‘หมอวิทยา’ คาดปีใหม่เฉี่ยวชนพุ่ง เหตุยังจัดปาร์ตี้ได้ งานวิจัย เผยปัจจัยหลัก คือขับเร็ว รองลงมาเมาแล้วขับ ชวนท้องถิ่นเฝ้าระวัง สร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน
เข้าสู่ช่วงเทศกาลปีใหม่ หน่วยงานเก็บรวบรวมสถิติต่างๆ เตรียมนับจำนวนอุบัติที่เหตุที่จะเกิดขึ้น ในช่วง 7 วันอันตราย เนื่องจากมีการเดินทางข้ามจังหวัดจำนวนมาก ประกอบกับการจัดงานสังสรรค์ ส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ ที่อาจทำให้การขับขี่บนท้องถนนของประชาชนเกิดอันตราย The Active รวบรวมข้อมูลภาพรวมอุบัติเหตุตลอดทั้งปี ตลอดจนแนวทางแก้ไขปัญหาทั้งระดับนโยบาย และบุคคล
“ประเทศไทยมีคนเสียชีวิตจากการขี่มอเตอร์ไซค์ มากที่สุดในโลก”
นพ.วิทยา ชาติบัญชาชัย ผอ.ศูนย์ความร่วมมือแห่งองค์การอนามัยโลก (WHO) ด้านการป้องกันอุบัติเหตุ เปิดข้อมูลที่เก็บโดย WHO เพื่อสะท้อนให้เห็นความอันตรายบนท้องถนนของประเทศไทย เพราะหากนับจำนวนอุบัติเหตุทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ รถมอเตอร์ไซค์ ประเทศไทยอาจจะไม่ใช่ ‘แชมป์โลก’ เพราะอยู่ลำดับที่ 19 ของโลก แต่เมื่อนับเฉพาะจำนวนผู้เสียชีวิตจากรถมอเตอร์ไซค์แล้วพบว่า เราเป็นอันดับ 1 ของ ‘อาเซียน’ และล่าสุดเราก็เป็นแชมป์โลกไปเป็นที่เรียบร้อย
‘โควิดขาลงเราดีใจ แต่อุบัติเหตุเรากำลังเพิ่มขึ้น’ นพ.วิทยา กล่าวว่า ในปีที่ผ่านมานั้นอุบัติเหตุของประเทศไทยลดลงก็จริง แต่ต้องยอมรับว่าเราอยู่ในช่วงของการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีการกำหนดเวลา ‘เคอร์ฟิว’ และปิดสถานบันเทิง ร้านเหล้า คาราโอเกะ จึงทำให้เหตุปัจจัยต่างๆ ไม่เอื้อให้เกิดอุบัติเหตุ ตัวเลขในปีที่ผ่านมาจึงไม่ใช่ตัวเลขที่แท้จริง
“เราบังคับใช้กฎหมายได้ไม่ดีเท่าไหร่ อัตราการใส่หมวกกันน็อคน้อยมาก ทั้งที่เรื่องนี้เป็นกฎหมายที่ทุกคนต้องปฏิบัติตาม ปรากฎว่าคนขี่มอเตอร์ไซค์ ใส่หมวกกันน็อคเพียงครึ่งเดียวเท่านั้น”
ข้อมูลจาก มูลนิธิไทยโรดส์ (ThaiRoads Foundation) ที่เก็บรวบรวมพฤติกรรมการใช้รถใช้ถนนของคนไทย พบว่าคนที่ขี่มอเตอร์ไซค์ทั้งหมด มีเพียง 50% เท่านั้นที่ ‘สวมหมวกกันน็อค’ สิ่งนี้สะท้อนถึงพฤติกรรมที่หละหลวมของคนไทย และในขณะเดียวกันคือการบังคับใช้กฎหมายของภาครัฐด้วย และเมื่อไปประกอบกับข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ก็พบว่า คนที่ขี่มอเตอร์ไซค์ แล้วเกิดอุบัติเหตุ และเสียชีวิตกว่า 90% ไม่ใส่หมวก และมีอีก 10% เมาแล้วขับ เพราะฉะนั้นปัจจัยเหล่านี้ หากเราไม่ปฏิบัติตามโอกาสเสียชีวิตจะมีมากกว่าปกติ
