ชาวชุมชนคลองเตย เรียกร้อง ให้สิทธิ์คนอยู่นาน-มีทะเบียนบ้าน รับ 1.5 ล้าน ต่อหลังคาเรือน

สภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย และประธานชุมชน 26 แห่ง เรียกร้องต่อโครงการ คลองเตย smart community ให้การท่าเรือฯ พิจารณาข้อเสนอเยียวยา “พัฒนาชุมชนอย่างมีส่วนร่วม” กับประชาชน หลังเตรียมไล่รื้อ


วันนี้ (28 ธ.ค. 2564) สภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย เครือข่ายผู้นำชุมชน 26 ชุมชน ประชาชนในที่ดินการท่าเรือฯ พร้อมด้วยเครือข่ายผู้นำชุมชนพื้นที่เขตคลองเตย เดินทางยื่นข้อเรียกร้อง และข้อเสนอแนะต่อโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตย smart community ภาคประชาชน ณ อาคารสำนักงานใหญ่การท่าเรือแห่งประเทศไทย

ประไพ สานุสันต์ ประธานสภาองค์กรชุมชนเขตคลองเตย ระบุสาระสำคัญในการแถลงข้อเรียกร้องว่า การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) มีแผนพัฒนาชุมชนคลองเตย smart community เพื่อการอยู่อาศัยให้ชุมชนคลองเตย บริเวณซอยทวีมิตร พื้นที่ทั้งหมด 58 ไร่ จัดสร้างคอนโด 25 ชั้น จำนวน 4 อาคาร รวมทั้งหมด 6,144 ยูนิต ให้เป็นทางเลือกของคนในชุมชนตั้งแต่ปี 2559 และขอคืนพื้นที่อาศัยเดิม หลังทราบหลักการชาวบ้านจึงเปิดพื้นที่รับฟังความคิดเห็นต่อเนื่องรวมทั้งหมด 16 ครั้ง

ได้ข้อสรุปในเวทีสุดท้าย (20 ก.ค. 2563) ว่าชาวบ้านมีความต้องการทางเลือกคือ 1. ที่อยู่อาศัยอาคารสูง 2. ที่อยู่อาศัยในที่ดินแปลงว่างเปล่า เขตหนอกจอก 19.5 ตารางวา 3. เงินตั้งต้นครอบครัวกลับภูมิลำเนา  และ 4. สร้างวิถีชีวิตชุมชน 4.1 เช่าที่ดินโซนที่อยู่อาศัยโดยการท่าเรือฯ ให้เงินเยียวยา ทำร่วมโครงการบ้านมั่นคงร่วมกับสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) พอช. 4.2 ซื้อที่ดินชานเมืองสร้างที่อยู่อาศัย โดยให้เป็นการเยียวยาจากการท่าเรือฯ และร่วมทำโครงการบ้านมั่นคงกับ พอช. โดยประชาชนมีส่วนร่วมพัฒนา ซึ่งข้อเสนอเหล่านี้ถูกรายงานถึงผู้บริหารการท่าเรือฯ เรียบร้อยแล้ว

แต่กลับพบว่าช่วงกลางปีที่ผ่านมา การท่าเรือฯ ร่วมกับ ม.มหิดล ได้ส่งแบบสอบถามความคิดเห็นไปยังชาวบ้านในชุมชนแออัดคลองเตย โดยระบุทางเลือกเพียง 3 ข้อ คือ 1.สิทธิอยู่อาศัยที่คอนโดฯ โดยไม่ต้องซื้อ 2.ย้ายออกไปอยู่บนพื้นที่ของ กทท. บริเวณหนองจอก มีพื้นที่รองรับมากถึง 2,400 แปลง ซึ่ง กกท.จะยกที่ดินให้เป็นกรรมสิทธิ์ 19 ตารางวาเพื่ออยู่อาศัย และ 3.กลับภูมิลำเนาโดยมีเงินขวัญถุงให้คนที่สมัครใจเพื่อคืนพื้นที่ 197 ไร่ ทำให้ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยรู้สึกกังวลใจว่าทางเลือกที่ถูกเสนอ ไม่ตรงกับความต้องการที่ชาวบ้านเรียกร้องตั้งแต่แรก

