คู่รัก LGBTIQN+ ยืนยันไม่ถอนฟ้องคดี “สมรสเท่าเทียม”

หวังทิ้งปมเป็นประวัติศาสตร์ ด้านนักสิทธิมนุษยชน ชี้ คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ สะท้อนอคติต่อเพศหลากหลาย เดินหน้า #สมรสเท่าเทียม

วันนี้ (14 ธ.ค. 2564) ที่ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง มีนัดอ่านคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเป็นทางการ ในคดีที่ เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ๊ง และ พวงเพชร เหงคำ คู่รักที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN+) ถูกปฏิเสธจดทะเบียนสมรส จึงร้องผ่านศาลเยาวชนฯ ส่งคำร้องโต้แย้งประเด็นข้อกฎหมายไปยังศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีมติเอกฉันท์ ว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ (ป.พ.พ) มาตรา 1448 ที่กำหนดเรื่องการรับรองสมรสเฉพาะชาย-หญิงนั้น ไม่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และความเสมอภาค โดยระบุว่า มิได้มีข้อความใดที่คุ้มครองสิทธิหรือเสรีภาพของบุคคลไว้เป็นการเฉพาะ แต่มีข้อสังเกตว่ารัฐสภา คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสมควรดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศต่อไป

โดยบรรยากาศในวันนี้ มีทั้งมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ  ทนายความ และภาคีเครือข่าย ที่มาร่วมฟังการอ่านคำวินิจฉัยของศาล และร่วมให้กำลังใจ พร้อมแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยธงสีรุ้งรณรงค์กฎหมาย #สมรสเท่าเทียม ซึ่งผลปรากฏว่าศาลเยาวชนฯ เลื่อนอ่านคำวินิจฉัยไปเป็นวันที่ 19 ม.ค.65 โดยชี้แจงว่าซองเอกสารคำวินิจฉัยเดินทางมาไม่ทัน

เพิ่มทรัพย์ แซ่อึ๊ง และ พวงเพชร เหงคำ คู่รัก LGBTIQN+ และเป็นผู้ยื่นคำร้อง ระบุว่า แม้จะทราบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญก่อนหน้านี้แล้ว แต่อยากเดินทางมาเพื่อยืนยันว่าคำตัดสินของศาลรัฐธรรมนูญ เป็นไปด้วยอคติและความเกลียดชังต่อกลุ่ม LGBTIQN+ ซึ่งได้ปรึกษากับทีมทนายความว่าจะไม่ถอนฟ้องแม้ว่าจะไม่มีผลในทางกฎหมาย แต่ในด้านการการสร้างการรับรู้ถือว่าคู่ของตนเองได้ทิ้งบันทึกทางประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อความหลากหลายทางเพศให้คนรุ่นต่อไป ซึ่งภายหลังการวินิจฉัยได้เห็นพลังของผู้ที่ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมายสมรสเท่าเทียม จำนวนมากที่เข้าใจแม้จะเป็นคู่รักต่างเพศก็ตาม

“เราไม่ได้ออกมาต่อสู้เพื่อตัวเอง เราถางทางเพื่อให้คนรุ่นต่อๆ ไปเดินได้ง่ายมากขึ้น บันทึกครั้งนี้เป็นเหมือนประวัติศาสตร์หน้าหนึ่ง วันหนึ่งถ้าลูกหลานเราย้อนกลับมาอ่าน ก็จะรู้ว่าเราเคยมีคำวินิจฉัยที่มองเห็นความเป็นมนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน ในขณะที่ประเทศอื่นๆ กำลังก้าวหน้าในการรับรองสมรสเท่าเทียม”

