ปราศรัยเลือกตั้งซ่อมสงขลาดุเดือด “ธรรมนัส” ประกาศ เป็น ส.ส. ต้องชาติตระกูลดี มีเงินช่วยชาวบ้าน “ธิวัชร์” จี้ กกต. สอบเข้าข่ายสัญญาให้ประโยชน์หรือไม่ “จุรินทร์” โต้ จะรวยจะจนขอให้มีศักยภาพ
เป็นกระแสฮือฮาในช่วงโค้งสุดท้ายของการหาเสียงเลือกตั้งซ่อม ในพื้นที่จังหวัดชุมพร และจังหวัดสงขลา ที่ขับเคี่ยวกันมาโดยพรรครัฐบาลระหว่าง ‘พลังประชารัฐ’ และ ‘ประชาธิปัตย์’ ชนิดที่ไม่มีใครยอมใคร เมื่อขึ้นเวทีปราศรัย บรรยากาศคนรอฟังที่แน่นขนัดทั้งสองเวที ยิ่งปลุกเร้าให้คนพูดฮึกเหิม เสียงตอบรับมาทั้ง ‘ดอกไม้’ และ ‘ก้อนหิน’
“ในนามพรรคพลังประชารัฐ และเขาตั้งใจในฐานะของคนรุ่นใหม่ ไฟแรงและมีตังค์ พี่น้องเราเลือก ส.ส. เราเลือกตัวแทนของพวกเรา เราต้องเลือกคนที่มีความพร้อม ถูกต้องไหมพี่น้อง หนึ่ง ชาติตระกูลต้องดี นั่นคือ ศรีตรัง สอง ต้องมีตังค์ ไม่มีตังค์หรอ เวลาไปช่วยชาวบ้าน สวัสดีครับพี่น้องครับ โบ๊ตไม่มีตังค์ครับ … พี่น้องเอาไหม เอาไหม”
ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า
ถ้อยคำการปราศรัยของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรคพลังประชารัฐ ประกาศหาเสียงขอคะแนนให้กับ ‘อนุกูล พฤกษานุศักดิ์‘ หรือ ‘โบ๊ต’ จากกลุ่มธุรกิจศรีตรัง เน้นความเป็นคนรุ่นใหม่ ชาติตระกูลดี และมีเงินมีทองในฐานะนักธุรกิจ จะช่วยส่งผลให้การทำงานการเมืองราบรื่น และได้ใจชาวบ้าน สิ่งนี้อาจสร้างกระแสตีกลับ เมื่อถูกตั้งข้อสังเกตว่า เป็นการวัดความเหมาะสมของผู้สมัคร ส.ส. ด้วยความรวยความจน
‘ธิวัชร์’ ก้าวไกล เปิดคลิปจี้ กกต. ฟัน ‘ธรรมนัส’ ปราศรัยเข้าข่ายผิดกฎหมาย
เมื่อวานนี้ (12 ม.ค. 2565) ธิวัชร์ ดำแก้ว ผู้สมัครลงเลือกตั้งซ่อม ส.ส. เขต 6 จ.สงขลา ในนามพรรคก้าวไกล เดินทางไปที่สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จังหวัดสงขลา เข้ายื่นเอกสารคำร้องต่อ กกต. เพื่อให้ตรวจสอบการกระทำของ ร.อ. ธรรมนัส พรหมเผ่า ปราศรัยเข้าข่ายผิดกฎหมาย โดยได้นำคลิปวิดีโอการปราศรัยหาเสียงของพรรคพลังประชารัฐมาเปิดเผยให้สื่อมวลชนได้ดูด้วย
จากกรณีข้างต้น ธิวัชร์ ขอให้ กกต. ดำเนินการตรวจสอบว่าเนื้อหาของการปราศรัย อาจเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้งฯ ส.ส. มาตรา 73(1) ที่ห้ามมิให้ผู้สมัครหรือผู้ใดกระทำการอย่างหนึ่งอย่างใดเพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ตนเองหรือผู้สมัครอื่น ให้งดเว้นการลงคะแนนให้แก่ผู้สมัคร หรือการชักชวนให้ไปลงคะแนนไม่เลือกผู้ใดเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ด้วยวิธีการ (1) จัดทำ ให้ เสนอให้ สัญญาว่าจะให้ หรือจัดเตรียมเพื่อจะให้ ทรัพย์สิน หรือผลประโยชน์อื่นใด อันอาจคำนวณเป็นเงินได้แก่ผู้ใดหรือไม่
และนอกจากนั้นยังให้ตรวจสอบด้วยว่าคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชารัฐ อาจฝ่าฝืน พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฯ มาตรา 22 ที่กำหนดให้คณะกรรมการบริหารพรรค มีหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลมิให้สมาชิกกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมาย ประกอบกับเมื่อมีกฎหมายกำหนดให้มีการเลือกตั้งแล้วคณะกรรมการบริหารพรรค มีหน้าที่ควบคุมและกำกับดูแลมิให้สมาชิกหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคการเมืองกระทำการในลักษณะที่อาจทำให้การเลือกตั้งหรือการเลือกมิได้เป็นไปโดยสุจริตหรือเที่ยงธรรม ไม่ชอบด้วยกฎหมาย