โดยมีหลักการดังนี้ 1. รัฐรับข้อเสนอต่อโครงการพัฒนาพื้นที่เพื่อการอยู่อาศัยในชุมชนคลองเตยที่ภาคประชาชน (นำเสนอ 20 กรกฎาคม 2563) และให้มีการทำบันทึกความร่วมมือกับส่วนที่เกี่ยวข้อง 2. รัฐตั้งคณะทำงานส่วนเกี่ยวข้อง เพื่อวางแผน ปฏิบัติการ เปิดเวทีประชาคมรายชุมชน ทำความเข้าใจในโครงการฯ สิทธิหน้าที่ แผนการดูแลโดยรวม สรุปเป็นเอกสารรายชุมชนและภาพรวม 3. รัฐตั้งคณะทำงานส่วนเกี่ยวข้อง ร่างหรือศึกษาแบบสำรวจชุมชน และวางแผนสำรวจข้อมูลรายชุมชน ถอดข้อมูล เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ โดยสรุปเอกสารเป็นรายชุมชนและภาพรวม 4. รัฐตั้งคณะทำงานส่วนเกี่ยวข้อง ร่วมนำข้อมูลวางแผนการพัฒนาโครงการ การก่อสร้าง พัฒนาฯลฯ ให้สามารถตอบสนองชาวชุมชนในที่อยู่อาศัยตามข้อเสนอ MOU 5. รัฐตั้งคณะทำงานส่วนเกี่ยวข้องพิจารณาเรื่องสิทธิ์ เรื่องการขยับย้ายที่อยู่อาศัย  และการดูแลกลุ่มเปราะบางที่ไม่สามารถดูแตนเองได้ จากการสำรวจ

ที่ผ่านมาพยายามที่จะติดตามความคืบหน้า และอยากทราบความชัดเจนจากทางการท่าเรือฯ แต่ไม่มีข้อมูล ไม่มีการเจรจา ชาวบ้านก็ไม่มั่นใจ พอมาเห็นแบบสอบถามที่ไม่ตรงกับข้อเสนอก็ยิ่งทำให้กังวล จึงมารวมตัวกันครั้งนี้ เพื่อที่จะย้ำว่าเราไม่เอาทางเลือก 3 ทางของการท่าเรือฯ… คนคลองเตยเองถูกสังคมประณาม ตีตรา ว่าอยู่อย่างผิดกฎหมาย ไม่ยอมไป ไม่เห็นประโยชน์ส่วนรวม แต่เรามีความสัมพันธ์กัน ช่วยเหลือเกื้อกูล หากมีการสนับสนุนเราสามารถช่วยกันพัฒนาชุมชนได้ บริหารจัดการตัวเองได้

คนจนเมือง คลองเตย

มาเรียม ป้อมดี ประธานชุมชนพัฒนาใหม่ ระบุว่า ที่ผ่านมาการท่าเรือฯ มีความพยายามผลักดันพี่น้องชาวชุมชนแออัดให้ออกจากพื้นที่ต่อเนื่อง โดยมีเงื่อนไขให้เงินทดแทน 500,000 บาทต่อหลังคาเรือน ซึ่งไม่เพียงพอ ต่อการอพยพย้ายถิ่นฐาน และเริ่มชีวิตใหม่ จึงขอเสนอเพิ่มเติมเป็น 1.5 ล้านบาท ต่อหลังคาเรือน สำหรับชุมชนพัฒนาใหม่ที่มีทะเบียนบ้านราว 450 หลังคาเรือน หากข้อเสนอทางการเงินเป็นไปตามที่ชาวบ้านเรียกร้องก็พร้อมที่จะออกจากพื้นที่

“เขาจะให้เราไปอยู่ที่อื่น เราก็พร้อมไปไม่ได้เกเร แต่เราก็อยากไปดี ไปแบบมีศักดิ์ศรี ซื้อที่อยู่ใหม่ มีเงินติดกระเป๋า ซึ่ง 5 แสนมันไม่พอ เราขอ 1.5 ล้านบาทต่อหลังคาเรือน เพื่อที่จะได้ไปอยู่ที่อื่นได้ ซึ่งชุมชนพัฒนาใหม่ของเรามีที่มีทะเบียนบ้านประมาน 450 หลังคาเรือน… ต้องอย่าลืมว่าชาวบ้านอยู่ที่นี่มาตั้งแต่บุกเบิก อยู่กันมาตั้งแต่เกิด และไม่ได้มีรายได้มาก หลายคนมีอาชีพรับจ้างทั่วไป”