ด้าน นัยนา สุภาพึ่ง ที่ปรึกษามูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ยิ่งสะท้อนถึงมุมมองของศาลฯ ที่กำหนดให้กลุ่ม LGBTIQ+ ยังเป็นพลเมืองชั้น 2 แบ่งแยกให้คนที่มองว่าแตกต่างจากตัวเอง ต้องไปใช้กฎหมายอีกฉบับ แต่อีกมุมหนึ่งคำวินิจฉัยที่ออกมาก็ถือเป็นคุณูปการต่อสังคมไทยมาก เพราะปรากฏการณ์ที่สังคมไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลสูงสุดไม่ได้เกิดมากนัก ที่นักวิชาการ ประชาชน นักต้อสู้เพื่อประชาธิปไตย ก็ลุกขึ้นมาแสดงความไม่เห็นด้วย ผ่านวงเสวนาต่างๆ ที่เกิดขึ้นตามมา ซึ่งต้องบันทึกเป็นประวัติศาสตร์ว่าครั้งหนึ่งประชาชนไม่ยอมรับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นจากฐานคิดที่มีอคติทางเพศ ที่ปรากฏชัดเป็นลายลักษณ์อักษร

“ที่ผ่านมาประชาชนต้องอ่านคำวินิจฉัยแบบที่เรียกว่าแปลไทยเป็นไทย ว่าคำนี้หมายความว่าอะไร แต่คำวินิจฉัยของศาล รธน. ครั้งนี้ ไม่ต้องแปลเพราะมันชัดเจนอยู่ทุกตัวอักษรว่าท่านวินิจฉัยด้วยความมีอคติทางเพศอย่างชัดเจน หรือถ้าเป็นภาษาขององค์การอนามัยโลก บอกว่าการมีลายลักษณ์อักษรแบบนี้ถือว่าผู้เขียนเป็นผู้มีอาการเกลียดหรือกลัวผู้มีความหลากหลายทางเพศ (Homophobia) ซึ่งเป็นอาการที่ต้องได้รับการรักษา”

ขณะที่แนวทางเคลื่อนไหวหลังจากนี้ของเครือข่าย LGBTIQ+ ตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่เปิดช่องให้คณะรัฐมนตรี และหน่วยงานของรัฐที่เกี่ยวข้องสมควรดำเนินการตรากฎหมายเพื่อรับรองสิทธิและหน้าที่ของบุคคลผู้มีความหลากหลายทางเพศ แม้จะเป็นการเปิดโอกาสให้มีการร่างกฎหมายเฉพาะเพื่อการสมรสของคนเพศเดียวกันในประเทศไทย แต่หากพิจารณาตามลำดับการเสนอร่างกฎหมาย มีร่าง พ.ร.บ.คู่ชีวิต ที่เสนอโดยกระทรวงยุติธรรม ที่จำกัดสิทธิ สวัสดิการ หลายอย่างให้ด้อยกว่าคู่สมรสชาย หญิง จึงต้องจับตาและเคลื่อนไหวคัดค้านเพื่อเสนอร่างฯ ฉบับประชาชน

ด้านกลุ่มภาคีสีรุ้งเพื่อการสมรสเท่าเทียม ซึ่งเปิดแคมเปญให้ประชาชนเข้าชื่อเสนอ ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ ๕ – ๖ พ.ศ. ….   โดยจะต้องไม่น้อยกว่า 10,000 รายชื่อ จึงจะสามารถเข้าชื่อเสนอร่าง พ.ร.บ. ต่อรัฐสภาได้ ซึ่งขณะนี้ (14 ธ.ค. 64) มีผู้ร่วมสนับสนุนแล้วจำนวน กว่า 270,000 รายชื่อ ขณะที่ประเทศล่าสุดที่อนุมัติกฎหมายสมรสเท่าเทียมให้กับคู่รักเพศเดียวกัน คือประเทศชิลี เมื่อวันที่ 7 ธ.ค.64  ซึ่งรับรองความสัมพันธ์ของคู่สมรสในฐานะผู้ปกครอง ครอบคลุมสิทธิและประโยชน์ที่พึงได้จากการสมรสครบถ้วนทุกประการ และสิทธิในการรับบุตรบุญธรรม ส่งผลให้ขณะนี้มีกว่า 30 ประเทศที่อนุญาตให้คู่รักเพศเดียวกันสมรสกันได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน