ขณะกลุ่มคนจนที่สุด 20% แรกของประเทศ จะได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุด เหตุใช้เงินไปกับค่าอาหารเกิน 50%
เดชรัต สุขกำเนิด ผอ.ศูนย์นโยบายเพื่ออนาคต หรือ Think Forward Center อดีตอาจารย์ประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์เกษตรและทรัพยากร คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ แนะการแก้ปัญหาระยะสั้น กรณีราคาเนื้อหมูแพง ต้องเร่งนำเข้าเนื้อหมู และจูงใจให้คนกลับมาเลี้ยงหมู ซึ่งอย่างน้อยต้องใช้เวลาเลี้ยงไม่ต่ำกว่าครึ่งปี คู่ขนานกับมาตรการคุมราคาอาหารให้ได้มากที่สุด พร้อมห่วงคนจนได้รับผลกระทบรุนแรงที่สุดเพราะเป็นกลุ่มคนที่ใช้จ่ายเงินไปกับค่าอาหารมากกว่าค่าใช้จ่ายอื่น ๆ ขณะที่ระยะยาวต้องเร่งเพิ่มรายได้ ให้มีระบบสวัสดิการรองรับเด็กและผู้สูงอายุ
เดชรัต ยังระบุกับ The Active อีกว่า ราคาสินค้าที่แพงขึ้นมาจาก 2 ปัจจัย คือ 1. เศรษฐกิจดี คนมีความต้องการ มีกำลังซื้อ และ 2. ต้นทุนเพิ่มขึ้น และปริมาณของอุปทานหายไปจากตลาด แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นเวลานี้มาจากปัจจัยที่ 2 เพราะไทยเจอกับวิกฤตเศรษฐกิจซ้ำซ้อนโควิด-19 อาหารที่แพงจึงมาจากต้นทุนอาหารที่สูงขึ้น และผลผลิตหมู หรือ อุปทานน้อยลง จึงส่งผลกระทบให้ตัวอื่น ๆ เพิ่มขึ้นไปพร้อม ๆ กัน แต่จะเห็นว่า เนื้อวัวไม่แพงขึ้นชัดเจน เพราะส่วนใหญ่แล้วเนื้อวัว กับเนื้อหมูไม่ได้มาทำอาหารแทนกัน ในบ้านเราอาจจะไม่ได้ใช้เนื้อวัวทำอาหารมากนัก
“ทั้งหมดนี้ส่งผลต่อสถานการณ์ที่น่ากังวลใจในทางเศรษฐศาสตร์ เพราะถ้าราคาสินค้าแพงขึ้นช่วงเศรษฐกิจดี คนส่วนใหญ่ก็น่าจะมีรายได้มากขึ้น แต่ตอนนี้ เกิดปรากฎการณ์ Stagflation มาจาก Stagnation กับ Inflation คือ เศรษฐกิจฟุบ-แต่เงินเฟ้อ หรือ ภาวะฟุบเฟ้อ แก้ไขยาก และส่งผลระยะยาว
เพราะคนไม่มีเงินและของแพง เศรษฐกิจที่ควรจะฟื้นก็ไม่ฟื้นอีก
ภาพรวมเป็นเรื่องใหญ่มาก เพราะค่าครองชีพแพง รายได้น้อย และเศรษฐกิจโตยาก ถ้าเกิดภาวะนี้จะลำบากมาก”
คนจนอ่วมซ้ำ เพราะจ่ายค่าอาหารแพงกว่าคนรวย
เดชรัต ระบุ จากการเปรียบเทียบ คนจนได้รับผลกระทบ และภาระค่าใช้จ่ายสูงกว่าคนรวย ถ้าขึ้นเฉพาะราคาน้ำมันคนรวยอาจจะได้รับผลกระทบมากกว่าคนจน แต่พอเป็นเรื่องอาหาร คนจนจะได้รับผลกระทบมากกว่า เพราะถ้าเราเทียบต่อรายได้ คนจน 20% ที่จนที่สุดในประเทศ จะใช้เงินจากรายได้ซื้ออาหารเป็นสัดส่วน 50% ขึ้นไป ในขณะที่คนรวยอาจจะใช้เงิน ซื้ออาหารเป็นสัดส่วนเพียง 10-20% ดังนั้นผลกระทบคนจนจะรุนแรงมากกว่า เพราะหากเทียบเดือน พ.ย. 2564 ถึงปัจจุบัน ราคาหมูขึ้น 35% ราคาไก่เพิ่ม 15% กระทบกับคนจนจำนวนมาก