นพ.วิทยา กล่าวว่า ตอนนี้ในกลุ่มของผู้ที่ติดตามการป้องกันอุบัติเหตุ มองว่าช่วงของเทศกาลปีใหม่ที่จะถึงนี้ จะมีตัวเลขอุบัติเหตุพุ่งสูงขึ้นมากกว่าทุกปี เนื่องจากความอัดอั้นของประชาชน ทั้งเรื่องการพบปะสังสรรค์ การเดินทางท่องเที่ยว ที่ไม่ได้ทำมาตลอดปีที่ผ่านมา หากในช่วงปีใหม่นี้ เชื้อโควิด-19 ไม่ระบาดมาก และประชาชนย่อหย่อนต่อมาตรการ จะยิ่งทำให้อัตราการเกิดอุบัติเหตุเพิ่มสูงขึ้น … เราค่อนข้างวิกฤตว่าจะเผชิญกับเรื่องใดที่ร้ายแรงมากกว่า
สาเหตุอันดับ 1 คือ ‘ความเร็ว’ มากกว่า ‘เมาแล้วขับ’
รศ.กัณวีร์ กนิษฐ์พงศ์ ผู้จัดการศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ความเข้าใจผิดของสังคมคือคิดว่าอุบัติเหตุมักจะเกิดจากการ ‘ดื่มแอลกอฮอล์’ แล้วขับขี่เป็นหลัก แต่จากการรวบรวมข้อมูลอุบัติเหตุในประเทศไทยพบว่า สาเหตุอันดับ 1 มาจากการ ‘ใช้ความเร็วเกินกำหนด’ เมื่อสังคม และผู้บังคับใช้กฎหมายเข้าใจไปในทางนั้น จึงทำให้ประเทศไทยไม่ให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหาการใช้ความเร็วบนท้องถนนเท่าที่ควร อีกทั้งมาตรการที่ออกมาป้องกันเรื่องนี้ก็ไม่บังคับใช้จริงจังเท่าไหร่นัก
ในทางกลับกัน เมื่อไม่มีการสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ เมื่อออกมาตรการเพื่อลด หรือจำกัดความเร็ว มักถูกต่อต้านจากผู้ใช้รถใช้ถนน รศ.กัณวีร์ กล่าวว่า คนจะรู้สึกว่าแค่ขับรถดี ขับรถคล่อง ก็ถือว่าขับรถเร็วได้ แต่คนจะรู้สึกมากกว่า ถ้าเมาแล้วขับ จึงทำให้การขับรถเร็วยังทำได้อยู่ ตราบใดที่ผู้ขับขี่ไม่เมา หรือมีสติครบถ้วน ซึ่งในความเป็นจริงไม่ใช่ เพราะเมื่อเกิดอุบัติเหตุ การขับเร็วสร้างการสูญเสียมหาศาล
นอกจากนั้นยังมีปัจจัยภายนอกอื่นที่ส่งผลต่อพฤติกรรมการขับเร็วของประชาชนด้วย เช่น บริษัทผู้ผลิตรถ สิ่งที่ใช้ส่งเสริมการขาย คือ สมรรถนะของรถ แรงม้า เน้นความแรง เมื่อนิสัยของคนไทยชอบความเร็ว จึงไปกันใหญ่ การโฆษณาลักษณะนี้ จะส่งเสริมพฤติกรรมการใช้ความเร็วที่เพิ่มมากขึ้น อีกทั้งการออกแบบถนนในประเทศไทย มักออกแบบให้รถสามารถวิ่งได้เร็วขึ้น เน้น Mobility (ความเคลื่อนไหว) มากกว่า Safty (ความปลอดภัย) ด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ จึงไม่ใช่เรื่องแปลก ที่ทำให้จำนวนผู้เสียชีวิตจากความเร็วสูงขึ้นเรื่อยๆ
“อุบัติเหตุอันดับ 1 เกิดจากความเร็ว แต่คนมักคิดว่า เมาแล้วขับ จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ ต้องทำทั้งระบบ ปรับทัศนคติ ให้เข้าใจว่า แม้ไม่เมา ก็ขับรถเร็วไม่ได้ และต้องบังคับใช้กฎหมายจริงจัง เพราะตอนนี้คนได้ใบสั่งมา ก็โยนทิ้ง”
