตั้งครั้งแรก (New Voters) พบว่า ทุกคนแสดงความเห็นไปในทิศทางเดียวกัน ว่า อยากเห็นการเปลี่ยนแปลงจากการเลือกตั้งครั้งนี้ ส่วนเกณฑ์การตัดสินใจ ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความเป็นเครือญาติ แต่เลือกจากความพึงพอใจในนโยบาย และตัวบุคคลเป็นหลัก
ราชาวดี ถิ่นลำปาง อายุ 20 ปี ชาวตำบลปอแดง บอกว่า รู้สึกตื่นเต้นกับการเลือกตั้งครั้งแรก เข้าใจว่าการเลือกตั้งมีความสำคัญ การมาใช้สิทธิ์ครั้งนี้ อยากได้ผู้สมัครที่มีใจบริการประชาชน และตัวเองไม่สนว่าจะเป็นญาติพี่น้องหรือไม่
ไม่ต่างจาก สังวาล มะลิ อายุ 65 ปี เธอบอกว่า ใช้สิทธิ์ครั้งนี้ตามความพึงพอใจในตัวผู้สมัครเป็นหลัก เพราะอยากเห็นการพัฒนา ไม่ได้เลือกจากความเป็นเครือญาติ แต่สำหรับคนอื่น ๆ อาจเลือกเพราะความสนิทสนมใกล้ชิดแบบญาติพี่น้องก็ได้
“อาจมีที่เลือกญาติพี่น้อง แต่สำหรับยาย เรามีความคิดของเราเอง”
ส่วน ณัฐถาพร รักษาถิ่น อายุ 27 ปี เห็นว่า การพัฒนาชุมชนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน แทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงมากนัก โดยเฉพาะถนน เป็นหลุมเป็นบ่อนาน กว่าจะได้รับการแก้ไข นี่เป็นปัญหาที่เธอ อยากให้ อบต.คนใหม่เข้ามาจัดการ การตัดสินใจของเธอครั้งนี้ จึงเน้นไปที่นโยบายของคนใหม่ที่กล้าเข้ามาเปลี่ยนแปลง
“อยู่มาตั้งนานไม่เห็นมีอะไรเปลี่ยนแปลง ถนนที่เราขับผ่านไปโรงเรียนทุกวันจนถึงตอนนี้อายุ27 ปี ถนนยังเป็นหลุมเหมือนดาวอังคาร เพิ่งมาสร้างตอนนี้นะที่เราเห็น มีผู้สมัครคนหนึ่งหาเสียง กล้าคิดกล้าทำ เพื่อเปลี่ยนแปลง คือเราชอบตรงนี้”
เช่นเดียวกับ วัชรินทร์ สินชู วัย 23 ปี แม้ว่าเขาจะทำงานที่กรุงเทพฯ ไม่ค่อยได้กลับบ้าน แต่ก็พอมองเห็นปัญหาของชุมชน ว่าต้องได้รับการพัฒนาโดยเฉพาะอาชีพ รายได้ ผู้นำคนใหม่จึงควรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ หลายอย่างที่มีอยู่ในชุมชน เป็นต้นทุนที่รอการพัฒนา ส่งเสริมต่อ ผู้สมัครที่มีวิสัยทัศน์ และนโยบายด้านนี้จึงเป็นคนที่เขาสนับสนุนลงคะแนนให้
ด้าน รศ.สถาพร เริงธรรม คณะมนุษยศาสตร์สังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น วิเคราะห์ปัจจัยที่ผู้สมัครหน้าใหม่จะชนะในสนาม อบต.ครั้งนี้ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลัก คือ การมีพวกพ้อง เครือญาติมากพอ พฤติกรรมส่วนตัว อิทธิพลสนับสนุน สุดท้าย คือกระแสการอยากเปลี่ยนจากคนเดิมที่ไม่มีผลงานและอยู่นาน แต่ผู้สมัครหน้าใหม่อาจไม่ใช่ตัวชี้วัดการเปลี่ยนอำนาจใหม่ในระดับท้องถิ่นได้ เป็นเพียงการเปลี่ยนโครงสร้างการบริหารภายใน และยังคงถูกระบบราชการ รัฐบาลครอบงำ แต่กฎระเบียบหลายอย่างก็มีแนวโน้มที่ดีขึ้น แต่เชื่อว่าวัฒนธรรมของการเลือกตั้งกำลังจะเปลี่ยนไป
“การเลือกตั้ง อบต.ครั้งนี้ คือการสู้ระหว่างการเมืองแบบเก่ากับการเมืองแบบใหม่ ผู้สมัครต้องตระหนักว่าเมื่อชนชั้นกลางเกิดการเรียนรู้มากขึ้น จะเปลี่ยนวิธีคิด บวกกับกระแสการเมืองระดับชาติด้วยที่ทำให้การเมืองแบบเก่าไม่สามารถคงอยู่ได้ เชื่อว่าในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลง แต่ครั้งนี้จะยังคงไม่มากนัก”
สำหรับจังหวัดขอนแก่น มี อบต.ทั้งหมด 140 แห่ง 1,617 หน่วยเลือกตั้ง มีผู้สมัครลงเลือกตั้งนายก อบต.ทั้งหมด 361 คน สมาชิกสภา อบต. 3,400 คน มีผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งราว 750,000 คน