UNDP ร่วมกับ มูลนิธิคอนราดฯ และ รัฐสภาไทย นำตัวแทนเยาวชนทุกภูมิภาค เสนอปัญหา ต่อ กมธ. มุ่งเป้าสร้างความเท่าเทียมทางเพศ สิทธิกลุ่มชาติพันธุ์ และแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา
วันนี้ (9 ธ.ค. 2564) ที่รัฐสภา ถนนเกียกกาย สำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ร่วมกับ มูลนิธิคอนราด อาเด นาวร์ ประจำประเทศไทย (KAS) และสำนักเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร จัดโครงการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสมาชิกรัฐสภาและเยาวชนเพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ‘Youth and MPs for the SDGs Programme’ โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเยาวชน และเป็นส่วนหนึ่งของความเป็นพลเมืองระบบประชาธิปไตย ในการขับเคลื่อนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนร่วมกับสมาชิกรัฐสภา ทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น
โดยครั้งนี้เป็นการจัดกิจกรรมนำร่องระหว่างเยาวชน คือ ยุวชนประชาธิปไตย และสมาชิกรัฐสภา นำเสนอประเด็นปัญหาสำคัญที่ลงพื้นที่เก็บข้อมูล เพื่อแลกเปลี่ยนหาแนวทางแก้ปัญหาร่วมกัน ผ่านคณะกรรมาธิการของสภาผู้แทนราษฎร โดยมุ่งเน้นสร้างความเข้าใจและความท้าทายปัญหาในระดับท้องถิ่น และสร้างการมีส่วนร่วมกับระบบนิติบัญญัติ รวมถึงส่งต่อให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป
สำหรับการนำเสนอภาพรวมประเด็นปัญหาท้องถิ่น เริ่มจาก ภาคเหนือ สะท้อนปัญหาการเข้าถึงสิทธิในการถือสัญชาติของกลุ่มชาติพันธุ์พื้นที่สูงในประเทศไทย ที่ได้รับผลกระทบในการเข้าถึงสวัสดิการด้านสาธารณูปโภค ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข การประกอบอาชีพ และด้านบริการ ซึ่งเยาวชนมองว่า การกำหนดนโยบายและการแก้ไขกฎหมายที่ว่าด้วยกลุ่มชาติพันธุ์ ให้ทันสมัยและครอบคลุมทุกกลุ่ม เป็นสิ่งสำคัญ รวมถึงรัฐบาลต้องจัดสรรสาธารณูปโภคพื้นฐาน พัฒนาศักยภาพด้วยการส่งเสริมการศึกษา และการสื่อสารภาษาไทย ตลอดจนนำเทคโนโลยีมาใช้ในการพิสูจน์เอกลักษณ์บุคคล
มานพ คีรีภูวดล ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นผู้แทนกลุ่มชาติพันธุ์ กล่าวว่า วันนี้นับว่าเป็นนิมิตรหมายอันดี ที่กฎหมายชาติพันธุ์ได้รับความสนใจ เสนอเข้ามาสู่สภาจำนวนมาก และถือเป็นเป็นโอกาสใหม่ ที่ให้เพิ่มคำว่า ‘ชนเผ่าพื้นเมือง’ ลงไปในกฎหมายด้วย นับจนถึงปัจจุบันนี้มีกฎหมายชาติพันธุ์กำลังพิจารณา 4 ฉบับ คือ ฉบับของสภาชนเผ่าพื้นเมือง ของกลุ่มพีมูฟและประชาชน ของพรรคก้าวไกล และของคณะกรรมาธิการชาติพันธุ์ฯ ยังเหลือฉบับของคณะรัฐมนตรี ที่ดูแลโดยกระทรวงวัฒนธรรมอีกฉบับ สิ่งสำคัญคือ กฎหมาย ต้องยอมรับในความแตกต่างของพหุวัฒนธรรม และการคุ้มครองสิทธิทำกินในที่ดินของกลุ่มชาติพันธุ์ให้ได้ เป็นเรื่องใหญ่ที่สภาต้องขับเคลื่อนเรื่องนี้
เยาวชนภาคตะวันออกเฉียงเหนือ นำเสนอประเด็น ความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย จากการลงพื้นที่เก็บข้อมูล พบปัญหาด้านเพศสภาพของคนไทยในปัจจุบัน ที่เกิดจากทัศนคติของบุคคลทั่วไปที่มีมุมมองต่อเพศสภาพ การถูกเลือกปฏิบัติในการทำงาน การใช้ความรุนแรง หรือถูกคุกคามทางเพศ และที่สำคัญยังไม่มีกฎหมายรองรับ จึงจำเป็นต้องมีการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของสังคม เพื่อให้กลุ่มคนเหล่านี้ ได้เข้าถึงสวัสดิการและสิทธิขั้นพื้นฐาน เช่น การเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ การรับอุปการะบุตรบุญธรรม หรือการจดทะเบียนสมรส เป็นต้น
