โพล ชี้ ร้อยละ 91.29 รู้ว่า 11 พ.ค. นี้ เลือกตั้งเทศบาล ข่าว “ลูกพีช” มีผลให้คนตื่นตัว

“สวนดุสิตโพล” เผย ประชาชน 65.44% จะออกไปใช้สิทธิเลือกตั้งเทศบาล และต้องการเห็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ถนนหนทางในชุมชน การสร้างงานสร้างรายได้ในพื้นที่ แก้ปัญหาปัญหาฝุ่น น้ำท่วม

วันนี้ (27 เม.ย. 2568) สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยสวนดุสิต สำรวจความคิดเห็นประชาชน หัวข้อ “ การเลือกตั้งเทศบาลทั่วประเทศ” จากกลุ่มตัวอย่าง 1,137 คน สำรวจทางออนไลน์และภาคสนาม ระหว่างวันที่ 22-25 เมษายน 2568

สำหรับข้อค้นพบที่สำคัญ คือ คนสนใจการเลือกตั้งท้องถิ่น โดยกลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ร้อยละ 91.29 รู้ว่าจะมีการเลือกตั้งสมาชิกสภาเทศบาลและนายกเทศมนตรีในวันอาทิตย์ที่ 11 พ.ค. 2568 โดยระบุว่ารับรู้ข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ เช่น ข่าวลูกพีช (ผู้สมัคร สท.ธัญบุรี จ.ปทุมธานี กรณีอุบัติเหตุบนมอเตอร์เวย์) การหาเสียงในพื้นที่ โปสเตอร์ และ TikTok

สำหรับการไปใช้สิทธิเลือกตั้ง ร้อยละ 65.44 ระบุว่าจะไปเลือกตั้งแน่นอน รองลงมาคือร้อยละ 21.72 ที่ยังไม่แน่ใจ และเมื่อถามถึงความคิดเห็นต่อความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่น พบว่าประชาชนร้อนละ 53.39 มองว่าค่อนข้างสำคัญ และร้อยละ 28.94 เห็นว่าสำคัญมาก สะท้อนว่าคนส่วนใหญ่ตระหนักถึงบทบาทของการเลือกตั้งต่อการพัฒนาท้องถิ่น

ในหัวข้อประชาชนคิดว่าผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่นที่มีนักการเมือง หรือพรรคการเมืองสนับสนุนจะมีความได้เปรียบในการเลือกตั้งมากน้อยเพียงใด พบว่าร้อยละ 52.59 ระบบค่อนข้างได้เปรียบ รองลงมาร้อยละ 34.56 ระบุได้เปรียบมาก ส่วนร้อยละ 8.97 ไม่ค่อยได้เปรียบ และร้อยละ 3.88 ได้เปรียบ

สำหรับหัวข้อประชาชนคิดว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นกับการเลือกตั้งระดับชาติมีความสัมพันธ์กันอย่างไรบ้าง พบว่าร้อยละ 48.02 ระบุมีการใช้เงินจำนวนมากในการหาเสียง ซื้อเสียงเหมือนกัน รองลงมาร้อยละ 47.05 การใช้ฐานเสียงร่วมกัน และร้อยละ 46.61 เกี่ยวข้องกับผู้มีบารมี อิทธิพลบ้านใหญ่ในพื้นที่

และหัวข้อหลังการเลือกตั้งแล้วประชาชนอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ที่เป็นรูปธรรมอะไรบ้าง พบว่าร้อยละ 52.15 พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานต่าง ๆ และถนนหนทางในชุมชน รองลงมาร้อยละ 48.11 เน้นการสร้างงานสร้างรายได้ในพื้นที่ และร้อยละ 46.53 แก้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอย่างเป็นรูปธรรม เช่นปัญหาฝุ่น น้ำท่วม

มุทิตา มากวิจิตร์ นักวิชาการโรงเรียนกฏหมายและการเมือง มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระบุว่า ผลสำรวจสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่สนใจการเลือกตั้งระดับเทศบาลเป็นอย่างมาก และตระหนักว่าการเลือกตั้งท้องถิ่นจะเป็นส่วนหนึ่งในการยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายของผู้ที่ได้รับเลือกตั้งหลังจากนี้

“สมาชิกเทศบาลและนายกเทศมนตรีที่ได้รับการเลือกตั้งมาแล้วจะต้องแสดงศักยภาพโดยการทำงานเชิงรุก พร้อมทั้งขับเคลื่อนนโยบายต่าง ๆ ให้สอดคล้องกับความต้องการของประชาชนอย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งควรให้ภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมในการเสนอความต้องการที่จะพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่จำเป็นต่าง ๆ รวมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาและช่วยเหลือประชาชน ในกรณีที่เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือภัยธรรมชาติต่าง ๆ ตลอดจนควรส่งเสริมความเข้มแข็งให้แก่ท้องถิ่นโดยการสร้างงาน สร้างอาชีพ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ให้ดียิ่งขึ้น”


เนื้อหาที่เกี่ยวข้อง

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active