‘จุรินทร์’ เชื่อคนสงขลา ไม่ตัดสินใจเลือกจากเงิน จะรวยจะจนขอให้มีศักยภาพ
จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ก็ได้เดินทางไปขึ้นเวทีปราศรัยใหญ่ในจังหวัดสงขลา เพื่อขอคะแนนเสียงให้ ‘น้ำหอม’ สุภาพร กำเนิดผล ผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ หวังเป็นผู้แทนหญิงคนแรกในพื้นที่ ซึ่งสัญญาณการต่อสู้ระหว่างทั้งสองพรรครัฐบาลเกิดขึ้นมาโดยตลอดการหาเสียงเลือกตั้งซ่อม ชุมพร – สงขลา เมื่อการปราศรัยที่อาจทำให้พรรคพลังประชารัฐเป็นเป้าโจมตี พรรคประชาธิปัตย์จึงได้ออกมาชิงจังหวะตอบโต้เช่นกัน
“มีผู้ใหญ่ของพรรคการเมืองพรรคหนึ่งมาปราศรัย ต้องเลือกคนที่มีคุณสมบัติสำคัญข้อหนึ่งก็คือจะต้องเป็นคนรวย แต่การที่บอกว่าต้องเลือกคนรวย แปลว่าคนจนก็ไม่มีความหมาย ต่อไประบอบประชาธิปไตยก็ไม่ต้องมาแข่งขันความดี ไม่ต้องเอาศักยภาพ ไม่ต้องเอาความรู้ความสามารถมาแข่งขันกัน เอาเงินในธนาคารมาเปิดดูกันว่าใครรวย แล้วคนนั้นก็เป็นผู้แทน”
จุรินทร์ ย้ำว่า ระบอบประชาธิปไตยไม่ได้เป็นเช่นนั้นนั้น ไม่ได้เลือกกันที่เงิน ไม่ได้มาดูว่าใครรวยกว่าใคร แล้วควรเลือกคนนั้น ความรวยไม่ใช่เงื่อนไขที่จะนำมาซึ่งการตัดสินใจให้เราได้ผู้แทนราษฎรที่ดีที่เป็นผู้แทนแทนเราได้ เราต้องพิจารณาจากสภาพความเหมาะสมและคุณสมบัติอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งพรรคการเมืองที่สังกัดว่าเขาควรที่จะทำหน้าที่ผู้แทนราษฎรหรือไม่ อย่าให้เงินมามีอำนาจเหนือความดี เหนือคุณภาพศักยภาพของความเป็นนักการเมืองที่ดีในระบอบประชาธิปไตย
นอกจากประเด็นเรื่อง ‘รวยจน’ ยังมีศึกเคลม ‘นโยบายรัฐ’ เกิดขึ้น เมื่อพรรคพลังประชารัฐในฐานะพรรคแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ที่ไม่ว่าหาเสียงครั้งใด ต้องพูดถึงนโยบายรัฐที่ช่วยลดค่าครองชีพทุกครั้งไป ทั้ง คนละครึ่ง เราชนะ สิ่งนี้ทำให้หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ออกมาตอบโต้ว่าโครงการดังกล่าวไม่ใช่นโยบายพรรคการเมืองพรรคใดพรรคหนึ่ง แต่เป็นนโยบายของรัฐบาลชุดนี้ทั้งชุด เนื่องจากโครงการ ‘คนละครึ่ง’ ไม่ใช่นโยบายของพรรคการเมืองที่ใช้ในการหาเสียงก่อนการเลือกตั้ง แต่เป็นโครงการที่เกิดขึ้นหลังจากเราประสบปัญหาโควิด ซึ่งรัฐบาลชุดปัจจุบันมีประชาธิปัตย์อยู่ร่วมแก้ปัญหา
“ถ้าพรรคไหนก็ตามมาบอกว่าเป็นนโยบายพรรคเขา อันนี้ลักวิ่งชิงปล้นกลางแดดเลย และพรรคการเมืองที่ยกมือให้กับคนละครึ่ง ประชาธิปัตย์เป็นพรรคการเมืองหนึ่ง รวมทั้งนายนิพนธ์และนายจุรินทร์ด้วย ใครก็ตามมาบอกว่าถ้าไม่เลือกเขา เขาจะเลิกคนละครึ่ง หลายคนส่ายหัว มันเลิกไม่ได้เพราะเป็นนโยบายรัฐบาลไปแล้ว”
นับถอยหลังเลือกตั้งซ่อมภาคใต้ครั้งนี้ จึงไม่ได้มีความหมายเพียง 2 เสียงที่จะเพิ่ม หรือ ลดในสภาฯ เท่านั้น แต่ยังเป็นการวัดใจคนภาคใต้ และกระแสพรรคการเมืองครั้งสำคัญ ซึ่งในวันที่ 16 มกราคมนี้ อาจเป็นวันชี้ชะตาว่าพื้นที่ภาคใต้ จะเป็นพื้นที่ของพรรคการเมืองเก่าแก่ต่อไป หรือจะพ่ายให้กับพรรคการเมืองอื่น ที่จะนำไปสู่การเตรียมรับมือกับการเลือกตั้งทั่วไปที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
- อ่านเพิ่ม : เลือกตั้งซ่อมภาคใต้ ชี้ชะตา “ประชาธิปัตย์”