สรุป 10 วันอันตรายปีใหม่ ‘เจ็บ-ตาย’ อุบัติเหตุ ยังคุมยาก  

พบอุบัติเหตุทางถนนสะสม 2,467 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 2,376 คน เสียชีวิต 436 คน ‘สุราษฎร์ธานี’ เกิดเหตุ-บาดเจ็บ มากสุด ขณะที่ กรุงเทพฯ ตายมากสุด 26 คน ศปถ. สั่งจังหวัด ถอดบทเรียน ป้องกัน ลดอุบัติเหตุทุกมิติ เข้มมาตรการ ลดปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมผู้ขับขี่ ย้ำต้องทำทั้งปี ไม่ใช่แค่เทศกาลหยุดยาว

วันนี้ (6 ม.ค. 68) ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 สรุปผลการดำเนินงานความปลอดภัยทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ช่วงควบคุมเข้มข้น 10 วัน 27 ม.ค. 68 – 5 ม.ค. 68

โดยข้อมูลอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 ประจำวันที่ 5 มกราคม 2568 ซึ่งเป็นวันที่ 10 ของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” พบสถิติอุบัติเหตุทางถนน 139 ครั้ง มีผู้บาดเจ็บ 128 คน ผู้เสียชีวิต 29 คน

สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว ร้อยละ 34.53, ตัดหน้ากระชั้นชิด ร้อยละ 24.46 และทัศนวิสัยไม่ดี ร้อยละ 20.86

ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ ร้อยละ 82.67 ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง ร้อยละ 85.61 ถนนกรมทางหลวง ร้อยละ 50.36 ถนนใน อบต./หมู่บ้าน ร้อยละ 20.86 ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 19.01-20.00 น. ร้อยละ 10.07 เวลา 00.01-01.00 น. ร้อยละ 9.35 และ เวลา 18.01-19.00 น. ร้อยละ 8.63 ผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตสูงสุดอยู่ในช่วงอายุ 50-59 ปี ร้อยละ 18.47 จัดตั้งจุดตรวจหลัก 1,762 จุด เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน 49,750 คน

โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ปราจีนบุรี (8 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ปัตตานี, พังงา และพัทลุง (จังหวัดละ 6 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ปราจีนบุรี ( 3 คน)

สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 10 วันของการรณรงค์ (27 ธ.ค. 67 – 5 ม.ค. 68) เกิดอุบัติเหตุรวม 2,467 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 2,376 คน มีผู้เสียชีวิต รวม 436 คน จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (89 ครั้ง) จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี (100 คน) จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร (26 คน) และจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) 3 จังหวัด ได้แก่ ตราด, ยะลา และ สมุทรสงคราม

ทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ระบุว่า ปีนี้พบตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุและจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บลดลง เมื่อเทียบกับเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา แต่ผู้เสียชีวิตยังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน (ศปถ.) จึงสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งระดับส่วนกลางและพื้นที่ดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อให้สามารถลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ และลดอัตราผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตได้จริง พร้อมเน้นย้ำให้จังหวัดบูรณาการทุกภาคส่วนทำงานอย่างเต็มกำลังและต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ในช่วงเทศกาลปีใหม่ สงกรานต์ และวันหยุดเท่านั้น ซึ่งต้องเน้นไปที่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ และชาวต่างชาติทั้งที่เข้ามาท่องเที่ยวและเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมของผู้ขับขี่ อาทิ การขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด การดื่มแล้วขับ การไม่คาดเข็มขัดนิรภัย การไม่สวมหมวกนิรภัย การตัดหน้ากระชั้นชิด และการขับรถย้อนศร