เรื่อง ‘ความเร็ว’ เป็นปัญหาเชิงระบบ ที่ต้องแก้ไขในหลายมิติ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน ยานพาหนะ และที่สำคัญ คือ ทัศนคติของผู้ขับขี่ ที่ไม่ได้มองว่าความเร็วเป็นปัญหา และอีกมิติที่สำคัญ คือ การบังคับใช้กฎหมาย ที่เป็นปัญหาค่อนข้างมาก เช่น การใช้ระบบตรวจจับความเร็ว เมื่อตำรวจส่งใบสั่งไปที่บ้าน คนรับก็ไม่สนใจ เนื่องจากระบบยังไม่เชื่อมโยงกับการต่อภาษี ถึงแม้จะดำเนินคดีมากเท่าไหร่ ก็ไม่เกิดผลใดๆขึ้น และเมื่อต้องมาจ่ายค่าปรับ ก็ไม่สอดคล้องกับความผิดที่ทำ หรือการประเมินความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น ไม่ว่าจะขับเร็วแค่ไหน ก็เสียค่าปรับเท่ากัน จะแก้ปัญหาเรื่องนี้ จึงต้องแก้ทั้งระบบ
หวังท้องถิ่นเฝ้าระวัง สร้างการมีส่วนร่วมในชุมชน
“เรื่องอุบัติเหตุ คุยวันเดียวไม่ได้ พอถึงปีใหม่ จะมาบอกว่าห้ามดื่มแล้วขับ ห้ามขับเร็ว ไม่ได้ผลหรอกครับ เราต้องคุยเรื่องนี้กันต่อเนื่อง เน้นการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน มาทำกิจกรรมร่วมกัน เพราะไม่มีใครอยากให้เกิดการสูญเสีย”
ภัทรพล บัญชาจารุรัตน์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลกุดจิก อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา หนึ่งในพื้นที่เครือข่ายตำบลขับขี่ปลอดภัย ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. กล่าวว่า การแก้ปัญหาเรื่องอุบัติเหตุไม่สามารถทำระยะสั้นได้ ทุกอย่างเริ่มที่คนในชุมชน ต้องปรับทัศนคติของคน โดยเทศบาลตำบลกุดจิก นำเรื่องนี้บรรจุเข้าไปในหลักสูตรของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก เพื่อให้เด็กเริ่มเรียนรู้ตั้งแต่วัยเรียน
ภัทรพล กล่าวต่อว่า ในพื้นที่รับผิดชอบของเทศบาลมีการสร้างกลุ่มจิตอาสา เพื่อให้มาร่วมทำกิจกรรมเฝ้าระวังในชุมชน ลงพื้นที่สร้างความเข้าใจ ชวนคนในชุมชนมาทำถนนให้ปลอดภัย จัดการสิ่งกีดขวาง กิ่งไม้ ต้นไม้ ติดไฟส่องสว่าง และทำความสะอาด เป็นการทำ ‘เท่าที่เราจะทำได้’ มาซ่อมถนนร่วมกัน เพราะเรื่องการดูแลยานพาหนะ การบังคับใช้กฎหมายจะมีหน่วยงานอื่นรับผิดชอบอยู่แล้ว หน้าที่ท้องถิ่นช่วยสนับสนุนและเฝ้าระวังกันเอง โดยที่ไม่ต้องรอใคร
‘ท้องถิ่นมีข้อจำกัดหลายเรื่อง’ ภัทรพล ยอมรับอย่างตรงไปตรงมา เพราะมีปัญหาทั้งด้านงบประมาณ กำลังคน และองค์ความรู้ บางครั้งหน่วยงานในระดับบนจะสั่งให้ท้องถิ่นทำตามนโยบาย แต่ก็มีข้อจำกัด สิ่งสำคัญคือต้องเข้าใจว่าท้องถิ่นสามารทำได้แค่ไหน ตนมองว่าการที่ สสส. เริ่มต้นทำตำบลขับขี่ปลอดภัย เป็นสิ่งที่ดี เพื่อให้คนในชุมชนมาร่วมกันสร้างความปลอดภัยให้กับบ้านของตนเอง เพราะเชื่อว่าไม่มีใครอยากให้เกิดการสูญเสีย
