ภาคประชาสังคม มองการถ่ายโอนอำนาจของประชาชนสู่ผู้แทน จากอดีต ปัจจุบัน และอนาคต กับการ “เลือกตั้ง อบต. 2564” อ่านความหวังจากมุมมองภาคประชาชน โอกาสฐานการเมืองท้องถิ่น สู่การกำหนดทิศทางรัฐบาล
นักการเมืองท้องถิ่น หลังพิงนักการเมืองระดับชาติ แหล่งทุนหนุนการ “ซื้อเสียง”
สมชาย หอมลออ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชน มองว่า ปัญหาใหญ่ของการเมืองท้องถิ่น คือ ไม่สามารถตัดขาดจากพรรคการเมืองระดับชาติได้ มีการพึ่งพิงกันในเชิงนโยบายและสนับสนุนฐานเสียงซึ่งกันและกัน ดังนั้น การที่จะรณรงค์ให้ผู้ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งตัดสินในซื้อนโยบายมากกว่ารับเงิน ต้องอาศัยประสบการณ์เพื่อเรียนรู้ว่าการที่เลือกผู้นำที่มีวิสัยทัศน์ดี จะส่งผลดีที่เป็นรูปธรรมมากกว่า ผู้ที่ซื้อเสียงเพื่อมาทวงเอาทุนคืนหลังได้รับตำแหน่ง
“ปัจจัยแรกคือการเลือกตั้งท้องถิ่นต้องดำเนินการต่อเนื่องยาวนานให้ประชาชนได้เรียนรู้การใช้สิทธิ์ของตัวเอง และต้องมีการแข่งขันเชิงนโยบาย ให้ประชาชนเข้าในว่าชีวิตความเป็นอยู่ของเขาขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายของ อบต. “
สอดคล้องกับ รศ.จตุรงค์ บุณยรัตนสุนทร คณะสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม มหาวิทยาลัยหัวเฉียวเฉลิมพระเกียรติ ที่ระบุว่า การซื้อสิทธิ์ขายเสียงมักเกิดขึ้นล่วงหน้าก่อนการหาเสียง และคนที่เป็นนักการเมืองระดับชาติมีบทบาทในการเข้าไปจัดการควบคุมดูแล เพราะท้ายที่สุดแล้วฐานเสียงรัฐบาลก็คือท้องถิ่นนั้นเอง
“นี่คือระบบอุปถัมภ์ที่แข็งแรงมาก ถ้าเราจะเปลี่ยนโฉมประเทศไทยได้ ต้องไม่เลือกนักการเมืองระดับชาติที่ใช้วิธีการสกปรกเข้ามาบริหารประเทศ”
เช่นเดียวกับ ไพโรจน์ พลเพชร ที่ปรึกษาสมาคมสิทธิเสรีภาพของประชาชน (สสส.) ที่กล่าวว่า การเลือกตั้งท้องถิ่นฉายภาพสะท้อนปัญหาการเมืองจากฐานราก ตั้งแต่เรื่องของระบบราชการที่มีปัญหา กับดักของนายทุนที่ยึดโยงอำนาจท้องถิ่นและผู้นำท้องถิ่น รวมถึงระบบเครือข่ายประชาชนในรูปแบบเครือญาติและการอุปถัมภ์ ที่ทำให้สุดท้ายผู้นำท้องถิ่นที่ได้รับการเลือกตั้งไม่อาจสร้างประโยชน์สาธารณะได้อย่างเต็มที่
“สิ่งที่เราพยายามทำ คือ การชักจูงนายก อบต. ต่าง ๆ ไปทำในสิ่งที่ดี จัดระบบระเบียบราชการให้สร้างผลงานได้ สามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนได้มากขึ้น ไม่ยึดโยงกับกลุ่มทุกอิทธิพลในพื้นที่ อย่างที่ผ่านมาจะเห็นว่าสิ่งที่ท้องถิ่นทำได้คือการจัดการโครงสร้างพื้นฐานทั้งหมด แต่พอไปเรื่องปัญหาประชาชนเชิงพื้นที่ต่าง ๆ เช่น การสัมปทานแหล่งแร่ ภาษีอากร ทำไม่ได้เลย ทำให้ท้องถิ่นจัดการชีวิตประชาชนไม่ได้ เราจึงต้องพูดเรื่องการกระจายอำนาจ และให้ท้องถิ่นเห็นความสำคัญในบทบาทนี้”
สุนทรี เซ่งกิ่ง กรรมการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาแรงงานและอาชีพ ยังอธิบายเพิ่มเติมด้วยว่า ที่ผ่านมาในการหาเสียงเลือกตั้ง ผู้สมัครเลือกตั้งท้องถิ่นหลายคน อ้างอิงตนกับพรรคการเมือง หรือระบุว่าเป็นตัวแทนของกลุ่มการเมืองใหญ่ ประกอบกับการซื้อสิทธิ์ขายเสียงทำให้ไม่เกิดประชาธิปไตยโดยแท้จริง จึงเสนอว่าควรมีการตรวจสอบในเรื่องนี้
