สำรวจต้นทุน “สาธารณสุขไทย” รับมือ “โอมิครอน”

“สิงคโปร์-มาเลเซีย” 2 ชาติอาเซียนพบโอมิครอนแล้ว “ไทย” เตรียมนับถอยหลังพบรายแรก “สธ.” เปิดตัวเลข เตียง ยา วัคซีน รับมือสายพันธุ์ใหม่ “ศ.นพ.ยง” ห่วงโอมิครอนเข้ามาทางชายแดน 

หลังนักระบาดวิทยา ประเมินว่าประเทศไทยมีโอกาสที่สายพันธุ์โอมิครอนจะเข้ามาแพร่ระบาด เช่นเดียวกับตอนนี้ พบแล้วกว่า 30 ประเทศ สิ่งที่ทำเพื่อสกัดการเข้ามาของสายพันธุ์โอมิครอน ก็คือการคัดกรองการเดินทางของผู้คน ทั้งทางท่าอากาศยาน และทางด่านพรมแดน

แม้ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขยังพยายามติดตามตัว ผู้ที่เดินทางมาจาก 8 ประเทศทวีปแอฟริกาก่อนหน้านี้จำนวน 252 คน แต่ นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉินยืนยันเมื่อวานนี้ (2 ธ.ค.) ว่า คนกลุ่มนี้ความเสี่ยงต่ำ เพราะฉีดวัคซีนครบแล้ว มีการตรวจหาเชื้อถึง 3 ครั้งก่อนเดินทางเข้ามาไทย 72 ชั่วโมง ซึ่งผ่านช่วงที่มีโอกาสพบเชื้อสูงสุดไปแล้ว

แต่เพื่ออุดช่องโหว่ การพบผู้ติดเชื้อโควิค-19 สายพันธุ์โอมิครอนคนแรกในไทยจึงเข้มงวดคัดกรองการเคลื่อนย้ายประชากรจากต่างแดน ไม่ว่าจะกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่เดินทางมาทางท่าอากาศยาน หรือกลุ่มแนวชายแดนโดยเฉพาะแรงงานข้ามชาติ โดยทุกคนที่จะเข้ามาในประเทศต้องตรวจหาเชื้อด้วยวิธี RT-PCR แต่การคัดกรองแรงงานข้ามชาติที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย ดูเป็นเรื่องที่ท้าทายมากที่สุด 

ข้อมูลของหน่วยงานความมั่นคง ที่รายงานต่อ ศบค. ระบุว่า เดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา พบแรงงานข้ามชาติจากประเทศเพื่อนบ้าน เดินทางเข้าไทยผ่านทางช่องทางธรรมชาติ อย่างผิดกฎหมาย สามารถจับกุมได้ถึง 12,000 คน ช่วงเวลาหลังจากนี้ ที่แม้เข้มงวดสกัดการลักลอบเข้าเมืองมากขึ้น แต่ไม่มีใครรู้ว่าในจำนวนที่อาจหลุดรอดเข้ามาอีก จะมีใครสักคนหนึ่งที่นำพาเชื้อโควิค 19 สายพันธุ์ใหม่เข้ามาด้วยหรือไม่

ชลนภา อนุกูล

ชลนภา อนุกูล นักวิจัยสมทบ หน่วยปฏิบัติการวิจัยความมั่นคงของมนุษย์และความเท่าเทียม สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มองว่าจะทำอย่างไรก็ไม่สามารถที่จะทำให้ผู้ลักลอบหลบหนีเข้าเมืองกลายเป็นศูนย์ เพราะแนวชายแดนไทยติดประเทศเพื่อนบ้านยาวมาก และพบข้อมูลแรงงานข้ามชาติต้องจ่ายค่านายหน้าราว 25,000 บาท การแก้ปัญหาอาจต้องเปลี่ยนมุมมองจากที่คอยสกัดเป็นตั้งรับ บูรณาการตั้งจุดคัดกรองแทน นอกจากจะคัดกรองแรงงานเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจแล้วยังเป็นการควบคุมโรคที่ดีด้วย 

