สปสช. ยันเร่งเบิกจ่าย ช่วยคลินิกหมุนรายได้เพียงพอ เป็นที่พึ่งคนในชุมชน เล็งยก ‘ชุมชนคลองเตย’ วิจัยพัฒนาบริการสุขภาพเขตเมือง
ศรินทร สนธิศิริกฤตย์ เจ้าของคลินิกเวชกรรมอารีรักษ์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ ชุมชนคลองเตย ล็อก 4-5-6 เขตคลองเตย กทม. เปิดเผยระหว่าง นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมคลินิกเอกชนที่เข้าร่วมเป็น ‘คลินิกชุมชนอบอุ่น ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ’ โดยยอมรับว่า เดิมทีตั้งใจจะปิดคลินิกในเดือนนี้ เนื่องจากประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง มีต้นทุนค่ายา ค่าตอบแทนบุคลากรที่สูงมาก เพื่อดึงดูดให้เข้ามาทำงานในพื้นที่ และเพื่อคุณภาพการให้บริการที่ดี
รวมทั้งการเบิกจ่ายค่าบริการซึ่งเบิกได้แค่ประมาณ 70% แต่ภายหลังหารือร่วมกับ เลขาธิการ สปสช. ก็มีความหวัง ว่า คลินิกจะยังอยู่และทำหน้าที่ช่วยประชาชนได้ต่อไปได้ เชื่อว่าหากสามารถเบิกค่าใช้จ่ายได้ 100% จะทำให้คลินิกมีตัวเลขการขาดทุนที่น้อยมาก และสามารถเปิดให้บริการได้ต่อไป
นพ.จเด็จ ระบุว่า คลินิกชุมชนอบอุ่นแห่งนี้ ทำหน้าที่เป็นหน่วยบริการปฐมภูมิในพื้นที่ชุมชนแออัดที่ใหญ่ที่สุดของ กทม. ดูแลประชากรสิทธิบัตรทอง 9,991 คน จากจำนวนประชากรสิทธิบัตรทองในเขตคลองเตยทั้งหมด 49,665 คน ซึ่งชุมชนคลองเตยเป็นชุมชนแออัดที่มีกลุ่มเปราะบางค่อนข้างมาก การมาเยี่ยมชมครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อดูว่าคลินิกชุมชนอบอุ่น จะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชนในพื้นที่ได้อย่างไร และอีกด้านคือทำอย่างไร ให้คลินิกมีรายได้ที่เพียงพอที่จะอยู่เป็นที่พึ่งของประชาชนได้
จากการหารือมีข้อสรุปร่วมกันคือในชุมชนนี้ยังต้องมีคลินิกเพิ่มอีก ซึ่ง สปสช. จะร่วมกับ กทม. และมูลนิธิดวงประทีป เชิญชวนคลินิกให้เข้ามาเปิดบริการเพิ่มเติม
อีกส่วนคือได้เห็นปัญหาว่าคลินิกนี้ทำงานเยอะมาก แต่ระบบการจ่ายเงินของ สปสช. ยังจ่ายได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย ยังมีหลายรายการที่คลินิกทำแล้วไม่ได้ส่งเบิก บางกิจกรรมทำแล้วเข้าใจว่าเบิกไม่ได้ โดยเฉพาะงานลงพื้นที่ทำเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคในชุมชน ที่ผ่านมาคลินิกทำโดยไม่ได้รับค่าตอบแทนใด ๆ ทาง สปสช. ก็จะช่วยรายละเอียดในการเบิกจ่ายให้
“สปสช. จะผลักดันให้พื้นที่นี้ เป็นพื้นที่สำหรับการวิจัยและพัฒนารูปแบบบริการใหม่ ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนในพื้นที่เฉพาะ มีการทำงานเชิงรุกค้นหาผู้ป่วยที่บ้านหรือคนที่กำลังจะป่วย แล้วทำเรื่องการเสริมสร้างสุขภาพป้องกันโรค ถ้าทำแล้วคลินิกมีรายได้ที่พออยู่ได้ก็จะเป็นโมเดลแก่ชุมชนอื่น ๆ ซึ่งในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า น่าจะเห็นกิจกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้น”
นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี
ขณะที่ ประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ผู้ก่อตั้งมูลนิธิดวงประทีป บอกว่า หลังจากช่วงโควิด-19 แล้ว คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนนี้ลดลงไปมาก บางคนเป็นลองโควิด ป่วยติดบ้านติดเตียง มีปัญหาสุขภาพแทรกซ้อน และคนกลุ่มนี้มักเป็นกลุ่มเปราะบาง ดังนั้นต้องขอขอบคุณเลขาธิการ สปสช. ที่จะส่งเสริมให้พื้นที่นี้ เป็นพื้นที่สำหรับการวิจัยและพัฒนา และหวังว่าจะเป็นต้นแบบแก่ชุมชนแออัดในเขต อื่น ๆ เพื่อดูแลสุขภาพประชาชนกลุ่มเปราะบางให้มีความเป็นอยู่ที่ดี