“ควรจะมีการส่งเสริมให้มีการตรวจสอบภาคประชาชนให้มากขึ้น ไม่ให้มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงหรือหาเสียงโดยอ้างกลุ่มการเมือง นอกจากนี้ยังพบว่าหลังการเลือกตั้ง ผู้ชนะการเลือกตั้งก็มีการเลือกปฏิบัติต่อพื้นที่ที่ให้คะแนนสูงกว่า เช่น พื้นที่ที่ชนะการเลือกตั้งจะมีโครงการต่าง ๆ ไปลง มีการสนับสนุนช่วยเหลือเต็มที่ แต่พื้นที่ที่ไม่ชนะการเลือกตั้งจะถูกมองข้าม เรื่องนี้ควรถูกตรวจสอบเช่นกัน”
นอกจากนี้ สุนทรี ยังแสดงทัศนะในประเด็นอื่น ๆ เพิ่มเติม เช่น การส่งเสริมให้เกิดการเลือกตั้งท้องถิ่นนอกพื้นที่ได้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้ใช้สิทธิ์โดยที่ไม่ต้องเดินทางไกล เลี่ยงการซื้อสิทธิ์ขายเสียงในพื้นที่ หรือสามารถเลือกตั้งท้องถิ่นในพื้นที่ที่ตนอาศัย เพราะบางคนย้ายที่อยู่แต่ยังไม่ได้ย้ายทะเบียนบ้าน รวมถึงข้อเสนอว่าให้มีสัดส่วนผู้บริหารท้องถิ่น หญิงและชายสมดุลกัน เพื่อให้เกิดนโยบายที่หลากหลายตอบโจทย์ประชาชนทุกกลุ่มด้วย
สัญญาณการเมืองดี หวัง “พลังประชาชน” กำหนดทิศทางขั้วอำนาจ
ณัฐกร วิทิตานนท์ อาจารย์ประจำ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่ ระบุว่า ความหลากหลายในเชิงพื้นที่ทำให้ปัญหาที่เกิดขึ้นกับการเลือกตั้งท้องถิ่นต่างกัน เช่น บางพื้นที่ไม่มีการซื้อสิทธิ์ขายเสียงเพราะการแข่งขันน้อย ดังนั้น การสนับสนุนการเมืองน้ำดีต้องพิจารณาในบริบทของพื้นที่ด้วย อย่างไรก็ตาม พบสัญญาณการเมืองมีทิศทางที่ดีขึ้น โดยเฉพาะในกรณีความรุนแรงที่เกินขึ้นระหว่างการเลือกตั้ง มีแนวโน้มลดลงเรื่อย ๆ
จากการเก็บข้อมูลพบว่า ความรุนแรงทางการเมืองน้อยลงเมื่อเทียบกับปี 2556 เช่น การยิงกัน ทั้งปีมีแค่ 7 รายเท่านั้น บางพื้นที่ไม่มีการซื้อเสียงก็มี พบว่าทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งภาพลักษณ์ด้านลบจะน้อยลง จึงเห็นว่าควรจะต้องมีการจัดการเลือกตั้งต่อเนื่อง ไม่ให้เบรกจากสุญญากาศทางการเมือง อย่างเช่นหลายปีก่อนหน้านี้ ตั้งแต่รัฐบาล คสช. เข้ามา
ด้าน โคทม อารียา ที่ปรึกษา สถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล ยังมองว่า พลังประชาชนคือปัจจัยสำคัญที่จะผลักดันให้เกิดนักการเมืองน้ำดีตั้งแต่ระดับท้องถิ่นถึงระดับชาติ ดังนั้นจึงควรมีการส่งเสริมสนับสนุนให้การทำงานภาคประชาชนเดินหน้าควบคู่กับการบริหารท้องถิ่น เพื่อกำหนดทิศทางการพัฒนาที่เอื้อประโยชน์สูงสุด
“เราน่าจะบอกกล่าวกับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งให้ช่วยกันจับตาการนับคะแนน และให้หน่วยงานรัฐ สนับสนุนผู้ที่จะเป็นอาสาในการจับตาการซื้อสิทธิ์ขายเสียง หลังจากการเลือกตั้งก็ควรเลิกทะเลาะกัน หันมาช่วยพัฒนาท้องถิ่นมากกว่า โดยมีสภาองค์กรชุมชนเป็นหน่วยประสานความร่วมมือ”
สมพันธ์ เตชะอธิก อาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ยังฝากความหวังถึงคนรุ่นใหม่ที่เดินทางกลับไปยังบ้านเกิดว่า เป็นกำลังสำคัญในการร่วมกันผลักดันประเด็นนโยบาย การส่งเสริมให้ชุมชนชาวบ้านร่วมตรวจสอบการเลือกตั้ง ร่วมแก้ปัญหาระบบอุปถัมภ์ รวมถึงมองว่าในระดับท้องถิ่นเองควรต้องจัดให้มีคณะกรรมการตรวจสอบการเลือกตั้งและการบริหารจัดการที่ดี โปร่งใสตรวจสอบได้ เช่น การเปิดพื้นที่สาธารณะแสดงนโยบาย เพื่อคัดสรรผู้นำท้องถิ่นที่มีศักยภาพในการบริหารงานด้านสวัสดิการ คุณภาพชีวิต และสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ท้องถิ่นด้วย