สอดคล้องกับ นพ.วิทยา ที่มองว่า หากหน่วยงานระดับบน ไม่สามารถขับเคลื่อนได้ ทางออกคือ ‘ท้องถิ่น’ ที่จะช่วยประคับประคองสถานการณ์ ลดอุบัติเหตุได้ เพราะท้องถิ่นใกล้ชิดประชาชนมากที่สุด สามารถดูแลประชาชน ดูแลสถานประกอบการ ดูแลถนนได้อย่างทั่วถึง และเข้าใจ แต่ต้องมีระบบการกำกับติดตาม หากระดับบนมีนโยบาย หรือข้อสั่งการลงมา รัฐบาลก็ต้องมีการติดตามโดยกระทรวงมหาดไทยอย่างมีประสิทธิภาพด้วย
‘ปีใหม่’ ผู้นำต้องเอาจริง ทำงานเชิงรุก และสนับสนุนท้องถิ่น
นพ.วิทยา กล่าวว่า สาเหตุที่เราไม่สามารถลดอุบัติเหตุได้ เพราะรัฐบาล ผู้บริหาร ไม่ได้ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนมาเป็นอันดับแรกๆ หากผู้บริหารในบ้านเมืองให้ความสำคัญเรื่องนี้ ปัญหาต่างๆ จะสามารถแก้ไขได้ทันที ทั้งเรื่องเมาแล้วขับ และใช้ความเร็ว จะไม่ใครกล้ามีข้อโต้แย้งใดๆในเรื่องนี้ เพราะฝ่ายปฏิบัติก็ต้องทำตาม และทุกอย่างจะสามารถขับเคลื่อนได้
แต่อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าในปัจจุบันนี้สังคมไทยตื่นตัวเรื่องอุบัติเหตุเพิ่มขึ้น จึงเป็นพลังของสังคมที่จะสะท้อนถึงผู้บริหาร ว่านอกเหนือจากการสร้างเศรษฐกิจ ให้สนใจเรื่องความปลอดภัยด้วย ถ้าเรายังไม่สามารถจัดการการอุบัติเหตุได้ จะทำให้เราสูญเสียในเรื่องอื่นอย่างประเมินค่าไม่ได้ เพราะการสูญเสียในแต่ละครั้งกระทบต่อการพัฒนาเจริญเติบโตในเรื่องอื่น โดยเฉพาะเศรษฐกิจ
ในขณะที่ ภัทรพล กล่าวว่า สิ่งสำคัญ คือ ต้องสนับสนุนให้ท้องถิ่นสามารถทำงานประสานได้กับทุกหน่วยงานได้ ถึงแม้ให้งบประมาณมา แต่ขาดอำนาจก็ไม่สามารถดำเนินการในเรื่องใดได้ นโยบายต้องชัดเจนให้ท้องถิ่นสามารถเข้าไปดำเนินการได้ เพราะตอนนี้ยังติดปัญหาว่าถนนนั้นของใคร แยกกันทำงานทำให้ไม่เกิดการบูรณาการ ย่อมไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด
รศ.กัณวีร์ กล่าวว่า ในช่วงเทศกาลปีใหม่นี้ ควรเฝ้าระวัง 3 ปัจจัยเสี่ยง คือ เมา เร็ว และไม่ใช้อุปกรณ์นิรภัย เพราะจากการคาดการณ์จำนวนอุบัติเหตุจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างแน่นอน ในระดับจังหวัด ระดับพื้นที่ต้องเตรียมตัวกันอย่างเข้มแข็ง ตั้งศูนย์บัญชาการ เฝ้าระวังตั้งแต่ต้นทาง คือ ต้องลงพื้นที่เชิงรุก ตรวจสอบว่าพื้นที่ใดมีโอกาสเฉลิมฉลอง ต้องเข้าไปสกัดตั้งแต่ต้นทาง โดยอาศัยข้อมูลประกอบการทำงาน เช่น การตั้งด่านในชุมชน ก็ต้องรู้ช่วงเวลาที่มีคนใช้รถใช้ถนนจำนวนมาก เพื่อให้การบังคับใช้กฎหมายสำเร็จผล