จากกราฟจะสังเกตว่า ราคาหมูขึ้นประมาณกลางเดือน ธ.ค. 2564 แต่ขึ้นแล้วคุมไม่อยู่ ขึ้นชันไปเลยเพราะหมูขาดตลาด ทั้งที่จริง ๆ แล้วหมูเริ่มขาดมาตั้งแต่ ก.ค. 2564 ตัวเลขผลผลิตเริ่มเห็นชัดว่าลดลงเรื่อย ๆ ส่วนไก่จะเพิ่มในลักษณะที่อิงกับราคาหมู ถึงจุดที่หมูพุ่งขึ้นเยอะ ไก่ก็ขึ้นตาม แต่อัตราน้อยกว่า อาหารสัตว์ 3 ชนิดกลับไม่ได้เพิ่มขึ้น ต้นทุนไม่เพิ่ม ราคาน้ำมันก็ไม่ได้เพิ่มมากนัก การเพิ่มราคาจึงมาจากหมูเป็นหลัก และเปิดโอกาสให้ราคาไก่ ราคาไข่เพิ่มขึ้นตาม
ข้อเสนอแก้ภาวะ’ฟุบเฟ้อ’
1.แก้ปัญหาต้นทุนที่สูงขึ้น น้ำมันมีส่วนสำคัญต่อการขนส่งสินค้าที่อาจจะมีต้นทุนสูงขึ้น และอาจมีผลในทางจิตวิทยา บางคนเห็นว่าสินค้านั้นขึ้นราคา ก็อาจจะรู้สึกว่าต้นทุนของเราเพิ่มขึ้น ก็จะขึ้นราคาด้วย ในสภาวะที่เศรษฐกิจไม่ฟื้น เงินเฟ้อจำเป็นต้องแก้ อย่าให้เพิ่มขึ้นมากกว่านี้
2.แก้ปัญหาหมูขาดตลาดให้ได้ (อุปทาน) จะมีเนื้อหมูนำเข้าจากต่างประเทศ หรือให้ผู้เลี้ยงหมูกลับมาเลี้ยงได้หรือไม่ หมูทยอยตายตั้งแต่ 2 ปีที่ผ่านมาทำให้ผู้เลี้ยงหมูทนรับสภาพไม่ไหว จึงทยอยเลิกเลี้ยงกันมาก่อนแล้ว เพราะฉะนั้น หมูตายไม่ได้เกิดเฉพาะโรคระบาดในครึ่งปีหลัง แต่ทยอยเป็น และคนทยอยเลิกเลี้ยงอย่างต่อเนื่องทำให้ปริมาณหมูน้อยลง ระยะสั้นยังต้องนำหมูเข้าเพื่อไม่ให้ราคาพุ่งทยาน เพราะหมูลด ไก่ก็จะลดด้วย ส่วนระยะถัดมา ก็ต้องจูงใจให้ผู้เลี้ยงหมูกลับเข้าสู่ระบบให้ได้ การที่จะให้ผู้เลี้ยงหมูรายย่อย หรือรายกลางที่เลิกไป กลับเข้ามา เป็นเรื่องยาก เพราะที่หยุดเลี้ยงไปมีภาวะหนี้สิน ด้วยปัญหาหลายข้อ ยังต้องการมาตรการที่ชัดเจนให้ผู้เลี้ยงรายกลางกลับมา แต่ถ้าไม่กลับจะเกิดปัญหาอีกแบบ โครงสร้างเลี้ยงหมูจะกลายเป็นการผูกขาดจากรายใหญ่ นับจากปี 2551 สัดส่วนฟาร์มขนาดใหญ่ครอบครองส่วนแบ่งตลาดไปประมาณ 48% พอถึงปี 2561 ครอบครองไปถึง 84% แปลว่าครอบครองเยอะอยู่แล้ว หากเกิดปรากฎการณ์แบบนี้ ก็อาจจะทำให้สัดส่วนการครอบครองของตลาดรายย่อยมีปัญหาต่อไป
3.อีกด้านต้องหารายได้ให้ได้ (อุปสงค์) แต่การเติมเงินฝั่งอุปสงค์ต้องใช้เงินเยอะ รัฐบาลเพิ่งขยับเพดานเงินกู้ 60% GDP เป็น 70% ของ GDP ผมเข้าใจว่า รัฐบาลคงจะเลือกทางเลือกนั้นเป็นลำดับรอง
นักเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า เนื้อหมูแพงแก้ไม่ง่าย จะเลี้ยงได้ก็ต้องใช้เวลาถึงครึ่งปี ดังนั้นเนื้อหมูก็จะแพงไปอย่างน้อย ๆ ครึ่งปีแน่นอน แต่ปัญหาตอนนี้เป็นผลกระทบทางจิตวิทยาด้วย หากพยายามจัดการให้แพงแบบที่พอรับได้ ก็คือแพงขึ้นแต่ไม่มากอย่างที่เป็นก็จะช่วยลดผลทางจิตวิทยา (ทั้งต่อผู้ประกอบการ และประชาชน) รวมถึงสินค้าที่ใช้ทดแทนกันก็อาจจะไม่ขึ้นอย่างที่เป็น แนะรัฐบาลใช้ทุกมาตรการคุมราคาสินค้า และอาหารให้ได้มากที่สุด ไม่เช่นนั้นจะมีผลกระทบกับคนจนอย่างมาก
ภายในกุมภาพันธ์ จะเห็นความชัดเจนว่ารัฐบาลจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ โดยเฉพาะการมีคำชี้แจง และมาตรการที่ชัดเจน ก็จะสามารถจัดการกับราคาอาหารให้ลดลงได้ โดยเขาย้ำว่า ลดผลทางจิตวิทยา ให้ราคาที่เพิ่มน้อยกว่าราคาที่เป็น สมเหตุผลมากขึ้นจะทำให้จิตวิทยา กำลังซื้อ และเฟ้อโดยรวมดีขึ้น