สิทธิชาติ อังคสิทธิศิริ ประธานชุมชนคลองเตย ล็อค 1-2-3 ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ชาวบ้านกังวลเรื่องการย้ายออกจากพื้นที่ เพราะส่วนใหญ่ทำงานอยู่ใกล้กับชุมชนเดิม หากย้ายออกไปแล้วไม่ได้มีงานใหม่ ต้องกลับมาทำงานที่เดิมจะกลายเป็นต้นทุนการเดินทางที่เพิ่มขึ้น และส่งผลต่อรายได้ในภาพรวม ในอดีตเคยมีการขอคืนพื้นที่เช่นนี้แล้ว และมีบางชุมชนรับข้อเสนอย้ายออกจากพื้นที่ไป แต่ไม่สามารถตั้งตัวได้ด้วยภาระค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น สุดท้ายต้องขายสิทธิ์ และกลับมาอยู่ในที่ดินนอกกรรมสิทธิ์เช่นเดิม

“ประสบการณ์คนคลองเตยก็เคยมี ทุกวันนี้บ้านขนาด 4X4 เมตร แต่อยู่กัน 7-8 คน หากย้ายออกแล้วให้ไปอยู่คอนโดที่มีขนาดเล็กกว่า จะอยู่กันไม่พอ ทั้งยังมีค่าใช้จ่าย ค่าส่วนกลาง รายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ไม่ตอบโจทย์ มีบางชุมชนที่เคยไล่ไปอยู่ วัชรพล แต่พอไปแล้วสาธารณูปโภคไม่รองรับอยู่ไม่ได้ เงิน 5 แสนไม่พอไม่มีเงินสร้างบ้าน สุดท้ายต้องกลับมาก็ไม่มีสิทธิ์ของตัวเองอีก”

คลองเตย การท่าเรือแห่งประเทศไทย

ชำนาญ ไชยฤทธิ์ รองผู้อำนวยการ การท่าเรือแห่งประเทศไทย รับฟังข้อเรียกร้องทั้งหมด พร้อมกล่าวว่า ทางการท่าเรือฯ มีความพร้อมที่จะช่วยเหลือพี่น้องอย่างเต็มที่ และยืนยันว่าต้องมีการทำประชาพิจารณ์ สำรวจประชากร ความต้องการเชิงละเอียด ที่ผ่านมาอาจขาดการติดต่อประสานข้อมูลเนื่องจากอยู่ในช่วงระบาดของโควิด-19 หลังจากนี้จะต้องมีการหารือมากขึ้น บนพื้นที่มูลค่า กว่า 12,000 ล้านบาทตรงนี้

“ข้อเสนออาจจะไม่น่าพอใจทั้งหมด คนส่วนน้อยอาจผิดหวังบ้างแต่จะทำอย่างเต็มที่ เห็นใจซึ่งกันและกัน อยากให้ชาวบ้านอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข เมื่อมีผู้อำนวยการการท่าเรือฯ คนใหม่ ก็จะนำเสนอเพื่อให้ได้มติที่สอดรับกับความต้องทาของประชาชนและแนวทางการพัฒนาของการท่าเรือฯ ย้ำว่าทำเต็มที่ให้ดีที่สุด”

สำหรับชุมชนแออัดคลองเตย นับเป็นชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ราว 197 ไร่ บนที่ดินของการท่าเรือแห่งประเทศไทย หน่วยงานรัฐวิสาหกิจในสังกัดกระทรวงคมนาคม ชาวบ้านให้ข้อมูลว่า ช่วงก่อสร้างการท่าเรือคลองเตยมีการใช้แรงงานจำนวนมากจึงทำให้เกิดการจับจองที่ดินรกร้างริมคลองของการท่าเรือเพื่อปลูกสร้างบ้านพัก กระทั่งลงหลักปักฐานเป็นที่พักถาวรและทำงานรับจ้างอยู่ในท่าเรือ ซึ่งในปัจจุบันที่ดินนอกกรรมสิทธิ์ผืนใหญ่นี้ตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ปรับเปลี่ยนวิถีการทำกิน หลายคนมีอาชีพรับจ้างทั่วไป แต่เนื่องจากมีรายได้น้อยจึงทำให้ไม่สามารถย้ายออกจากพื้นที่เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตตนเองได้

Author

Alternative Text
AUTHOR

พิชญาพร โพธิ์สง่า

นักข่าวเล่าเรื่อง ที่เชื่อว่าการสื่อสารอย่างสร้างสรรค์จะช่วยจรรโลงสังคมได้