เปิดตัวเลขเตียง ยา วัคซีน รับมือสายพันธุ์ใหม่ 

กระทรวงสาธารณสุข ยืนยันในข้อมูลเท่าที่มีเบื้องต้นว่าเชื้ออาจจะไม่รุนแรงเท่าทุกสายพันธุ์ที่ผ่านมา แต่องค์การอนามัยโลกก็เป็นห่วงกลุ่มผู้สูงอายุ ขอให้งดการเดินทาง แม้จะฉีดวัคซีนแล้วแต่หากเชื้อสายพันธุ์ใหม่หลบวัคซีนจริง แล้วเชื้อลงปอดของกลุ่มเสี่ยง ก็อาจทำให้อาการรุนแรงได้

ไทยมีต้นทุนอะไรบ้างในการรับมือสายพันธุ์โอมิครอน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำแนกเป็น 

  • สถานการณ์เตียงมีอยู่ราว 2 แสนเตียงสำหรับโควิด-19 และมีการครองเตียงอยู่ประมาณ 30% 
  • มีการสำรองยาฟาวิพิราเวียร์ ที่สามารถใช้ได้ถึง 45 วันหากมีการใช้วันละ 5 แสนเม็ด
  • ลงนามจัดซื้อยารักษาโควิดโดยเฉพาะที่เพิ่งคิดค้นได้ มาอีกในช่วงมกราคมปี 65 
  • สถานการณ์วัคซีนตอนนี้มีจำนวนมากเพียงพอกว่า 40 ล้านโดส ทั้งเข็ม 2 และเข็มที่ 3
  • ไทยฉีดวัคซีนเข็ม 1 ไปแล้ว 72% เข็มสอง 60% และเร่งติดตามกลุ่มที่ยังไม่ฉีดวัคซีนมาฉีดให้ครบ 

ศ.นพ.ยง ห่วงโอมิครอนเดินเข้ามาทางชายแดน 

วันนี้ (3 ธ.ค.) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะด้านไวรัสวิทยาคลินิกภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยโพสต์ข้อความลงบนเฟซบุ๊ก ตอนหนึ่ง ระบุว่า โดยทั่วไปการแพร่กระจายสายพันธุ์ต่าง ๆ ในอดีต มาสู่ประเทศไทย สามารถมาได้โดย บินมา เดินมา หรือว่ายน้ำ มา 

บทเรียนในอดีต สายพันธุ์ต่าง ๆ ที่บินมา ก็จะถูกกักกันไว้ได้หมด  สายพันธุ์ที่เข้าสู่ประเทศไทยแต่ละครั้งมักจะ “เดิน” มา เพราะเรามีพรมแดนธรรมชาติอันยาวไกล การป้องกันที่สำคัญจะอยู่ที่การเดินมา มากกว่าที่บินมา 

ถ้ามีการแพร่กระจายของสายพันธุ์ โอมิครอน ได้เร็วก็จะมีโอกาสที่แพร่กระจายไปทั่วโลก และในที่สุดประเทศไทยก็จะหนีไม่พ้นอย่างในอดีต เพียงแต่ยืดเวลาให้ช้าที่สุด เพื่อความเตรียมพร้อม หรือมีองค์ความรู้เกิดขึ้น พร้อมที่จะดูแลรักษาป้องกัน