มุกดา พงษ์สมบัติ ประธานคณะกรรมาธิการกิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการ กลุ่มชาติพันธุ์ และผู้มีความหลากหลายทางเพศ กล่าวว่า กมธ. ให้ความสำคัญและพยายามผลักดันความเท่าเทียมทางเพศมาโดยตลอด ปัญหาติดอยู่ที่กฎหมายเท่านั้น เพราะสังคมตอนนี้เปลี่ยนไปหมดแล้ว เรื่องเพศไม่ใช่ข้อจำกัดของบุคคลอีกต่อไป กมธ.จะเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันกฎหมายที่เกี่ยวข้องให้เกิดขึ้นจริงให้ได้ อย่างเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้านาม เป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะไปสร้างข้อจำกัดให้กับคนมากมาย แต่สิ่งนี้จะเกิดได้เราต้องมีผู้บริหารที่เข้าใจความเป็นไปของสังคม และเข้าใจปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างแท้จริง
แคนดี้ ปุญชรัสมิ์ ตาเลิศ เจ้าหน้าที่ประสานงานชุมชนด้านสิทธิมนุษยชนและส่งเสริมความเท่าเทียม สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สิ่งที่คนมีความหลากหลายทางเพศถูกเลือกปฏิบัติ เกิดจากความไม่รู้ ว่าคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ไม่ใช่สิ่งที่ผิดปกติ เป็นก้าวแรกของการทำความเข้าใจ และจะนำไปสู่การแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ รัฐต้องไม่มองคนเหล่านี้ว่าไม่ปกติ และต้องมองคนทุกคนเป็นคนเท่าเทียมกัน อย่าใช้เพศชาย เพศหญิง มาจำกัดสิทธิความเป็นคน เพราะผู้มีความหลากหลายทางเพศต้องการเพียงสิทธิขั้นพื้นฐานที่เท่าเทียมกันเท่านั้น
ตอนนี้ทั่วโลกมีมากกว่า 70 ประเทศที่แก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวกับความเท่าเทียมทางเพศหมดแล้ว ไทยเราหากยังไม่สามารถสร้างความเข้าใจได้ อาจเป็นประเทศท้ายๆ ของโลกที่จะแก้ไขเรื่องนี้ได้ และต้องยอมรับว่ากฎหมายที่รับรองสิทธิขั้นพื้นฐานให้กับคนทุกคน เป็นสิ่งที่จำเป็นมาก เพราะไม่เช่นนั้นความไม่เท่าเทียมนี้อาจนำไปสู่ความเกลียดชัง และความรุนแรงของสังคมในอนาคต
ในขณะที่ภาคกลาง และภาคใต้ นำเสนอ ปัญหาทางด้านการศึกษา โดยเฉพาะด้านคุณภาพการศึกษา คุณภาพของผู้เรียน บุคลากรทางการศึกษา ด้านประสิทธิภาพการบริหารจัดการศึกษา ด้านการเพิ่มและการกระจายโอกาสทางการศึกษาที่ไม่ทั่วถึง และด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนเพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียน ผู้ที่อยู่ในระบบการศึกษาหรือความต้องการของคนในประเทศได้
นอกจากนั้นเด็กนักเรียนในสถานศึกษาบนพื้นที่เกาะต่าง ๆ ในภาคใต้ ประสบปัญหาด้านการศึกษาอย่างมาก เมื่อเปรียบเทียบกับโรงเรียนที่อยู่ในสังคมเมือง ไม่ว่าจะเป็นด้านเทคโนโลยีทางการศึกษา งบประมาณสนับสนุนของโรงเรียน ทำให้ขาดเทคโนโลยีทางการศึกษา ขาดอุปกรณ์การศึกษา อีกทั้งบุคลากรทางการศึกษามีจำนวนน้อย ตัวแทนเยาวชนเสนอว่าภาครัฐหรือองค์กร
ปกครองส่วนท้องถิ่นต้องสนับสนุนเทคโนโลยีทางการศึกษา อินเทอร์เน็ตที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งเสริมสร้างความรู้ และทักษะด้านเทคโนโลยีให้กับครูผู้สอน เพิ่มจำนวนครูผู้สอนที่มีความรู้เฉพาะทางภายใต้ค่าตอบแทนและสวัสดิการที่เหมาะสม
นพคุณ รัฐผไทย ประธานคณะกรรมาธิการการศึกษา กล่าวถึงความคืบหน้า ของร่างพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. … ที่ดำเนินการตามหมวด ๑๖ การปฏิรูปประเทศ ของรัฐธรรมนูญ ซึ่งในขณะนี้อยู่ในชั้นคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว โดยหวังว่าจะยกระดับคุณภาพการจัดการศึกษา ลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาได้บ้าง แต่หน่วยงานสำคัญก็ยังเป็นกระทรวงศึกษาธิการ หากตรากฎหมายแต่ผู้บริหารไม่ปรับแนวทางก็ไม่สามารถช่วยอะไรได้ สำหรับมาตราที่สำคัญที่สุด คือ มาตรา 8 เพราะจะเป็นตัวบ่งชี้ว่าการศึกษาไทยจะเดินไปทางไหน มีการกำหนดอายุ ให้สอดคล้องกับเป้าหมายการเรียนรู้ และกำหนดเป้าหมายด้านทักษะตามช่วงวัยด้วย
โดยหลังจากนี้ทั้ง 3 หน่วยงานจะร่วมกันจัดโครงการเพื่อเพิ่มพูนองค์ความรู้ และเสริมสร้างความตระหนักรู้เพื่อยกระดับขีดความสามารถของเจ้าหน้าที่รัฐสภา และเยาวชนให้มีความพร้อมในการสนับสนุนภารกิจของสมาชิกรัฐสภา และให้มีบทบาทในการดำเนินการเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เพื่อให้บรรลุวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ในปี พ.ศ. 2573