เชษฐา โมสิกรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 บอกว่า ศปถ. ขอให้จังหวัดขับเคลื่อนการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนโดยใช้กลไกของศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนในทุกระดับ ควบคู่ไปกับการรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ ความเข้าใจ และความตระหนักในการใช้รถใช้ถนนอย่างปลอดภัย และให้ความรู้หลักการใช้พาหนะอย่างปลอดภัย อาทิ การตรวจสอบความพร้อมของยานพาหนะ การขับขี่ยานพาหนะอย่างถูกต้อง และการจัดทำประกันภัย เพื่อปรับเปลี่ยนทัศนคติของผู้ขับขี่ให้มีจิตสำนึกเรื่องความปลอดภัยทางถนน ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างความปลอดภัยทางถนนให้เกิดขึ้นในสังคมไทยอย่างยั่งยืน และการลดจำนวนผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนให้เหลือเพียง 12 คน ต่อแสนประชากรได้จริง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจังหวัดต้องถอดบทเรียนการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 โดยให้วิเคราะห์ข้อมูลในทุกมิติ เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการการดำเนินงานแก้ไขปัจจัยเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุทางถนน ทั้งด้านพฤติกรรมของผู้ขับขี่ ด้านความปลอดภัยของยานพาหนะ ด้านถนน และด้านสภาพแวดล้อม ให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในพื้นที่ และนำแนวทางการปฏิบัติงานของอำเภอและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ไม่มีการเกิดอุบัติเหตุ การบาดเจ็บ และการเสียชีวิต มาเป็นต้นแบบในการปฏิบัติงาน รวมถึงให้บูรณาการการทำงานกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ภาคประชาชน จิตอาสา และอาสาสมัคร ขับเคลื่อนการดำเนินการเชิงรุกเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนต่อเนื่องตลอดทั้งปี

ขณะที่ สหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์ รองอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการคณะกรรมการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน กล่าวเพิ่มเติมว่า ในปีนี้ ฝ่ายเลขานุการฯ ได้สรุปข้อสังเกตจากการประชุมคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนตลอดทั้งปี เพื่อรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 เพื่อให้คณะอนุกรรมการทั้ง 8 คณะได้นำไปพิจารณากลั่นกรองก่อนจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

“ขอฝากถึงพี่น้องประชาชนทุกคนให้เข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความปลอดภัยทางถนน โดยเริ่มต้นจากการไม่ทำพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ไม่ว่าจะเป็น การไม่สวมหมวกกันน็อค ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย การขับรถเร็ว การดื่มแล้วขับ ตลอดจนการเพิ่มความระมัดระวังในการใช้รถใช้ถนน ขับรถตามกฎจราจร และมีน้ำใจกับผู้ร่วมใช้เส้นทาง เพื่อลดความสูญเสียจากอุบัติเหตุทางถนนที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้นแม้แต่ครั้งเดียว” 

สหรัฐ วงศ์สกุลวิวัฒน์

ด้าน นพ.ธนะพงศ์ จินวงษ์ ผู้จัดการศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน บอกว่า อุบัติเหตุบนท้องถนนยังมีตัวเลขของผู้บาดเจ็บที่น่ากังวล คือ ตัวเลขของผู้พิการ ซึ่งในแต่ละปีมีคนตาย 20,000 คน และมีผู้บาดเจ็บที่บาดเจ็บรุนแรง คือ ต้องผ่าตัด ต้องนอนโรงพยาบาลไม่ต่ำกว่า 3-4 แสนคนต่อปี จากการศึกษา พบว่า 4.6% ของเคสรุนแรงลงเอยด้วยความพิการ อย่างในช่วงเทศกาลปีใหม่ ดัชนีความรุนแรงสูงมาก ภาพรวมเทียบ 7 วัน กับปีที่ผ่านมาตัวเลข ความสูญเสียเพิ่มขึ้นแต่การเกิดเหตุ แล้วก็บาดเจ็บอันนี้ลดลง แต่ปัญหาคือ การจัดการอุบัติเหตุ ทั้ง ความเร็ว ดื่มแล้วขับ ไม่ใส่อุปกรณ์นิรภัย คือเรื่องเดิม ๆ ที่ ยังเผชิญต่อเนื่อง ดังนั้นการจัดการเรื่องนี้ต้องบูรณาการเร่งด่วน

Author

Alternative Text
AUTHOR

The Active

กองบรรณาธิการ The Active