ภาคประชาสังคม #NoCPTPP ย้ำจุดยืน กนศ.ยุติเสนอ CPTPP เข้า ครม. ชี้ ประเทศ – ประชาชนเสียหายหนัก “ดอน ปรมัตถ์วินัย” ยัน มองข้อมูลกันคนละมุม รับไปศึกษาให้รอบด้าน ตามข้อกังวลภาคประชาชน
วันนี้ (20 ธ.ค.64) ดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายเศรษฐกิจระหว่างประเทศ (กนศ.) พร้อมคณะ หารือร่วมกับกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน (FTA Watch) และองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม #NoCPTPP ในกรณีการเข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกของความตกลงที่ครอบคลุมและก้าวหน้าสำหรับหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (CPTPP) ได้ข้อสรุปว่า จะยังไม่นำ CPTPP เข้าให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ เพื่อยื่นเจตจำนงเข้าร่วมความตกลงนี้กับประเทศสมาชิกหากยังไม่มีการศึกษาข้อมูลอย่างรอบด้าน
โดยทาง FTA Watch และ เครือข่ายภาคประชาชน แสดงจุดยืนถึงข้อกังวลต่อผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในระยะยาวต่อประชาชน หากไทยเข้าร่วม CPTPP ซึ่ง ประธาน กนศ. รับทราบถึงจุดยืนของภาคประชาสังคม และยอมรับว่า เรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่เกี่ยวข้องกับหลายภาคส่วนไม่ใช่รัฐบาลอย่างเดียว
“ข้อมูลที่ กนศ.ให้มากับข้อมูลของ FTA Watch และองค์กรเครือข่ายภาคประชาสังคม #NoCPTPP นั้นแตกต่างกันมาก คนละมุมกันเลย วันนี้เราได้ทราบแล้ว เพราะอย่างนั้นอย่าเพิ่งเรียกร้องอะไร เดี๋ยวเราจะเอากลับไปคุยกัย กนศ. แล้วมาแก้ไข ไม่อยากให้การประชุมครั้งนี้เป็นเรื่องของการเรียกร้อง”
ดอน ยังได้รับปากด้วยว่า จะยังไม่นำ CPTPP เข้า ครม. จนกว่าจะได้ผลการศึกษาที่ชัดเจน และครอบคลุมถึงผลกระทบทุกฝ่ายอย่างแท้จริง รอบด้านตามข้อกังวลของภาคประชาสังคม
นิมิตร์ เทียนอุดม ตัวแทน FTA Watch ย้ำถึงจุดยืน 4 ข้อ ของภาคประชาชนซึ่งได้รวมอยู่ใน ข้อเสนอแนะจากรายงานของคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ สภาผู้แทนราษฎร และข้อเสนอของสภาองค์กรของผู้บริโภค คือ
- การเข้าร่วมความตกลง CPTPP คือการยอมรับข้อตกลงที่เกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญาหลายฉบับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอนุสัญญาระหว่างประเทศเพื่อการคุ้มครองพันธุ์พืชใหม่ หรือ UPOV 1991 ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่เอื้อผลประโยชน์ให้กับอุตสาหกรรมเกษตรและอาหาร ซึ่งมีผลกระทบด้านลบต่อเกษตรกร ทั้งราคาเมล็ดพันธุ์ที่จะแพงขึ้น สิทธิเกษตรกรที่ถูกลิดรอน และการทำลายความหลายหลากทางชีวภาพ
- การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะทำให้ประเทศไทยต้องยอมรับการนำเข้าสินค้าที่ปรับสภาพเป็นของใหม่ โดยเฉพาะส่วนที่เป็นเครื่องมือทางการแพทย์ และขยะพลาสติกและอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาสิ่งแวดล้อมและสุขภาพจากขยะอิเล็กทรอนิกส์และขยะสารพิษที่ประเทศไทยเผชิญอยู่ให้หนักหน่วงขึ้นไปอีก
- การเข้าร่วมความตกลง CPTPP จะเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชนฟ้องร้องรัฐบาล ถ้ารัฐบาลออกหรือบังคับใช้กฎหมายหรือนโยบายใด ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของนักลงทุนต่างชาติ แม้ว่าจะเป็นไปเพื่อคุ้มครองประโยชน์ของประชาชน โดยจะส่งผลให้รัฐบาลต้องระงับการออกหรือบังคับใช้กฎหมายเพื่อประโยชน์ของประชาชน และชดเชยค่าเสียหายจำนวนมหาศาลให้กับนักลงทุนต่างชาติที่เป็นเอกชน โดยใช้เงินภาษีของประชาชนจ่าย
- ข้อบทในความตกลง CPTPP ที่เกี่ยวข้องกับระบบทรัพย์สินทางปัญญา จะก่อให้เกิดผลกระทบร้ายแรงต่อระบบสุขภาพและการสาธารณสุขของประเทศไทย เนื่องจากจะทำให้ยารักษาโรคแพงขึ้นอย่างมหาศาล จากงานวิจัยการประเมินผลกระทบของ CPTPP ชี้ให้เห็นว่า ประเทศไทยจะมีค่าใช้จ่ายด้านยาเพิ่มขึ้นเกือบ 400,000 ล้านบาท เพราะประเทศต้องพึ่งพายานำเข้าและมีสิทธิบัตรเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 71 ในปัจจุบัน เป็นร้อยละ 89 และอุตสาหกรรมผลิตยาในประเทศจะมีส่วนแบ่งตลาดลดลงมากกว่า 100,000 ล้านบาท แน่นอนว่านี่จะส่งผลกระทบอย่างรุนแรงโดยตรงต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่เป็นผลงานอวดชาวโลกของไทย
FTA Watch และเครือข่ายฯ ยืนยันจะติดตามและจับตาการเคลื่อนไหวของ กนศ. ต่อกรณี CPTPP อย่างใกล้ชิดต่อไป