“นาดา ไชยจิตต์”ถูกหมายเรียกครั้งแรกในชีวิต #ม็อบสมรสเท่าเทียม

ยืนยัน ขึ้นเวทีเรียกร้องสิทธิ LGBTIQN+ หวั่นกฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือสร้างภาระให้นักเคลื่อนไหวต่อสู้แทนประชาชน

วันนี้ (17 ธ.ค. 2564) The Active พูดคุยกับ นาดา ไชยจิตต์ ที่ปรึกษางานรณรงค์มูลนิธิมานุษยะ และนักสิทธิมนุษยชนเพื่อกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN+)  ผู้ต้องหาที่ 5 จาก 20 คน ที่ได้รับหมายเรียกจากสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี ออกหมายวันที่ 12 ธันวาคม 2564 ในข้อหา “ร่วมกันจัดกิจกรรมมีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดฯ” ให้ไปพบพนักงานสอบสวนเจ้าของคดีที่สถานีตำรวจนครบาลลุมพินี วันที่ 21 ธ.ค.นี้

นาดา กล่าวว่า ยังรู้สึกตกใจกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และคิดทบทวนว่าตนเองพูดอะไรที่สุ่มเสี่ยงละเมิดต่อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งยืนยันว่า เจตนารมณ์ในการขึ้นเวทีที่แยกราชประสงค์ เมื่อวันที่ 28 พ.ย.2564 คือ การรณรงค์กฎหมายสมรสเท่าเทียม และทางกลุ่มภาคีสีรุ้งเพื่อการสมรสเท่าเทียม ชี้แจงว่าได้ขออนุญาตทางสถานีตำรวจขอใช้พื้นที่ในการจัดกิจกรรม มีการปิดเส้นทางจราจรตามขั้นตอนทุกอย่าง ซึ่งบรรยากาศในวันนั้นก็เป็นไปด้วยความเรียบร้อย แต่ปรากฎว่าต่อมา 20 คนในวันนั้น ซึ่งรวมถึงคนที่ไม่อยู่บนเวทีต่างถูกหมายเรียกในข้อหาฝ่าฝืน พ.ร.ก ฉุกเฉิน จึงรู้สึกตกใจเพราะตลอดการทำงานด้านสิทธิมนุษยชนมากว่า 15 ปี ตนเองยังไม่เคยถูกดำเนินคดีมาก่อน

“แน่นอนว่าการออกหมายเรียกครั้งนี้มันก็เข้าข่ายการฟ้องปิดปาก (SLAPP) เหมือนกับกรณีอื่นๆ ที่นักเคลื่อนไหวเพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน สิทธิในที่ดิน ฯลฯ มักจะโดนกัน ซึ่งรัฐอาจจะคิดว่ามันเป็นการป้องปรามเพื่อความสงบเรียบร้อย แต่ผลกระทบมันเกิดขึ้นทั้งทางตรง คือ ภาระที่เราจะเสียเงิน เสียเวลากับการมีคดีความ และทางอ้อม คือ ปัญหาสุขภาพจิตจากความหวาดกลัวว่าถ้าลุกขึ้นมาทวงถามหาความเป็นธรรม จะโดนรังแกทางกฏหมาย”

นาดา ไชยจิตต์ ที่ปรึกษางานรณรงค์มูลนิธิมานุษยะ และนักสิทธิมนุษยชนเพื่อกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTIQN+)

นาดา ยอมรับว่า การถูกหมายเรียกครั้งแรกจะกลายเป็นประวัติให้ถูกจับจ้องหลังจากนี้เป็นพิเศษในฐานะ “ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดที่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐ” โดยเฉพาะหลังจากนี้ที่จะมีการพูดถึงคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ต่อกรณี ม.1448 แม้จะใช้วาทะ อารมณ์ ที่ยืนหยัดชัดเจนในแนวทางประชาธิปไตย แต่ยืนยันว่าตลอด 15 ปี ของการทำงานตนเองไม่เคยกลั่นแกล้ง ตีตรา กล่าวโทษรัฐบาล ซึ่งหากยังถูกปิดกั้นอีกเท่ากับว่าประชาชนไม่เหลือช่องทางในการสื่อสาร ต่อรองใดๆ กับรัฐบาลในทางสร้างสรรค์ ตามหลักสากลอีกแล้ว

บรรยากาศ #ม็อบสมรสเท่าเทียม ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 บริเวณแยกราชประสงค์

สำหรับคณะผู้จัดงาน และผู้เข้าร่วม #ม็อบสมรสเท่าเทียม ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2564 บริเวณแยกราชประสงค์ รวม 20 คน ที่ถูกหมายเรียก ประกอบไปด้วย ตัวแทนพรรคการเมืองต่างๆ นักวิชาการ และนักเคลื่อนไหวเพื่อกลุ่ม LGBTIQN+ อาทิ ศิริศักดิ์ ไชยเทศ คณะกรรมการมูลนิธิมานุษยะ, ศิริ นิลพฤกษ์ นักสิทธิมนุษยชนเพื่อกลุ่ม LGBTIQN+ ,สุไลพร ชลวิไลและสุพีชา เบาทิพย์ จากกลุ่มทำทาง, ชานันท์ ยอดหงษ์ ผู้รับผิดชอบนโยบายด้านอัตลักษณ์และความหลากหลายทางเพศ พรรคเพื่อไทย, ณธีภัสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ที่ร่วมผลักดันกฎหมายสมรสเท่าเทียม โดยกิจกรรมเกิดขึ้นภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยออกมาว่ากฎหมายที่รับรองการสมรสเฉพาะชาย-หญิง ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ

Author

Alternative Text
AUTHOR

รุ่งโรจน์ สมบุญเก่า

หนุ่มหน้ามนต์คนบางเลน สนับสนุนความเท่าเทียมทางเพศ ชื่นชอบอนิเมะ ทั้งสัตว์บกสัตว์ทะเลล้วนเป็นเพื่อน