นำทีม MOU 12 หน่วยงานสร้างกลไก “พาน้องกลับมาเรียน” ตามนโยบายรัฐบาลจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ด้าน ‘ตรีนุช’ แม่งานหลัก “เปิดตัวแอปฯ ตามน้องกลับมาเรียน” มั่นใจ! เข้าถึงเด็กหลุดระบบทั่วประเทศ
วันนี้ (17 ม.ค. 2565) พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นประธานในพิธีบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) โครงการส่งเสริมโอกาส ความเสมอภาคและความเท่าเทียมทางการศึกษา “พาน้องกลับมาเรียน” ระหว่าง 3 หน่วยงานหลักของกระทรวงศึกษาธิการ ได้แก่ สำนักงานปลัดกระทรวง สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา พร้อมด้วย 11 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร กรุงเทพมหานคร และกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา ที่หอประชุมคุรุสภา กระทรวงศึกษาธิการ
พล.อ. ประยุทธ์ กล่าวว่า เด็กหลุดจากระบบการศึกษา เป็นวาระเร่งด่วนของรัฐบาล โดยโครงการพาน้องกลับมาเรียน เป็นการดำเนินการตามนโยบาย “จะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ของรัฐบาลซึ่งให้ความสำคัญกับเด็กทุกคนให้ได้รับการศึกษาที่ดี มีมาตรฐานอย่างเสมอภาค และเท่าเทียมกันทั่วประเทศ
โครงการพาน้องกลับมาเรียน เป็นโครงการที่กระทรวงศึกษาธิการจะดำเนินการติดตามนักเรียน นำกลับเข้าสู่ระบบการศึกษา หลังจากหลุดจากระบบไปเนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และปัญหาส่วนตัว ด้วยการสร้างความร่วมมือกับแต่ละหน่วยงาน ดำเนินการติดตามเด็กจากทุกพื้นที่ทั่วประเทศให้เกิดการร่วมมือกันอย่างมีประสิทธิภาพ
“เราจะคืนโอกาสให้กับเด็ก ๆ และสร้างโอกาสให้กับสังคม โดยการพาเด็ก ๆ กลับเข้าสู่ระบบการศึกษาอีกครั้งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับปีการศึกษาใหม่ 2565 นี้ ในการเติมเต็มด้านการศึกษาให้กับเด็กและเยาวชนอันเป็นกำลังสำคัญของประเทศ ซึ่งหากเด็กได้รับโอกาสทางการศึกษาแล้ว ก็จะมีอนาคตที่ดี มีทางเลือกในชีวิตในการประกอบอาชีพ มีความรู้ความสามารถ มีงานดี ๆ ทำ ก็จะส่งผลดีต่อการพัฒนาประเทศในอนาคต โดยตั้งเป้าตัวเลขเด็กหลุดจากระบบการศึกษาต้องเป็นศูนย์”
นายกรัฐมนตรี ยังมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดูแลครอบครัวผู้ปกครองของเด็กว่ามีความพร้อมหรือไม่ โดยกังวลว่าเมื่อนำเด็กกลับเข้ามาในระบบการศึกษาแล้วอาจหลุดออกไปอีก ซึ่งจุดนี้จะเป็นสิ่งยืนยันว่าภารกิจตามโครงการนี้สำเร็จหรือไม่ เนื่องจากผู้ปกครองบางคนถึงแม้ได้รับค่าใช้จ่ายจากรัฐบาล แต่ก็ยังไม่เพียงพอ เพราะขาดแรงงานในบ้านที่มาทำช่วยพ่อแม่ จึงฝากเป็นข้อสังเกตว่าในการแก้ปัญหาที่ลึกซึ้งมากกว่าที่เห็นเบื้องต้น อีกเรื่องคือการพัฒนาคุณภาพโรงเรียนที่รับเด็กกลับมาดูแล
ด้าน ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า กระทรวงศึกษาธิการ เล็งเห็นถึงปัญหานี้ จึงได้มีการแก้ปัญหาเชิงรุกผ่านโครงการพาน้องกลับมาเรียน ด้วยความร่วมมือจากหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ และพันธมิตร 11 หน่วยงาน ซึ่งถือเป็นความร่วมมือครั้งยิ่งใหญ่ และนับเป็นครั้งแรกที่จะบูรณาการร่วมกัน เพื่อให้ทราบถึงจำนวนเด็กในปัจจุบันที่หลุดออกจากระบบการศึกษา และจะมีการลงติดตามถึงบ้าน เพื่อตามเด็กเหล่านี้กลับสู่ระบบการศึกษาอีกครั้ง
จากสถิติจำนวนนักเรียนที่หลุดออกจากระบบการศึกษาปี 2564 โดยแบ่งตามสังกัด ได้แก่ สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน จำนวน 78,003 คน สังกัดสำนักงานปลัดกระทรวง จำนวน 50,592 คน สังกัดสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา จำนวน 55,599 คน และผู้พิการในวัยเรียนสังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ จำนวน 54,513 คน รวมแล้วมีนักเรียนหลุดจากระบบการศึกษามากถึง 238,707 คน ซึ่งหลังจากดำเนินการเชิงรุกตลอด 2 เดือนที่ผ่านมา สามารถตามนักเรียนกลับมาเรียนได้ 127,952 คน ยังมีเด็กที่หลุดจากระบบจำนวน 110,755 คน
“กระทรวงฯ มีการพัฒนาเครื่องมือติดตามนักเรียนเหล่านี้ ด้วยแอปพลิเคชันที่ชื่อ ตามน้องกลับมาเรียน เพื่อให้เกิดการทำงานที่สะดวกรวดเร็ว และยังสามารถเก็บเป็นฐานข้อมูลของปัญหาที่เกิดกับแต่ละครอบครัวได้อย่างละเอียด และจะได้เป็นแนวทางในการให้ความช่วยเหลืออย่างตรงจุดกับทุกเคสทุกกรณีกันต่อไป”
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ระบุ เบื้องต้นจะให้โรงเรียนต้นสังกัดติดตามนักเรียน จากนั้นกระทรวงศึกษาธิการ จะเข้าช่วยเหลือและสนับสนุนให้กลับเข้าสู่สถานศึกษาที่เหมาะสมตามบริบทของแต่ละกรณี แต่หากโรงเรียนต้นสังกัดติดตามไม่ได้ ก็จะประสานความร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรที่ได้มีการทำ MOU ในวันนี้ ให้ช่วยติดตาม ช่วยเหลือและสนับสนุนให้กลับเข้าสู่สถานศึกษาที่เหมาะสมต่อไป เพื่อสร้างโอกาสให้เด็กไทยได้กลับมามีโอกาสที่ดีในชีวิตกันอีกครั้ง