การเตรียมพร้อมรับมือสำหรับ โอมิครอน ไว้ก่อนล่วงหน้าสามารถทำได้โดย

  1. การให้วัคซีน  ในปัจจุบันต้องครอบคลุมให้ได้สูงสุด หรือเกือบทั้งหมดของประชากรที่ควรจะได้รับวัคซีน วัคซีนที่ใช้ในปัจจุบัน ถึงแม้ประสิทธิภาพ ต่อโอมิครอนจะลดลงบ้าง แต่ก็สามารถป้องกันความรุนแรง การเข้านอนโรงพยาบาลและการเสียชีวิตได้ (จากข้อมูลของแอฟริกาใต้ ที่มีผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น ผู้ป่วยที่จำเป็นต้องเข้ารักษาในโรงพยาบาล  90% ไม่ได้ฉีดวัคซีน) วัคซีนในประเทศไทยขณะนี้มีเป็นจำนวนมากเพียงพอ ที่จะให้ได้กับคนทุกคน และเตรียมพร้อมที่จะกระตุ้นในเข็มที่ 3
  2. การวินิจฉัยสายพันธุ์โอมิครอน ให้ได้อย่างรวดเร็ว เพื่อควบคุมการระบาดของโรค ถ้าโอมิครอน หลุดรอดเข้ามา ก็ต้องวินิจฉัยให้ได้อย่างรวดเร็ว และมีทีมที่พร้อมจะเข้าไปควบคุมดูแล ไม่ให้มีการแพร่ระบาดเกิดขึ้น
  3. การป้องกัน การแพร่กระจายของเชื้อโควิด- 19 ด้วยมาตรฐานวิถีชีวิตใหม่ ยังมีความจำเป็นที่ต้องทำอย่างเคร่งครัด ด้วยการล้างมือ ดูแลสุขอนามัย ใส่หน้ากากอนามัย และกำหนดระยะห่าง เพื่อให้มีจำนวนผู้ป่วยให้น้อยที่สุด 

การเตรียมพร้อม ต้องให้ทุกคนเข้าใจ ใช้ความรู้มากกว่าความเชื่อ สร้างความรู้ขึ้นมาอย่างรวดเร็ว มีความโปร่งใส และทุกคนจะต้องเคร่งครัดรักษาระเบียบวินัย จะช่วยลดการระบาดของโรคได้อย่างแน่นอน

2 ชาติอาเซียน “สิงคโปร์-มาเลเซีย” พบโอมิครอนแล้ว 

เมื่อวันที่ 30 พ.ย.​ 2564 สิงคโปร์เป็นประเทศแรกในอาเซียนที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน 2 คนจากการตรวจเชื้อเบื้องต้นกับนักเดินทางที่มาจากประเทศแถบแอฟริกา ถึงสิงคโปร์เมื่อวันพุธ (1 ธ.ค.) ที่ผ่านมา สิงคโปร์ยืนยันว่าผู้ติดเชื้อทั้งสองคนไม่ได้มีประวัติเข้าไปสัมผัสกับคนในชุมชน ซึ่งให้ทั้ง 2 คนกักตัวอยู่ที่บ้านเพื่อยืนยันผลอีกครั้ง ขณะเดียวกันผู้โดยสาร 19 คนบนเครื่องบินลำดังกล่าว ได้มีการตรวจเชื้อเบื้องต้น ผลเป็นลบ แต่ได้สั่งให้กักตัวที่บ้านเช่นกัน 

ล่าสุดวันนี้ (3 ธ.ค.)  มาเลเซีย เป็นประเทศที่ 2 ในอาเซียนที่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดยพบในนักศึกษาต่างชาติที่ผ่านการกักตัว หลังเดินทางมาจากแอฟริกาใต้ เมื่อ 2 สัปดาห์ก่อน โดยหนึ่งในผู้ติดเชื้อเป็นนักเรียนหญิง ต่างชาติ อายุ 19 ปี ไม่แสดงอาการและได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว มีผลการทดสอบโควิด-19 เป็นบวก หลังเดินทางมาถึงมาเลเซียโดยผ่านสิงคโปร์ และได้รับการกักตัวเป็นเวลา 10 วัน ก่อนได้รับการปล่อยตัวเมื่อวันที่ 29 พ.ย. 

Author

Alternative Text
AUTHOR

วชิร​วิทย์​ เลิศบำรุงชัย

ผู้สื่อข่าวสาธารณสุข ThaiPBS